ประวัติศาสตร์ไทยเขียนไม่ได้ หากไม่เข้าใจลุ่มน้ำโขง ‘ถ้าเขียนได้คือโกหก’

ประวัติศาสตร์ไทยเขียนไม่ได้ หากไม่เข้าใจลุ่มน้ำโขง ‘ถ้าเขียนได้คือโกหก’
แม่น้ำโขง สายน้ำที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยในมุมมอง ขรรค์ชัย-สุจิตต์ (ภาพรอยเตอร์)

“จําไว้ว่า คนที่มาสร้างกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งคือลาว”

คือคำกล่าวตอนหนึ่งในรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ นับเป็นคำตอบเรียบง่ายว่าเหตุใดจึงเลือก ‘สวนสันติชัยปราการ’ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่ถ่ายทำทั้งที่ชื่อตอน ‘พลังลาว ชาวอีสาน ตำนานพญานาค’ ผูกโยงลุ่มน้ำโขง หาใช่ลุ่มเจ้าพระยา

ทว่า เรื่องราวจากปากอดีตสองกุมารสยาม ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน ที่มี ‘ป้อมพระสุเมรุ’ เป็นฉากหลัง พรั่งพรูข้อมูลชวนตื่นใจไปกับความสัมพันธ์อันลึกซึ้งในแง่มุมประวัติศาสตร์ที่คาดไม่ถึงหรืออาจหลงลืมไป

รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร รับชมผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี ได้ทุกพฤหัสบดีสุดท้ายของเดือน เวลา 2 ทุ่มตรง

“เหตุที่มานั่งตรงนี้ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เจตนาเพราะต้องการให้เห็นฝั่งตรงข้าม เห็นสะพานพระรามที่ 8 ตีนสะพานเดิมเป็นโรงเหล้าบางยี่ขัน เกี่ยวพันกับเรื่องอีสานและลาว เพราะมีซากกำแพงวังบางยี่ขันซึ่งเจ้านายกรุงรัตนโกสินทร์สร้างไว้ให้เป็นที่ประทับของเจ้าลาวเมื่อเสด็จมากรุงเทพฯ โดยเฉพาะเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ คุณพุ่ม กวีหญิงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่งนิราศบางยี่ขัน เล่าว่ามาเที่ยววังบางยี่ขัน พบเจ้าลาว

Advertisement

ส่วนตรงป้อมพระสุเมรุหรือสวนสันติชัยปราการ เกี่ยวข้องกับการสร้างกรุงเทพฯสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งเกณฑ์ชาวอีสานมาสร้างป้อมและกำแพงเมือง จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับพลังลาว ชาวอีสาน ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นกรุงเทพฯ แต่ประวัติศาสตร์ไทยไม่พูดถึง”

สุจิตต์ เกริ่นที่มาของการชวน ขรรค์ชัย ร่วมทอดน่อง ณ ริมฝั่งเจ้าพระยา ก่อนชักชวนให้แฟนานุแฟนทำความเข้าใจอย่างตรงกันในนิยามความเป็นลาวว่าแยกกันอย่างไรก็ไม่ออกกับ ‘อีสาน’ ในราชอาณาจักรสยาม ด้วยวัฒนธรรมที่ไม่อาจขีดเส้นกั้นด้วยเขตแดนทางการเมืองการปกครอง

“ชาวอีสานอยู่ในวัฒนธรรมลาว ผมเจอะมาหลายคนที่พยายามบอกว่าอีสานไม่ใช่ลาว ขอประทานโทษนะครับ อย่าโกหกตัวเอง ชาวอีสานดั้งเดิมอยู่ในวัฒนธรรมลาว พูดง่ายๆ ว่า ลาวคักๆ

Advertisement

ลาวกับอีสานแยกกันไม่ได้ อย่าไปแยก คนที่พยายามจะแยก กำลังถูกโปรแกรมสมองความเป็นไทยมากเกินไปหน่อย ในแง่พื้นที่อีสานกับลาว เดิมเมื่อ 3,000 ปีที่แล้วก็พื้นที่เดียวกัน

ก่อนมีประเทศไทย เคยนึกไหมว่าสมัยกรุงศรีอยุธยา ศูนย์กลางของลาวอยู่เวียงจันทน์แต่อำนาจรัฐอยู่ถึงร้อยเอ็ด ปรากฏในพงศาวดารแม้กระทั่งในนิราศหนองคายสมัยรัชกาลที่ 5 คนที่เขียนเป็นทหารยกทัพไปปราบฮ่อยังเขียนว่า พ้นเมืองพิมาย ถึงลำสะแทกซึ่งเป็นแม่น้ำสายเล็กๆ พ้นลำสะแทกไปก็เป็นลาวแล้ว

ในแง่อำนาจรัฐ ตั้งแต่อยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ ไม่ได้สนใจอะไรเลยที่นอกจากโคราช สิ่งที่กรุงเทพฯสนใจคือ นครราชสีมา พ้นออกไปไกลเกินไม่ได้สนใจ” ขรรค์ชัย-สุจิตต์ พร้อมใจนำเสนอข้อมูลเข้มข้นบนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ไม่มีมโน

ซากกำแพงวังบางยี่ขัน วัง ‘เจ้าลาว’ เชิงสะพานพระรามที่ 8

ลาว อีสาน อดีต ‘แกนนำความเป็นไทย’ แหล่งทองแดง 2,500 ปี

จากนั้น พุ่งเป้าเข้าประเด็นภูมิศาสตร์อันสำคัญยิ่งต่อการก่อเกิดของประวัติศาสตร์ทุกพื้นที่ในโลก แต่ในการเรียนการสอนในบ้านเราไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าที่ควรจะเป็น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เวลาเรียนประวัติศาสตร์ไทย เราเรียกอาณาจักรสุโขทัย ท่องจำตามตำราโดยไม่รู้ว่าตั้งอยู่บนภูมิประเทศแบบไหน มีแม่น้ำอะไรไหลผ่าน และแม่น้ำสายนั้นมาจากไหน

“อีสานมีภูมิศาสตร์เป็นแอ่ง มีขอบยกสูง มีเทือกเขาภูพาน ตอนบนของภูพานคืออีสานเหนือ หรือแอ่งสกลนคร ตอนล่างคืออีสานใต้ หรือแอ่งโคราช แม่น้ำหลักคือ แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแกนหลัก เป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ ต้นน้ำอยู่ในทิเบต บริเวณลุ่มน้ำมูล มีทุ่งกุลาร้องไห้ซึ่งเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ใต้ดินเป็นแหล่งเกลือขนาด 2.1 ล้านไร่ กินพื้นที่ผ่าน 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคาม ยโสธร ศรีสะเกษ สาเหตุที่เรียกทุ่งกุลาร้องไห้ เชื่อกันว่ามาจาก กุลา ซึ่งเป็นชาวไทยใหญ่ ในมะละแหม่ง เขตพม่า ปัจจุบันยังมีตกค้างอยู่ที่อุบลราชธานี ต้องร้องไห้เพราะเดินข้ามแล้วไม่พ้นสักที”

ทุ่งกุลา ณ บ้านแสนสี ตำบลดงครั่งใหญ่ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ภาพถ่ายเมื่อปลายปี 2528

2 วิทยากรอาวุโสกล่าวจบ ก็โชว์ภาพถ่ายสุดคลาสสิกของทุ่งกุลาที่ถูกบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ.2528 ครั้งยังเป็นทุ่งเวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตา

สุจิตต์ บอกด้วยว่า เรื่องราวที่โลดแล่นบนไทม์ไลน์นับพันปีของอีสานและทุ่งกุลา มีเกร็ดมากมายแต่ถูกทิ้งหมด เวลาเรียนประวัติศาสตร์จึงไม่มีชีวิตของ ‘คนธรรมดา’

“ประวัติศาสตร์มักจะพูดถึงแต่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ขอประทานโทษนะครับ เรื่องจริงของประวัติศาสตร์ไทย แม่น้ำโขงเป็นหลัก ถ้าคุณไม่เข้าใจแม่น้ำโขง ไม่มีวันเขียนประวัติศาสตร์ไทยได้เลย ถ้าเขียนได้คือโกหก เพราะเป็นแม่น้ำนานาชาติ เป็นแกนหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผืนแผ่นดินใหญ่

ข้อสำคัญที่เราลืมคือไม่ว่าจะเรียกลาวหรืออีสาน เขามีส่วนเป็นบรรพชนคนไทย เป็นกระแสหลัก เป็นแกนนำของความเป็นไทยตั้งแต่ดั้งเดิม เพราะตั้งแต่ลพบุรีถึงแม่น้ำโขง คือแหล่งทองแดง เพราะฉะนั้นการค้ากับอินเดีย กรีกโรมัน อะไรก็ดีในยุคสุวรรณภูมิ ต้องมาเอาทองแดงที่นี่

สมมุติว่ามาค้ากับอู่ทอง แต่ก็ต้องมาเอาทรัพยากรกับลุ่มน้ำโขง อย่างน้อย 2,500 ปี มีการโยกย้ายของคนในอีสานไปยังลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง นั่นแหละเป็นกระแสแรกๆ ของบรรพชนคนไทยในปัจจุบัน”

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ อธิบายต่อไปว่า หัวใจของความเป็นลาว ความเป็นอีสาน คือลุ่มน้ำโขง คือตำนานพญานาค ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความเชื่อเรื่อง งู ว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ พญานาคทั้งหมดมาจากตำนานอุรังคธาตุ ซึ่งก็คือประวัติพระธาตุพนม พญานาคกี่ตระกูลอยู่ในนั้นทั้งหมด

“ชาวอีสานมีหลากหลายชาติพันธุ์ มีความเกี่ยวข้องกับตำนานพญานาคซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการโยกย้าย พลังลาว ชาวอีสาน ตำนานพญานาคมันมาด้วยกัน แต่พญานาคเป็นจินตนาการร่วมกันของคนทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเขมร พม่า มอญ ฯลฯ ดังนั้นอย่าทำตนเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว”

บ้านลาว วัดลาว พระลาว เรื่องไม่ (ค่อย) ถูกเล่าในไทม์ไลน์ ‘กรุงเทพฯ’

จากลุ่มน้ำโขง ย้อนกลับมาปักหมุดที่กรุงรัตนโกสินทร์ ในประเด็นที่เกริ่นไปในตอนต้น คือการมีส่วนสำคัญครั้งก่อร่างสร้างกรุงโดยพลังลาว ชาวอีสาน และหลากชาติพันธุ์

พระแซกคำ วัดคฤหบดี หนึ่งใน ‘พระลาว’ องค์สำคัญที่ประดิษฐานในกรุงเทพฯ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

“ตอนสร้างกรุงเทพฯคือเรื่องใหญ่ เพราะยุคแรกสร้างยังมีประชากรน้อยจึงต้องไปเกณฑ์คนมา รัชกาลที่ 1 โปรดให้ไปเกณฑ์เขมรบ้านครัวมาขุดคลองมหานาค เกณฑ์ลาวจากเวียงจันทน์และอีสานมาสร้างกำแพงเมืองและป้อม ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่าให้ขุดรากกำแพงและสร้างป้อมพระนคร หมายความว่ารอบกรุงเทพฯเป็นฝีมือลาวทั้งนั้น คนที่ถูกกวาดต้อนมา ไม่ใช่ว่าสร้างเสร็จแล้วกลับ แต่อยู่เป็นประชากร เพราะนั้นคนเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็เป็นบรรพชนคนกรุงเทพฯ อยู่บางยี่ขัน อีกส่วนหนึ่งอยู่บางขุนพรหม ย่านวัดอินทรวิหาร ทั้งหมดนี้ทำให้ชุมชนลาวสมัยรัชกาลที่ 1 กระจัดกระจาย เข้าใจว่าทั่วกรุงเทพฯแถวศาลาเฉลิมกรุงจนถึงสะพานมอญ เดิมก็เรียก บ้านลาว บางไส้ไก่ ตรงวงเวียนเล็กก็บ้านลาว มีวัดลาว นอกจากนี้ วัดสังข์กระจายก็สร้างโดยข้าหลวงลาว เพราะฉะนั้นจำไว้เลยว่า กรุงเทพฯ คนที่มาสร้างกรุงเทพฯส่วนหนึ่งคือลาว” สุจิตต์ย้ำ

ตามด้วยการยกหลักฐานความสนิบแนบแน่นของ ‘เจ้าลาว’ กับราชสำนักสยาม โดยเฉพาะเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ ซึ่งเป็นวีรบุรุษของลาว

“วังบางยี่ขัน มีมาตั้งแต่รุ่นพระเจ้าตากจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานว่าเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์มาประทับ ทรงสนิทสนมกับรัชกาลที่ 2 เมื่อครั้งโปรดให้สร้าง สวนขวา ในพระบรมมหาราชวังเลียนแบบสวนจีน ยังมีพระราชหัตถเลขา เป็นใบบอกเจ้าอนุวงศ์ว่าว่างๆ ให้มาเยี่ยมบ้าง จะได้มาชมสวนขวา แต่พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดความขัดแย้งกัน ซึ่งเวลาอ่านพระราชพงศาวดาร เราต้องทำความเข้าใจให้ชัด ตอนนั้นลาวอยู่ใต้อำนาจสยาม เขาต้องการเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองเท่านั้น จึงมีสัมพันธ์กับเวียดนามเพื่อหาทางออก

รัชกาลที่ 3 โปรดให้แม่ทัพยกไปตีเวียงจันทน์ เหตุการณ์ครั้งนั้นมีการกวาดต้อนคนมาล็อตใหญ่สุด มาสระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สุพรรณบุรี ฯลฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ เจ๊กปนลาว

ถัดมาในสมัยรัชกาลที่ 4 คนมักบอกว่าไม่โปรดลาว เพราะมีประกาศห้ามแอ่วลาวเป่าแคน นั่นเป็นเรื่องการเมืองในราชสำนัก แต่ในความเป็นจริง โปรดให้สร้างวัดบรมนิวาส ริมคลองแสนแสบ เชิญพระเกจิอาจารย์ทางอีสานมาจำพรรษา เป็นเจ้าอาวาส รวมถึงวัดปทุมวนาราม พระลาว อีสาน ทั้งวัด ศิลปกรรมก็เป็นสายอีสาน ส่วนสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งทรงแอ่วลาวเป่าแคนได้ด้วยพระองค์เอง ทรงตั้งตำหนักสีทา ที่สระบุรี ซึ่งลาวอยู่เยอะ สิ่งสำคัญที่คนส่วนใหญ่และในตำราประวัติศาสตร์ ราชการไม่พูดถึงคือ พระพุทธรูปจากลาว พูดองค์เดียวคือพระแก้วมรกต แต่จริงๆ ยังมีหลวงพ่อพระเสริม พระแสน พระสายน์ วัดปทุมวนาราม หลวงพ่อแจ้ง วัดอรุณราชวราราม หลวงพ่อสุก วัดราชผาติการาม พระแสน เชียงแตง วัดหงส์รัตนาราม หลวงพ่อแซกคำ วัดคฤหบดี หลวงพ่อฉันสมอ วัดอัปสรสวรรค์ และยังมีอีก” ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ร่วมกันเล่า

สำหรับไทม์ไลน์ในช่วงต่อมา คือสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตั้งชื่อมณฑลต่างๆ ในอีสานเป็นลาวทั้งหมด เช่น หัวเมืองลาวกาว ลาวพวน ลาวพุงขาว ฯลฯ เกิดการสร้างทางรถไฟถึงโคราช ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 6 มีการสร้างต่อไปถึงอุบลราชธานี

ประวัติศาสตร์อีสานผ่าน ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ความรู้สึกใหม่หลัง 14 ตุลา

ตัดฉากมาในประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยหลังอภิวัฒน์สยาม 2475 นักการเมืองชาวอีสานกลายเป็นตำนานแห่งการต่อสู้หลายต่อหลายราย ที่โด่งดังมากคือ เตียง ศิริขันธ์ ผู้สังเวยชีวิตแก่ความอยุติธรรมจากน้ำมือเผด็จการ

“อีสานถูกละเลยมานานเป็น 100 ปี คนอีสานต้องการความเท่าเทียมที่เสมอบ่าเสมอไหล่ แต่กลับไม่ได้รับจากรัฐส่วนกลางในช่วงนั้นจึงทนไม่ไหวต้องแก้ปัญหาเอง ผลที่สุดคือเอียงไปทางฝ่ายซ้าย ฝ่ายก้าวหน้า จนถูกรัฐกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ กระทั่งเกิดนโยบายที่อเมริกันเข้ามาเกี่ยวข้องในยุคสงครามเย็นสืบถึงสงครามเวียดนาม อเมริกาเริ่มต้นด้วยการให้เงินทำถนนมิตรภาพ เมื่อมีคำถามว่าทำไมอีสานเป็นคอมมิวนิสต์ ช่วงนั้นมีคำที่พูดกันเล่นๆ ว่า เป็นคอมมิวนิสต์แล้วได้ถนน พูดง่ายๆ คือ รัฐไม่ดูแล ไม่เจริญ ผลทั้งหมดเท่ากับเพิ่มพูนความรู้สึกต่ำต้อย เหยียดหยาม ทำให้อีสานเป็นสัญลักษณ์ของความยากจน”

สุจิตต์ วงษ์เทศ และขรรค์ชัย บุนปาน ทอดน่องที่สวนสันติชัยปราการริมฝั่งเจ้าพระยาอันเกี่ยวพันกับ ‘พลังลาว’ และหลายกลุ่มชาติพันธุ์ยุคแรกสร้างกรุงเทพฯ

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เล่าต่อไปว่า ครั้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เกิดความรู้สึกใหม่ สิ่งที่คนรุ่นใหม่ยุคนั้นทำความเข้าใจคือ ประวัติศาสตร์ผ่าน จิตร ภูมิศักดิ์ ทำให้อีสานได้รับการพิจารณาใหม่ ได้รับการยกย่อง ต่อมาสิ่งที่คุ้นหูคุ้นตาคือ ตลกคาเฟ่ที่เป็นชาวอีสานที่มีพรสวรรค์อย่างล้นเหลือ

“ตลกคาเฟ่ทำให้คนอีสานมีพื้นที่ในการเล่นตลก เกิดตลกอีสานซึ่งไม่มีใครกินลง ทั้งหมดมาจากการที่อีสานไม่มีอำนาจรัฐเข้าไปดูแลจึงไม่เป็นไทย เมื่อไม่เป็นไทยจึงต้องปากกัดตีนถีบ ต่อสู้ด้วยตนเอง อย่างหมอลำก็มีพัฒนาการมาตลอดเพราะไม่ถูกครอบงำจากอำนาจรัฐส่วนกลางทำให้ครีเอทีฟไอเดียสูง”

ย้ำชัดถึงพลังลาว ชาวอีสาน ที่ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็ไม่อาจแยกได้จากประวัติศาสตร์ (ชาติ) ไทย ตั้งแต่เมื่อวาน จนถึงวินาทีนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image