6 ทศวรรษ ประพันธ์สาส์น ฝ่าขวากหนามบนถนนสายธุรกิจหนังสือ สู่ภารกิจใหม่ VIRF Platform ตัวกลางการซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ

6 ทศวรรษ ประพันธ์สาส์น ฝ่าขวากหนามบนถนนสายธุรกิจหนังสือ สู่ภารกิจใหม่ VIRF Platform ตัวกลางการซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ

60 ปี ตัวเลขที่บ่งบอกถึงการผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากมายและเป็นช่วงเวลาแห่งการเกษียณ แต่สำหรับ “สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น” นั่นคือบทพิสูจน์ความแข็งแกร่งในการก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ นับตั้งแต่ยุครุ่งโรจน์ของธุรกิจสื่อ ยุคเปลี่ยนผ่านสู่ ดิจิทัล ซึ่งเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของแวดวงอุตสาหกรรมหนังสือ มีสื่อสิ่งพิมพ์ สำนักพิมพ์ จำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดตัวลงเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวได้ทันตามพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนไป แต่ “ประพันธ์สาส์น” ยังคงเป็นศูนย์บ่มเพาะนักเขียนและนักอ่าน ภายใต้การบริหารจากรุ่นสู่รุ่นโดยยึดหลัก “คัดสรรเนื้อหาที่มีความแตกต่างและมีคุณค่าเผยแพร่สู่สังคม”

พันฤทธิ์ เตชะธาดา(ซ้าย) และ อาทร เตชะธาดา(ขวา)

⦁เมื่อดิจิทัลเปลี่ยนโลกการอ่าน ธุรกิจต้อง ‘ปรับตัว’

อาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น พาย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 5 เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ประพันธ์สาส์นก็เริ่มปรับตัว จากการเป็นธุรกิจหนังสือหรือสำนักพิมพ์ ก็ปรับตัวเป็น Content Provider หรือผู้ที่ทำหน้าที่พัฒนาองค์ความรู้ เราถือว่า Content is a King, Platform is a Queen คอนเทนต์เป็นตัวนำไม่ว่าจะอยู่บนรูปแบบแพลตฟอร์ม E-book หรือจะเป็นแอพพลิเคชั่นทั้งหลายในรูปแบบดิจิทัลฟอร์ม แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ Core Value ที่ประพันธ์สาส์นยึดมั่นคัดสรรเนื้อหาที่มีความแตกต่างและมีคุณค่าเผยแพร่สู่สังคม อีกหนึ่งวิสัยทัศน์ก้าวไกลคือ เว็บไซต์ประพันธ์สาส์น ซึ่งครบ 20 ปี ในขณะที่สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นครบ 60 ปี นั่นหมายถึงการเริ่มทำเว็บไซต์จากยุคระบบปฏิบัติการ DOS และยังไม่มีโปรแกรมสำเร็จรูปโดยค่ายไมโครซอฟท์ด้วยซ้ำ เว็บไซต์ประพันธ์สาส์นถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน เป็นเว็บไซต์ Responsive ที่รังสรรค์ความคิดความอ่าน โดยมีฟรีคอนเทนต์ให้อ่านเป็นพื้นที่ให้แสดงออกด้านงาน และมีคอลัมน์คุยนอกรอบกับนักเขียน

Advertisement

⦁‘ค้นคว้า’ จุดเริ่มต้นของหนอนหนังสือ

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เราให้ความสำคัญกับ Content Provider ซึ่งทำในรูปแบบ Content On Ground ทำโครงการที่เกี่ยวกับการปลูกฝังการรักการอ่าน การรู้จักคิด ให้การศึกษาที่เป็นการเสริมการศึกษานอกห้องเรียน เช่น โครงการมอบหนังสือดี 8 ล้านบาท สู่ห้องสมุด พร้อมจัดกิจกรรมการแสดงบนเวที สื่อสารไปยังครูบรรณารักษ์ อาจารย์ที่สอน ว่าการสอนในห้องเรียนต้องทำควบคู่กับการเข้าไปค้นคว้าในห้องสมุด สาธิตเกี่ยวกับหนังสือที่บริจาคมีเนื้อหาอย่างไร เชื่อมโยงครูบรรณารักษ์กับอาจารย์ที่สอนในห้องเรียนในการประสานการสอนในห้องเรียนกับการค้นคว้าในห้องสมุด เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เด็กรู้จักค้นคว้าข้อมูลที่อยู่นอกตำราเรียน แม้ในปัจจุบันที่ Search Engine มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่องค์ความรู้ที่แม่นยำผ่านการกลั่นกรองก็มีความสำคัญเพราะเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่เชื่อถือได้ และในปีนี้เริ่มศักราชใหม่ด้วยการจัดโครงการมอบหนังสือให้แก่ห้องสมุดที่ขาดแคลนหนังสือทั่วประเทศกว่า 400 โรงเรียน ในวันที่ 28 มกราคมศกนี้ เพื่อตอกย้ำว่าประพันธ์สาส์นยังสามารถเดินหน้าในยุคนี้ได้

⦁เปิดโอกาส ปั้นนักเขียน บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์สร้างสรรค์

การอ่าน คือรากฐานของการพัฒนาศักยภาพในหลายมิติ เมื่อปลูกฝังให้เยาวชนเป็นนักอ่านแล้ว มิชชั่นที่ต้องทำควบคู่คือ สร้างนักเขียนคุณภาพ อย่างเวทีรางวัลชมนาด เปิดโอกาสให้นักเขียนหญิงที่รักในงานประพันธ์มาประชันฝีมือกัน โครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์” เพาะกล้าวิจารณ์เยาวชน เป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อต้องการให้เยาวชนไทยกล้าคิดนอกกรอบจากระบบการศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และกล้าวิจารณ์ ซึ่งก็คือการกล้าตั้งคำถาม “เพาะกล้าวิจารณ์ จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 เราได้เด็กที่เฉียบแหลม กล้าคิดกล้าสร้างสรรค์ หลายคนได้เป็นครูเข้าไปอยู่ในระบบ ทำให้การศึกษาในห้องเรียนเริ่มสนุกขึ้น เพราะมีครูที่คิดแปลกแหวกแนวเข้าไปสอน นี่คือคอนเทนต์ที่เรา Provide ยอมรับว่าเป็นความกรุณาของสปอนเซอร์ที่กล้าสนับสนุนให้มี Event หรือ Platform ทางด้านเนื้อหา On Ground ที่มีเสรีภาพในการค้นคว้า ในการคิด ในการวิเคราะห์ ในการแสดงออก”

เปิดร้านประพันธ์สาส์น ชั้น 2 โรงภาพยนตร์ลิโด้

⦁ทศวรรษที่ 6 มิชชั่นใหม่ VIRF Platform ตัวกลางการซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ

“พอมาถึงทศวรรษที่ 6 มิชชั่นแรกคือ เราจะเป็น IP Provider เน้นเป็นผู้สรรหาทรัพย์สินทางปัญญาป้อนสู่ตลาด B2C เป็นประเภทธุรกิจ E-commerce และตลาด B2B เป็นทศวรรษที่รุ่น 4 คุณอ๋อง-พันฤทธิ์ เตชะธาดา จะเป็นผู้สืบทอด เราทำงานเป็นรุ่นต่อรุ่น ซึ่ง Core Value เนื้อหาที่มีคุณภาพยังคงอยู่ควบคู่กับ VIRF Platform ตลาดกลางการซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ และผลักดันให้เกิดการค้าขายถึงทรัพย์สินด้านนี้ที่เป็นธรรมขึ้นด้วย ซึ่งไม่จำกัดอยู่แค่เนื้อหาที่มาจากหนังสือ เพราะเนื้อหาสามารถต่อยอดพัฒนาจากหนังสือเล่มหนึ่งเป็นภาพยนตร์ ละคร หรือเกมได้ เรียกว่าเป็น Creative Economy คือ ทรัพย์สินทางปัญญาจากฟอร์มหนึ่งไปสู่อีกฟอร์มหนึ่ง ยิ่งยุคโควิด-19 ไม่สามารถค้าขายระหว่างประเทศได้ แพลตฟอร์มยิ่งมีความสำคัญที่จะเป็นตลาดกลาง อย่าง Lazada shopee เป็นตลาดกลางสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค VIRF ก็เป็นตลาดกลางของทรัพย์สินทางปัญญา” อาทร เตชะธาดากล่าว

ด้าน พันฤทธิ์ เตชะธาดา ทายาทรุ่น 4 ที่เข้ามารับไม้ต่อในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการบริษัทประพันธ์สาส์น ได้เผยถึงก้าวต่อไปในปีที่ 61 ว่า สื่อที่เป็นตัวกลาง หนังสือนั่นถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยีไปนานแล้วแม้กระทั่งพฤติกรรมของผู้อ่าน สมัยก่อนบรรณาธิการเป็นคนป้อนสิ่งที่เชื่อว่ามันดี แต่ปัจจุบันผู้อ่านก็เป็นนักข่าวเองได้ ทุกคนก็เลยเป็นคนเขียน เป็นบรรณาธิการกันหมด แต่ผมเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่บรรณาธิการในปัจจุบันควรจะมีคือ ทักษะของการทำ Data Analytic วิเคราะห์แนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้าจากฐานข้อมูล และสู้กันที่คอนเทนต์ของผู้ผลิตสื่อ ซึ่งเป็นทักษะที่ทางประพันธ์สาส์นจะต้องสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่มีความรู้ตรงนี้มากขึ้น อยู่กับผู้อ่านมากขึ้น ผมว่ามันหมดยุคแล้วที่ฉันชอบหนังสืออะไร ฉันก็มีแนวโน้มที่จะไปสร้างตลาดใหม่ เพราะการทำหนังสือแต่ละเล่มมีต้นทุนสูงมาก

 

งานอบรมนักเขียน โครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์”

“เด็กรุ่นใหม่ GEN Z เขียนลงบล็อก พิมพ์ขึ้นแฮชแท็กเลยว่าทำไมไม่มีคนอ่านของหนูเลย เขาสามารถคุยกับผู้อ่านได้ ผมเชื่อว่าผู้เขียนเด็กรุ่นใหม่อาจไม่จำเป็นต้องผ่านสำนักพิมพ์ แต่สำนักพิมพ์เองก็มี Value บางอย่างที่ add ได้ อย่าง The Standard เขาอ่านเขาวิจารณ์หนังสือเขามีไอเดียบางอย่างที่สรุปมาให้ เขามีทักษะ Data Analytic ที่จะวิเคราะห์ว่ากลุ่มผู้อ่านคือใคร นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าในระยะยาวผมอยากเห็นประพันธ์สาส์นเป็น ควบคู่กับการรักษาตลาดของผู้อ่านที่จงรักภักดีกับเรา และตามงานเรามาตลอด โดยสร้างความสัมพันธ์กับเขาให้มากขึ้นเพื่อความยั่งยืนในอนาคต เพราะเราปฏิเสธความจริงว่าโลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไม่ได้ แต่เราจะปรับยังไง” พันฤทธิ์ เตชะธาดากล่าว

 

บรรยากาศการเปิดร้านหนังสือประพันธ์สาส์น
สาขาเสรีเซ็นเตอร์ ถนนศรีนครินทร์ กทม.

⦁สังคมไทยมีวัฒนธรรมการอ่านน้อยมาก

จากที่เราทำวิจัยธุรกิจหนังสือ เมืองไทยมีมาร์เก็ตแชร์เพียง 1% ขณะที่ อเมริกา 60% จีน 30% อื่นๆ 20% แสดงว่าสังคมไทยมีวัฒนธรรมการอ่านน้อยมาก เพราะฉะนั้นการทำ VIRF แพลตฟอร์ม Business Matching ที่เพิ่งเปิดตัวไปเพื่อจับคู่ธุรกิจหาตลาดใหม่ โดยโฟกัสตลาดต่างประเทศมากขึ้นทั้งแบบหนังสือและ E-book เพราะตลาดในการซื้อขายลิขสิทธิ์ในระดับอาเซียนเป็นตลาดใหญ่มาก เราทดลองไปแล้วสองครั้ง ล่าสุดทางอินโดนีเซียมีการทำข้อตกลงและขอเช่าไปเพื่องานจับคู่ธุรกิจในการซื้อขายลิขสิทธิ์ คือโอกาสที่เรามองว่ามันเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนแต่มันมีมูลค่า เพราะใช้ Data Analytic มาวิเคราะห์ความต้องการคอนเทนต์ในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างหนังสือเล่มหนึ่งขายดีขึ้นมา คุณซื้อเฉพาะลิขสิทธิ์หนังสือ ขณะที่ต่างประเทศแยกระหว่างลิขสิทธิ์ปกแข็ง ลิขสิทธิ์ปกอ่อน ลิขสิทธิ์ E-book ซึ่งคงใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 ปี ในการรุกตลาดนี้

 

⦁พัฒนาจุดแข็ง ขยายตลาด B2B

คอนเทนต์ และการจัดอีเวนต์ คือจุดแข็งของประพันธ์สาส์น ซึ่งเอื้อกับระดับของ B2B ซึ่งเป็นโลกของ ESG ดัชนีชี้วัดธุรกิจความยั่งยืน เช่น กิจกรรมที่ธนาคารกรุงเทพสนับสนุนเรื่องการศึกษา โดยให้ประพันธ์สาส์นหาหนังสือดีๆ เข้าห้องสมุดในโรงเรียนต่างๆ ที่ขาดแคลนหนังสือเป็นประจำทุกปี ดังนั้น การต่อยอดแรกที่ผมมองว่าเป็นไปได้คือการทำ กรีนคอนเทนต์ เราก็มองว่าตรงนี้เป็นโอกาสหากลุ่มอุตสาหกรรม
อื่นๆ อย่างธุรกิจพลังงานที่ต้องการสื่อสารคอนเทนต์ที่ว่า คืนอะไรให้สังคมบ้าง

เป็นอีกหนึ่งมิชชั่นที่น่าจับตามอง

มติชนอคาเดมี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image