อำนาจ อุดมการณ์ ความรู้ พลวัตวิชาชีพครู การเมืองเรื่อง‘พระคุณที่3’

ตัวแทนครูยื่นหนังสือต่อ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมรายชื่อผู้สนับสนุนให้พิจารณางดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ของครูเมื่อปลายปี 2564 (ภาพจากเพจ ‘ครูขอสอน’)

ปัญหามากมายที่สะสมมาเนิ่นนานในสังคมไทย ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ทางการเมืองที่ภาคประชาชนร่วมกันเปิดแผลทั้งเล็กและใหญ่ด้วยความมุ่งหวังให้เกิดการแก้ไข กลายเป็นแรงกระเพื่อมที่น่าจับตา

หนึ่งในนั้นคือ แวดวงการศึกษา ซึ่งไม่เพียงเกิดการก่อตั้งกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘นักเรียนเลว’ หากแต่ครูบาอาจารย์ในสถาบัน
การศึกษาระดับชั้นต่างๆ ก็มีความเคลื่อนไหวทั้งผ่านโลกออนไลน์และในชีวิตจริง

แฮชแท็ก #ทำไมครูไทยอยากลาออก พุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในช่วงปลาย 2564

เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2565 ปัญหาที่ค้างคาจากปีก่อนๆ ยังคงรอการแก้ไข

Advertisement

ท่ามกลางมุมมองที่มีต่อครูในสายตาเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป

ใจกลางมรสุมเอกสาร วิทยฐานะ การอยู่เวร และอีกมากมายที่ครูไทยต้องเผชิญ

งานวิจัย พลวัตวิชาชีพครู ว่าด้วยอำนาจและสถานภาพทางสังคมในสังคมไทย ภาพปกจากเฟซบุ๊ก ‘อิทธิพงค์ วิวัฒนเจริญ’ เป็นภาพครู
ก้มกราบนักเรียนหลังพานพุ่ม โดยมีข้อความว่า “มีข้าวกิน มีเงินใช้ ชีวิตสุขสบายเพราะพวกเธอ” กลายเป็นข่าวฮือฮาเมื่อปี 2563

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง หนึ่งในแหล่งสร้างบุคลากรครูของประเทศไทย จัดเสวนา ‘พระคุณที่สาม ถึง คศ.3 พลวัตวิชาชีพครู ว่าด้วยอำนาจ และสถานภาพทางสังคมในสังคมไทย’

Advertisement

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ เปิดเผยรากเหง้าปัญหาวิชาชีพครูตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้อย่างลึกซึ้ง

“เชื่อกันว่าวิชาชีพครูสำคัญยิ่งต่อการสร้างพลเมืองคุณภาพ นโยบายรัฐก็พยายามยกระดับวิชาชีพครู แต่ที่ผ่านมาก็เป็นการแก้ปัญหาอย่างผิวเผิน”

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์กล่าว พร้อมย้ำว่า การผลิตครูมันอยู่ภายใต้การเมือง

“สำหรับการเรียนการสอนบ้านเรา คือ วัด เรามีหลายศาสนาที่หล่อหลอมการเรียนรู้ และอักษรต่างๆ ก็มาจากหลายๆ ศาสนา ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามเข้าไปควบคุมส่วนนี้ให้อยู่ภายใต้การทำงานของรัฐ ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบบผลิตข้าราชการมารับใช้ในระบบการศึกษาขยายตัวขึ้น มุ่งสร้างบุคลากรป้อนสู่ระบบราชการ รัฐบาลกรุงเทพฯ ขยายอำนาจไปยังหัวเมือง และดินแดนประเทศราช เขียนแผนที่ขีดอำนาจรัฐแบบใหม่เข้าไปการศึกษาจึงเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับดินแดนต่างชาติต่างภาษา ในมลายู ล้านนา ล้านช้าง ที่ใช้คนละอักขระ และจินตนาการถึงอดีตคนละแบบ ภาษาไทย เข้ามาทำหน้าที่สำคัญ จัดตั้งกรมศึกษาธิการปี พ.ศ.2430 เกิดโรงเรียนฝึกหัดครูแบบตะวันตก มาตรฐานสูงขึ้นใน พ.ศ.2435”

เปิดประเด็นด้วยการย้อนประวัติศาสตร์การก่อเกิดวิชาชีพครู ชวนให้เรียนรู้ความเป็นมาเป็นไปในระดับโครงสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

จากหลัก 6 ประการ ถึงแผนกครุศาสตร์ผลิตครูระดับชาติ

ขยับลงมาเมื่อเกิดการอภิวัฒน์สยาม หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง การศึกษาเป็นหนึ่งใน หลัก 6 ประการ มีการประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2475 เกิดการเร่งขยายโรงเรียน โดยใน พ.ศ.2479 ประกาศใช้ระเบียบและหลักสูตรฝึกหัดครูประถม และเปิดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการฝึกหัดครูตั้งแต่ระดับอนุบาล ไปจนถึงมัธยมศึกษา

ต่อมาใน พ.ศ.2486 มีการตั้งแผนกครุศาสตร์ ในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นเดียวกับการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (2477) มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (2486) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2486) มหาวิทยาลัยศิลปากร (2486)

นอกจากนี้ ยังมีพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 ที่กำหนดให้มีคุรุสภา ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อให้ ‘ครูปกครองครู’ ตราคุรุสภา คือ พระพฤหัสบดี ที่ทำหน้าที่เป็นครูของเทวดา แสดงให้เห็นถึง
ภาพลักษณ์ของครูที่สูงส่งถึงขนาดเป็นครูของเทวดาได้ และใน พ.ศ.2500 ประกาศให้วันที่ 16 มกราคม เป็นวันครู

“ในทศวรรษ 2500 เป็นช่วงที่รัฐบาลเผด็จการทหารได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาทั้งด้านการทหารและการศึกษา มีการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 โรงเรียนฝึกหัดครูได้ทยอยยกระดับเป็นวิทยาลัยครู วิทยาลัยการศึกษา ถูกจัดตั้งตามภูมิภาคต่างๆ เช่น พิษณุโลก (ม.นเรศวร) พ.ศ.2510 ม.สงขลา (ม.ทักษิณ) และในปี พ.ศ.2511 ยังมีการตั้งคณะศึกษาศาสตร์ ม.ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลานครินทร์ ขณะที่คณะศึกษาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ปี พ.ศ.2512 ม.ศิลปากร พ.ศ.2513 ม.รามคำแหงในปี พ.ศ.2514 การผลิตครูเกิดขึ้นตามมหาวิทยาลัยระดับชาติไปทั่วประเทศ”  รศ.ดร.ภิญญพันธุ์โชว์ข้อมูล ก่อนตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่น่าสนใจ คือ นักวิชาการการศึกษา เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ โดยมีข้อสังเกต คือ คนเหล่านี้เกิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สร้างตัวตนขึ้นมาในช่วงระบอบประชาธิปไตย และมีบทบาทเต็มที่ในรัฐบาลเผด็จการ

เหตุการณ์ครูรวมตัว ‘แต่งดำ’ ยื่นหนังสือถึงประธาน กมธ. การศึกษาและสภาผู้แทนราษฎร คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … และการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปลายปี 2563

รัฐประหาร 57 โมเดลสงครามเย็นหลงยุค การศึกษาก็ไม่รอด!

ต่อมาในทศวรรษ 2540 มีความพยายามสร้างคุณภาพการผลิตครูด้วยการปรับปรุงหลักสูตรจาก 4 ปี เป็น 5 ปี เริ่มนำร่องตั้งแต่ พ.ศ.2547 บนหลักการที่ต้องการจูงใจให้นักเรียนที่ดี และเก่ง มีความต้องการเป็นครูให้เข้ามาเรียน มีระบบให้ทุนการศึกษาและประกันการมีงานทำเพื่อเข้ามาอยู่ในระบบ และมีความรู้ความสามารถทางวิชาการอย่างลึกซึ้ง พัฒนาจิตสำนึกความเป็นครู และร่วมกับหน่วยงานผู้ใช้ครู อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2557 เกิดการกลับมาคุมการศึกษาด้วยโมเดลสงครามเย็นหลงยุค

“สังคมภายใต้รัฐประหาร 2557 นั้นเข้มข้น และแหลมคมกว่ารัฐประหาร 2549 เป็นอย่างมาก คณะรัฐประหารให้ความสำคัญกับการเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบเลือกตั้งใหม่อันเต็มไปด้วยปัญหา การวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฯลฯ เป็นโมเดลคล้ายช่วงสงครามเย็น ผิดแต่ว่า คอมมิวนิสต์ไม่ใช่ภัยคุกคาม พรรคการเมือง และประชาชนผู้สนับสนุนกลับเป็นภัยที่รัฐสร้างขึ้นมา สำหรับการผลิตครู ที่เป็นเรื่องใหญ่มากก็คือ การเปลี่ยนหลักสูตรการผลิตครูจาก 5 ปี เหลือเพียง 4 ปี แบบกึ่งบังคับในปี 2561

ความพยายามบรรจุครูผู้ช่วยโดยไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพในปี 2560 กลายเป็นความขัดแย้งสำคัญ มีข่าวการล่ารายชื่อ 5 หมื่นรายชื่อเพื่อถอดถอนรัฐมนตรี ใบประกอบวิชาชีพนั้นเป็นมรดกสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาที่หวังจะสร้างวิชาชีพครูให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง ในที่สุดรัฐมนตรีก็ยอมถอย จากเหตุดังกล่าวมีข้อถกเถียงว่า จำเป็นต้องเรียนครูถึง 5 ปีหรือไม่ การผูกขาดการผลิตครูที่คณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์คือคำตอบเดียวหรือเปล่า การเปิดสอบในวงกว้างจะทำให้ได้ครูที่มีคุณภาพขึ้นหรือไม่” รศ.ดร.ภิญญพันธุ์กล่าว

มั่นคง มั่งคั่ง ในโครงสร้าง ‘4 ระดับวิทยฐานะ’

อีกประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง และเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกก็คือ ‘หนี้ครู’ ซึ่งเมื่อลองมาดูความมั่นคงมั่งคั่งของอาชีพครูพบว่า ในสถิติปีงบประมาณ 2563 ประเทศไทยมีกำลังคนในภาครัฐ ฝ่ายพลเรือน 2,117,018 คน แบ่งเป็นข้าราชการในระบบจำนวน 1,361,662 คน หากคิดจากจำนวนประชากรในปีเดียวกันที่ 66,186,727 คน จะนับว่าข้าราชการมีสัดส่วนร้อยละ 2.06 ของประชากรทั้งประเทศ ที่เหลือคือ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ และพนักงานจ้าง

“ว่ากันด้วยความมั่นคง และมั่นคั่งของครู รัฐบาลไม่เพียงส่งเสริมที่การผลิตครู แต่ยังให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรการศึกษาขึ้นใหม่ด้วย พ.ร.บ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาที่ล้อกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งปรับมาจากคณะกรรมการข้าราชการครู ในปี 2523 รมว.กระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการ ทำให้โครงสร้างการบริหารบุคลากรรวมศูนย์อยู่ที่กระทรวงอย่างเข้มข้น

พ.ร.บ.นี้ กำหนดข้าราชการครูแบ่งเป็น 3 ประเกท นั่นคือ ผู้สอน ผู้บริหารสถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ และได้แยกอาจารย์ออกมา ให้เป็นตำแหน่งผู้สอนในหน่วยงานการศึกษาที่สอนระดับปริญญาเท่านั้น ตำแหน่งครูจะมีวิทยฐานะได้ 4 ระดับ นั่นคือ ครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ ครูเชี่ยวชาญ และครูเชี่ยวชาญพิเศษ อาจพอเทียบเคียงได้กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ เป็นตำแหน่งทางวิชาการที่เป็นเกียรติยศ และมีเงินเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน ส่วน พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 สอดคล้องกับกฎหมายการศึกษาแห่งชาติที่ต้องการให้มีรายได้ที่เพียงพอและเหมาะสมกับฐานะทางสังคมและวิชาชีพ” รศ.ดร.ภิญญพันธุ์อธิบายในภาพกว้าง

การเมืองวิชาชีพครู คู่การเมืองระดับชาติ ในวันที่สหภาพเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ

จากนั้น ลงลึกถึงพัฒนาการของเงินเดือนและสวัสดิการว่า ในช่วงแรกข้าราชการครูมีเงินเดือนต่ำเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป แต่ได้รับการชดเชยด้วยสวัสดิการที่ครอบคลุมไปถึงครอบครัว ต่อมาหลังการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษ 2540 วิชาชีพครูถูกยกระดับขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน และช่องทางการเติบโตผ่านระบบวิทยฐานะที่ทำให้มีเงินเพิ่มขึ้น การอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ทำให้ครูถูกแยกขาดออกจากขบวนการแรงงาน เนื่องจากว่า ในสังคมข้าราชการนั้น การรวมตัว หรือเรียกร้องต่อรองต่อผู้บริหารซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชานั้น อาจนำไปสู่ปัญหาด้านการงานได้เนื่องจากเป็นการเผชิญหน้ากับผู้ให้คุณให้โทษโดยตรงได้ ทำให้ข้าราชการครูจำนวนมากต้องแก้ไขปัญหาในนามปัจเจก

“สำหรับครูและบุคลากรอื่นที่อยู่ในโรงเรียนแต่อยู่นอกระบบราชการกลับถูกเลือกปฏิบัติ เช่น การได้รับเงินเดือนที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ หรือการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกับข้าราชการ การรวมตัวของครูที่เข้มแข็งเป็นอย่างยิ่งอยู่ในรูปของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในจังหวัดต่างๆ ที่ดำเนินการมาอย่างยาวนานและมีความเข้มแข็งทางการเงิน ในระยะหลัง เสียงเรียกร้องถึงการรวมตัวในฐานะสหภาพครูดังขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นทางการเมืองของคนในวิชาชีพครูที่สอดคล้องกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับชาติไปด้วย”

ไม่ใช่เพียงการขยับเคลื่อนไหวในการเมืองปัจจุบัน หากย้อนไปในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แวดวงครูและนักศึกษาครูมีบทบาททางการเมืองอย่างเข้มข้น และเป็นที่ทราบกันดีว่าหลัง 6 ตุลาคม 2519 สังคมไทยถูกทำให้การเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยไร้บทบาท การแสดงออกทางการเมืองในทุกวงการถูกปิดกั้นเสรีภาพจนกระทั่งสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ครูก็ค่อยๆ เข้ามีบทบาททางการเมืองมากขึ้นทั้งในสภาและนอกสภา การรวมตัวครั้งใหญ่ของครูอาจเรียกได้ว่าเกิดขึ้นก่อนวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่นำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสียอีก กลุ่มผู้นำองค์กรครูได้คัดค้านการ
กระจายอำนาจการศึกษาที่จะทำการถ่ายโอนไปอยู่ภายใต้การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถือว่าเป็นหัวโขนสำคัญที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางการศึกษา การบริหารจัดการโรงเรียน ครูและนักเรียนภายใต้โครงสร้างที่รวมศูนย์อำนาจ มีระยะเวลาทำงานสั้นมาก หากนับตั้งแต่ พ.ศ.2475-2557 รัฐมนตรีจะนั่งเก้าอี้เพียง 1.5 ปีต่อคนโดยเฉลี่ย หลังปี 2538-2557 ก็เหลือเพียง 0.95 ปีต่อคนเท่านั้น ถือว่าน้อยจนไม่สามารถจะผลักดันอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันได้เลย ซึ่งทักษิณ ชินวัตร เองก็เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการควบกับนายกรัฐมนตรีสั้นไม่กี่เดือน รมว.ศึกษาธิการที่นั่งเก้าอี้นานที่สุดคือ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ซึ่งดำรงตำแหน่งช่วงปี 2500-2512 ในช่วงรัฐบาลเผด็จการเรืองอำนาจ”  รศ.ดร.ภิญญพันธุ์เล่า

สะท้อนภาพชัดว่าการเมืองกับการศึกษาไทย ไม่เคยแยกจากกัน

จิณณพัต อกอุ่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image