การแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยมีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

“อยุธยา เมืองเก่าของเราแต่ก่อน …”

นึกถึงเพลง “อยุธยาเมืองเก่า” หรือ “อยุธยารำลึก” ซึ่งยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าตกลงใครแต่งกันแน่ ระหว่างทฤษฎีที่ว่าแต่งสมัย 2520 หรือสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

นึกถึงเพลงนี้ แล้วก็รับฟังข่าวเรื่องน้ำท่วมและปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในแต่ละที่ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคกลาง ผมก็รู้สึกว่ายังพอมีมุมอะไรอีกบ้างที่จะพอเรียนเสนอให้กับท่านผู้อ่านในประเด็นที่เกี่ยวกับน้ำท่วมในตอนนี้ได้บ้าง

ประการแรก ผมรู้สึกว่ารัฐบาลนั้นมีความตั้งใจ ที่จะแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม อันนี้ผมเชื่อว่าทุกรัฐบาลมีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมไม่แพ้กันหรอกครับ เรื่องนี้อยู่พ้นจากอุดมการณ์ทางการเมือง และผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้าอย่างแน่นอนครับ

Advertisement

แต่เรื่องที่สำคัญก็คือ ความตั้งใจและมุ่งมั่นของรัฐบาลนั้น จะประสบความสำเร็จหรือไม่มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนความรู้ความเข้าใจที่มีต่อปัญหานั้นมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ไม่ใช่ว่ารัฐบาลโง่เง่าหรอกครับ แต่สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันนั้นมันเป็นเรื่องที่มากับความไม่แน่นอน และเมื่อเราจะต้องจัดการกับความไม่แน่นอน เราก็จะต้องยอมรับว่าความไม่แน่นอนเป็นความซับซ้อนอย่างหนึ่ง

และความไม่แน่นอนและสลับซับซ้อนนั้นนอกจากจะต้องการความร่วมมือร่วมใจดังที่รัฐบาลทุกสมัยต้องการแล้ว ความร่วมมือร่วมใจนั้นไม่เสมอไปจะต้องแปลว่าเงียบ แล้วเชื่อมั่นศรัทธาว่ารัฐบาลจะนำพาเราไปเรื่อยๆ เท่านั้น

ในอีกมุมหนึ่ง คนที่มีอำนาจจะต้องหัดฟังคนตัวเล็กตัวน้อยให้มากขึ้น มันต้องไปคู่กันนั่นแหละครับ

ใช่ว่าเมืองไทยจะไม่มีแผนการรองรับภัยพิบัติ และน้ำท่วม ไม่เชื่อก็ลองค้นในอินเตอร์เน็ตก็ได้ครับ และแต่ละฉบับนั้นก็พูดถึงการบูรณาการของการดำเนินการรับมือกับภัยพิบัติอย่างสลับซับซ้อนมาโดยตลอด

แต่สิ่งที่ผมอยากจะเรียนเสนอก็คือ อย่างในกรณีของแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพิบัติแห่งชาติ 2558 หน่วยงานลำดับสุดท้ายที่ถูกเห็นและถูกนับอย่างเป็นระบบก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และไล่เรียงขึ้นไปจนถึงระดับชาติ

ส่วนที่ควรจะเพิ่มไปอย่างเป็นระบบก็คือ ชุมชนที่เล็กกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น หมู่บ้าน หรือชุมชนที่เชื่อมโยงกันในนามของประชาสังคม

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในด้านหนึ่งเราอาจจะเรียกสิ่งที่อยู่ระดับล่างกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าอะไรสักอย่างที่ดูสวยหรู แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าเราเข้าใจกระบวนการพัฒนาในพื้นที่เอง เราจะพบว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น อาจจะทำให้การรวมตัวกันของผู้คนเป็นไปได้ยาก

โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต่อเชื่อมกันระหว่างเมืองกับชนบท อาจจมีผู้คนที่มีความหลากหลาย และมีผลประโยชน์ที่แตกต่างกันมาก อย่างในกรณีของพื้นที่เขตรอยต่อเหล่านั้น เราจะพบว่าการพยายามรื้อคันกั้นน้ำเป็นผลอย่างหนึ่งของความขัดแย้งที่ไม่ลงตัวในระดับพื้นที่

ประการที่สอง ผมคิดว่าเรื่องที่น่าห่วงใยอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การทำให้เรื่องของปัญหาน้ำท่วมเป็นเรื่องทางการเมือง เช่น การโยนปัญหาไปให้รัฐบาลที่แล้ว หรือการที่พยายามกล่าวหารัฐบาลว่าขาดความรู้ความเข้าใจที่มีต่อปัญหา

เรื่องของการทำให้ปัญหาน้ำท่วมเป็นประเด็นทางการเมืองไม่ได้ทำให้เรื่องทุกอย่างมันดีขึ้น มีแต่จะสร้างแรงกดดันให้กับการแก้ปัญหา และคนที่เดือดร้อนก็คือประชาชนในประเทศนั่นเอง

จริงอยู่ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไม่โยงเอาเรื่องทางการเมืองไปเกี่ยวกับน้ำท่วม เมื่อพูดถึงประวัติการพยายามโยงเอาเรื่องน้ำท่วมมาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองในช่วงที่ผ่านมา แต่ถ้ามองในอีกด้านหนึ่ง การพยายามที่จะข่มใจไม่โยงเรื่องน้ำท่วมไปเกี่ยวกับการเมืองในวันนี้ น่าจะสะท้อนถึงวุฒิภาวะของพลังฝ่ายประชาธิปไตยที่จะต้องสร้างให้เพิ่มขึ้นให้ได้ แล้วมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอความเห็นที่สร้างสรรค์ในแต่ละประเด็นจะดีกว่า

ผลร้ายอีกประการหนึ่งที่พึงระวังในเรื่องของการทำให้ประเด็นเรื่องของน้ำท่วมกลายเป็นประเด็นทางการเมืองนั่นก็คือ รัฐบาลอาจจะเลือกการแก้ปัญหาในลักษณะของการปฏิบัติการทางการข่าว หรือการตอบโต้ข่าว มากกว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมจริงๆ

เช่นการสร้างคำนิยามใหม่ๆ ว่า ไม่ใช่น้ำท่วม แต่เป็นน้ำรอการระบาย

หรือไม่ใช่น้ำท่วม แต่เป็นระดับน้ำที่สูงขึ้น

หรือแม้ว่าจะมีน้ำท่วม แต่ก็ยังถือว่าต้องเสียสละเพื่อชาติ และให้รอการชดเชย

หรือไม่ใช่ภัยพิบัติ แต่เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง

ถามว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นการแก้ปัญหาในแง่การบริหารจัดการน้ำ หรือเป็นการละเลยต่อปัญหาแล้วพาเอาสังคมเข้าสู่วังวนของการโทษกันไปมา?

ในทางสร้างสรรค์ สิ่งที่เราควรจะทำก็คือ เรื่องของการตั้งคำถามว่า น้ำรอการระบายนั้นจะระบายออกไปได้ภายในกี่วัน อะไรทำให้การระบายน้ำไม่เป็นผล มีการสร้างการกีดขวางทางน้ำไหม

หรือเมืองนั่นแหละที่กีดขวางทางน้ำ น้ำจึงระบายไม่ได้ หรือน้ำจึงระบายไปในทางนั้นไม่ได้

 

ประเด็นที่สาม เรื่องที่ควรจะพิจารณาควบคู่ไปกับน้ำท่วมนั้นก็คือ ไม่ควรจะดูที่ปริมาณน้ำอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาไปที่ “ความเปราะบาง” (vulnerability) ของผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย ว่าน้ำท่วมนั้นใครเปราะบางกันในรูปแบบไหน

บ้างก็ทรัพย์สินจะเสียหาย บ้างก็อาจจะถูกไล่รื้อจากพื้นที่เลย เพราะพื้นที่ที่เขาอยู่นั้นเขาอาจจะไม่ได้มีเอกสารสิทธิ หรือบางคนอาจจะหมดตัวจากพืชพันธุ์ที่เขาเพาะปลูก

เรื่องที่ผมเล่านี้มันต้องย้อนกลับไปที่ประเด็นแรกนั่นแหละครับ ก็คือเรื่องของความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศ ซึ่งในวันนี้เราไม่ได้เข้าใจเฉพาะในรูปแบบของสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่เราพยายามค้นหาแบบแผนความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ที่ศัพท์หรูๆ เรียกว่า climate change นั่นแหละครับ สิ่งเหล่านี้ใช่ว่าเราจะไม่รู้เสียเลย แต่ว่าเราต้องกล้ายอมรับว่าในการคำนวณสิ่งที่จะเกิดขึ้น เราก็ต้องฟังจากหลายๆ ฝ่าย และการเตรียมการสำรวจและป้องกันภัยโดยภาคส่วนอื่นๆ นอกภาครัฐในช่วงเตรียมการรับมือให้ดี

ในวงวิชาการมีความเข้าใจพื้นฐานง่ายๆ ว่า ความเปราะบางนั้นคือผลรวมขององค์ประกอบสามประการ

หนึ่งคือ การเผชิญหน้ากับความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ ทั้งในส่วนของทรัยพ์สินและผู้คน

สองคือ ความสามารถในการต้านทานต่อภัยพิบัติ เช่น ความสามารถในการป้องกัน การหลีกเลี่ยง และ การลดความเสียหาย

สามคือ ความสามารถในการฟื้นตัวหลังจากเกิดภัยพิบัติ

การประเมินความเปราะบางของแต่ละพื้นที่และกลุ่มผู้คนในพื้นที่ที่มีต่อภัยพิบัติ โดยเฉพาะน้ำท่วมนั้นก็จะวางอยู่บนสิ่งนี้ด้วยครับ (ดูงานของ Wittaya Duangthima and Hokao Kazunori. 2013. “Assessing the Flood Impacts and the Cultural Prooperties Vulnerabilities in Ayutthaya, Thailand.” Procedia Environmental Sciences. 17.)

ที่พูดมาเช่นนี้ใช่ว่าจะมองว่ารัฐบาลไม่สนใจคนในพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่ เราจะเห็นว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญในเรื่องของการสั่งการเมื่อเกิดภัยพิบัติแล้ว และการชดเชย ซ่อมแซม ภายหลังภัยพิบัติ

ขณะที่ภาคเอกชนและสังคมก็จะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์กับผู้คน

สิ่งที่เป็นประเด็นท้าทายก็คือ คำว่า “รับมือ” นั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับการเตรียมการก่อนที่ภัยพิบัติจะเกิด โดยเฉพาะในมุมมองของชุมชนและประชาสังคม โดยเฉพาะกับสื่อมวลชนต่างๆ

สื่อจะต้องทำการลงพื้นที่ ตรวจสอบและช่วยให้ชุมชนและประชาสังคมได้มีโอกาสส่งเสียงตั้งแต่ต้น และตั้งคำถามกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย ไม่ใช่ทำหน้าที่แค่ถ่ายทอดคำแก้ตัวของรัฐบาล หรือข้อกล่าวหาทางการเมืองของทุกๆ ฝ่าย

สังคมและสื่อต้องร่วมกันค้นหาและร่วมประเมินความเปราะบางของพื้นที่และผู้คน ไม่ใช่สนใจแต่ปริมาณระดับน้ำที่ประกาศโดยหน่วยงานรัฐ และประกาศการเตือนภัยของรัฐ ซึ่งโดยทั่วไปนั้น การเตือนภัยของรัฐมักจะออกมาในลักษณะนาทีสุดท้าย มากกว่านาทีแรก

ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจได้ยาก เพราะโดยลักษณะของรัฐนั้นจะต้องประสานงานจากหลายฝ่าย และจะต้องคำนึงถึงความแน่นอนมากกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้น อาจเป็นไปได้ว่าโดยธรรมชาติของรัฐอาจจะไม่สามารถทำงานในลักษณะของขั้นตอนการเตือนภัยได้ดีที่สุด แต่อาจจะทำงานได้ดีในขั้นตอนการรับมือเมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้ว ในฐานะเอกภาพของการบังคับบัญชา ในกรณีที่ข้อมูลข่าวสารนั้นเที่ยงตรง และมีความร่วมมือร่วมใจจากสังคม

ขณะที่สังคมเองอาจจะมีความเหมาะสมในแง่ของการเตรียมการรับมือในขั้นของการเตือนภัยได้ดีกว่า เพราะใกล้ชิดกับพื้นที่มากกว่า และอาจจะทำงานได้ดี ถ้าเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐที่เก็บรวบรวมข้อมูลของความซับซ้อน ก็จะได้เข้าใจความเชื่อมโยงของความเปราะบางกับความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศได้ดี

ผมเขียนมาถึงตรงนี้ผมต้องยอมรับว่าผมได้สร้างความผิดหวังให้กับท่านผู้อ่านที่เชื่อว่าคำตอบของการแก้ปัญหาน้ำท่วมของอยุธยานั้นน่าจะออกมาง่ายๆ

ผมคิดว่าเราต้องพยายามทำความเข้าใจทั้งความสำคัญและความเปราะบางของอยุธยาให้มากกว่าการเป็นพื้นที่ที่ประสบภัย โดยเฉพาะเราต้องมีความเข้าใจว่าน้ำกับอยุธยานั้นเป็นของคู่กัน

ในอดีตนั้นน้ำมีทั้งคุณและโทษต่ออยุธยาในฐานะราชธานี ทั้งการเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่สร้างความมั่งคั่งและเป็นเสบียงให้กับตัวเมือง อีกทั้งเป็นตัวช่วยสำคัญเมื่อทัพพม่ามาล้อมกรุง

แต่ในวันนี้ น้ำท่วมอาจไม่ใช่ตัวช่วยของอยุธยา แต่อาจจะเป็นศัตรูของอยุธยาเสียเอง และการแก้ปัญหาของชาวบ้านในแง่ของการขุดคลองอย่างในอดีตคงไม่ง่ายนัก

ความขัดแย้งที่อยุธยามีในวันนี้ อาจมีทั้งความขัดแย้งภายในอยุธยาเอง ระหว่างชุมชนที่หลากหลาย ทั้งบ้านจัดสรร ทุ่งนา พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นมรดกโลก วัดวาอาราม และโรงงานอุตสาหกรรม

ภาพข่าวอยุธยามีแต่ภาพน้ำท่วมพื้นที่แต่ละจุด แต่เราไม่มีภาพผังเมืองอยุธยา และภาพตัวเมืองและตัวจังหวัดอยุธยา และไม่ได้มีภาพของผู้คนที่หลากหลายในอยุธยา ว่าเขาจะมีส่วนในการสะท้อนปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาอย่างไร

แน่นอนว่ารัฐบาลกลางและภูมิภาคย่อมมีความมุ่งมั่นต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่การได้รับฟังเสียงสะท้อนจากผู้คน และทำให้คนทั้งประเทศได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยาในฐานเมืองสำคัญที่เป็นรากเหง้าของพวกเราทุกคนน่าจะเป็นเรื่องใหญ่

และถ้าเรามีอยุธยาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของพวกเราแล้ว ก็น่าจะทำให้เราเข้าใจรากเหง้าของตัวเราเชื่อมโยงกับพื้นที่ภาคกลางของประเทศ ที่หลอมรวมเป็นเครือข่ายกับพระนครศรีอยุธยามาแต่อดีต และจะทำให้เราเข้าใจความทุกข์ร้อนของผู้คนอื่นๆ ที่อยู่พิจิตร อ่างทอง และอีกหลายพื้นที่ในภาคกลางที่กำลังประสบภัยน้ำท่วม น้ำรอการระบาย และระดับน้ำ

นี่คืออีกมรรควิธีหนึ่งที่ไม่ทำให้ประวัติศาสตร์มีแต่อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ และซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้าง

แต่มีวิถีชีวิตของพี่น้องจำนวนมากที่กำลังเผชิญหน้ากับความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ และรับมือกับสิ่งเหล่านี้ด้วยความเปราะบางที่แตกต่างไปจากเรา

นี่คือประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต และเป็นทั้ง “ปัจจุบันของประวัติศาสตร์” ที่ถ้าเราร่วมกันสนใจและรักษาเอาไว้ เราก็จะได้มาซึ่ง “ประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน” ที่งดงาม และครบถ้วน และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีศักดิ์ศรีครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image