เงินหลวงกระเป๋าราษฎร์ โดย วสิษฐ เดชกุญชร

กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางไปประชุมที่เมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 29 กันยายนถึง 1 ตุลาคม 2559 โดยใช้เครื่องบินของบริษัทการบินไทยโดยวิธีเช่าเหมาลำ กลายเป็นข่าวเกรียวกราวขึ้นเมื่อมีผู้กล่าวหาว่าเครื่องบินเครื่องที่เช่านั้นมีขนาดใหญ่สามารถจุผู้โดยสารได้กว่า 400 คน ในขณะที่คณะของ พล.อ.ประวิตรมีจำนวนเพียง 38 คน ยิ่งกว่านั้นค่าเช่าเครื่องบินยังสูงถึงเกือบ 21 ล้านบาท

นอกจากนั้นยังมีผู้ข้องใจด้วยว่าผู้โดยสารที่ร่วมเดินทางไปและกลับกับรองนายกรัฐมนตรีนั้น บางคนไม่น่าจะมีหน้าที่ราชการเกี่ยวข้องกับการประชุมด้วย

เมื่อวันศุกร์ที่ 7 เดือนนี้ (ตุลาคม 2559) นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้แถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ว่าข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบไม่พบว่ามีการทุจริต ผู้โดยสารซึ่งเดินทางไปกับเที่ยวบินนั้น ทั้งขาไป 38 คน และขากลับ 41 คนล้วนเกี่ยวข้องกับภารกิจทั้งสิ้น สำหรับการเสิร์ฟอาหารซึ่งมีไข่คาเวียร์บนเครื่องบินนั้นก็เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัท และจัดให้เฉพาะผู้โดยสารซึ่งนั่งในที่สำหรับวีไอพี 9 คนเท่านั้น ผู้โดยสารคนใดจะรับประทานหรือไม่ก็เป็นไปตามอัธยาศัย สำหรับค่าบริการนั้นบริษัทก็คิดจากต้นทุนตามปกติ บวกกำไรและค่าโสหุ้ยไม่เกินร้อยละ 20 ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้เวลาอีก 2 เดือนเพื่อสรุปค่าใช้จ่ายนั้นก็เพราะต้องใช้เวลาในการวางบิล เช่นค่าอาหารและค่าน้ำมันขากลับจากฮาวายก็ต้องขอข้อมูลจากปลายทางก่อน แต่ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าน้ำมัน และค่าอาหาร ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเสนอราคาทั่วไปของบริษัทการบินไทยในการให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐ และราคาก็ไม่ได้สูงเกินไปหากเทียบกับอัตราค่าบริการของสายการบินชั้นนำทั่วโลก

ส่วนกำไรที่บริษัทการบินไทยได้รับนั้น ผู้ว่าการ สตง.จะเสนอข้อเท็จจริงทั้งหมดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) วินิจฉัยว่าเหมาะสมหรือไม่

Advertisement

ผมไม่ข้องใจสงสัยว่าการเดินทางไปยังมลรัฐฮาวายของ พล.อ.ประวิตรและคณะนั้นเป็นราชการ แต่ผมข้องใจเพราะว่าการเช่าเครื่องบินของบริษัทการบินไทยนั้น รองนายกรัฐมนตรีเลือกเช่าเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่เกินไปจึงมีค่าใช้จ่ายสูง และถ้าจะอ้างว่าหากต้องใช้เครื่องบินขนาดเล็กจะไม่สามารถบินตรงไปยังฮาวายได้และจะต้องแวะลงเติมน้ำมันกลางทาง ก็ควรคิดว่าถ้ารองนายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางด้วยเครื่องบินขนาดเล็ก แม้จะต้องเสียเวลาแวะเติมน้ำมันกลางทาง แต่ค่าโดยสารก็จะถูกกว่า และจะทำให้เปลืองเงินของทางราชการน้อยกว่านั้น

กรณีการเดินทางไปราชการของ พล.อ.ประวิตรเป็นอุทาหรณ์และควรทำให้ตระหนักว่า สมัยนี้พฤติการณ์ของข้าราชการทั้งน้อยและใหญ่รวมทั้งการใช้เงินหลวงเป็นสิ่งที่ประชาชนสนใจและจับตาดูอยู่ตลอดเวลา และเป็นข่าวที่ไม่สามารถจะปกปิดได้ เพราะฉะนั้น ข้าราชการจึงจะต้องระมัดระวัง ไม่ประมาทเลินเล่อ โดยเฉพาะการใช้เงินหลวงนั้นต้องกระทำโดยมีการวางแผนที่รัดกุม ไม่คำนึงถึงแต่ความสะดวกสบายของตน ที่สำคัญ ต้องใช้เงินหลวงอย่างประหยัดและโปร่งใส เพราะเงินหลวงนั้นได้มาจากภาษีอากรที่ประชาชนเป็นผู้ชำระ

ในส่วนของนายกรัฐมนตรีนั้น เมื่อประชาชนมีความข้องใจสงสัยในการใช้เงินหลวงของรองนายกรัฐมนตรี แทนที่จะแสดงความเบื่อหน่ายที่ถูกซักถามและแทนที่จะท้าทายให้ฟ้อง นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของรองนายกรัฐมนตรีก็ควรจะแก้ข้อข้องใจโดยสั่งกำชับอีกชั้นหนึ่งให้มีการตรวจสอบที่โปร่งใสปราศจากข้อเคลือบแคลง แม้จะมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่สอบสวนอยู่แล้วก็ตาม

Advertisement

ผมเห็นใจนายกรัฐมนตรีที่ต้องแบกรับภาระอันหนักหนาและซ้ำซ้อนครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็หวังว่าท่านจะเข้าใจว่าขณะนี้ประชาชนเกือบทั้งประเทศแลไม่เห็นผู้อื่น เห็นแต่ท่านคนเดียวเท่านั้นที่เขาหวังว่าจะเป็นผู้บำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้เขาได้อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image