ตร.จับมือ กทม. คมนาคม วิศวกรรมสถาน ลงพื้นที่รวบรวมปัญหายกเครื่อง”ทางม้าลาย”

“บิ๊กเด่น” พร้อมตัวแทนกทม.-คมนาคม-วิศวกรรมสถาน สำรวจปัญหาทางม้าลาย พร้อมยกเครื่อง บอกเป็นตำรวจต้องอดทนต่อความเจ็บใจ รู้ประชาชนคาดหวังสูง ผิดพลาดแล้วต้องแก้ไข

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 26 มกราคม พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.,พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผบช.น.,พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร.,พล.อ.ต.นพ.อิทธิพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา, คณะผู้บริหารสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์, สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร, นายสุจิณ มั่งนิมิตร ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยคมนาคม,กระทรวงคมนาคม, นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงสำรวจพื้นที่ทางม้าลายตั้งแต่บริเวณแยกพญาไท ไปจนถึงหน้าสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เพื่อรวบรวมข้อมูลในการสร้างความปลอดภัยทางถนนและการบังคับใช้กฎหมาย หลังเกิดอุบัติเหตุ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ตำรวจควบคุมฝูงชนขี่บิ๊กไบค์ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย จนเสียชีวิต

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อหาจุดอ่อนในบริเวณนี้ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ตอนนี้ยังไม่ฟันธงว่าจะทำอะไรก่อน แต่ขอให้ กทม.กับตำรวจนครบาล ได้หารือกัน ซึ่งในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมสองครั้ง คือในวันพรุ่งนี้ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ของคณะกรรมการนโยบายการป้องกันอุบัติเหตุทางท้องถนน โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และในวันที่ 28 มกราคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเป็นการประชุมระหว่าง กทม. กระทรวงคมนาคม และหน่วยเกี่ยวข้องเพื่อหารือการวางมาตรฐานการดูแลทางม้าลายทั่วประเทศให้เกิดความปลอดภัยในระยะยาว รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับกรุงเทพฯ จะมีการติดตั้งเครื่องหมายสัญญาณไฟทางม้าลาย รวมถึงกล้องตรวจจับ ส่วนที่ต่างจังหวัด จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมกับท้องถิ่น พร้อมจะประเมินว่า ถ้าจุดไหนไม่มีมาตรฐานต้องปรับปรุงอย่างไร จุดไหนไม่เหมาะสมหรือมีความเสี่ยงมากก็จะยกเลิกหรือปรับย้ายทางม้าลายออกไป แต่ก็ต้องสอบถามกับโรงพยาบาลสถาบันไตฯ ในฐานะผู้ใช้ว่ามีความเห็นอย่างไรบ้าง โดยจะเชิญไปร่วมประชุมด้วย

Advertisement

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบจุดเกิดเหตุพบว่าไม่มีสัญญาณไฟเตือนทางม้าลาย เนื่องจากอยู่ใกล้แยกพญาไท เมื่อมีรถเลี้ยวซ้ายเข้ามาจะเร่งความเร็วทำให้รถที่อยู่เลนขวาสุด อาจถูกรถทางซ้ายทั้งสองเลนบังจนไม่เห็นคนข้าม ยอมรับว่า จากการที่เดินข้ามทางม้าลายด้วยตัวเองก็มีความกังวล เพราะมีข่าวออกมา ก็ยิ่งกังวลเป็นธรรมดา ยิ่งได้มาลงพื้นที่เองก็จะทำให้ดีที่สุด

รอง ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า สำหรับสัญญาณไฟจราจรที่แยกรัชโยธินแสดงสัญญาณไฟเขียวคนข้ามพร้อมกับการเดินรถนั้น ก็จะต้องปรับปรุงในภาพรวม ซึ่งมาตรการป้องกันในเบื้องต้น เช่น การติดตั้งป้ายกำหนดความเร็วก่อนถึงทางม้าลายไม่ให้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือป้ายชะลอความเร็ว รวมถึงการเพิ่มไฟส่องสว่างให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะนำเคสหมอกระต่ายเป็นบทเรียนในการพัฒนาทางม้าลายให้ดียิ่งขึ้น

“ผบ.ตร.กำชับกำลังพลมาตลอดว่าหากทำอะไรผิดจะโดนกระแสสังคมโจมตีหนักเป็นสองเท่า จึงได้กำชับให้ตำรวจนครบาลทำคดีอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการยกเว้น และตอนนี้กำลังพิสูจน์ความเร็วของรถว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หากทราบแล้วจะแจ้งข้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการใช้ความเร็ว ยอมรับว่าการบังคับใช้กฎหมายมีจุดอ่อนเมื่อเกิดเหตุขึ้นก็ต้องเอาบทเรียนมาใช้ในการแก้ไขให้ดีที่สุด ที่ผ่านมามีนโยบายการแก้ไขปัญหาจราจรมาตั้งแต่ปี 2562 โดยสั่งเพิ่มอัตราโทษในการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร จากปรับไม่เกิน 1,000 บาทเป็นไม่เกิน 4,000 บาท ซึ่งกฎหมายอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภา คาดว่าจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งนอกจากการเพิ่มอัตราโทษแล้ว จะมีการตัดคะแนนจราจรเพิ่มสูงขึ้น” รอง ผบ.ตร.กล่าว

พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กล่าวถึงกรณีมีการแชร์ข้อความในไลน์กลุ่มแจ้งข่าวตำรวจนครบาลในลักษณะที่ตำรวจน้อยใจเนื่องจากสังคมไม่วิจารณ์กรณีเสี่ยเบนซ์ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตแล้วไปบวชนั้น มองว่าการที่ผู้กระทำผิดสำนึกผิดเป็นเรื่องดีเพราะขี่โดยประมาทไม่มีเจตนา ซึ่งจากการสอบสวนเบื้องต้นทราบว่า ส.ต.ต.นรวิชญ์ ขี่มาจากทางแยกด้วยความเร็วและโดนรถบังทางซ้าย ซึ่งเมื่อเกิดเหตุเจ้าตัวก็เสียใจต้องการจะไถ่โทษให้กับผู้เสียชีวิต แม้ว่าไม่สามารถทำให้หมอกระต่ายฟื้นกลับมาได้ ก็ถือเป็นการแสดงออกให้สังคมเห็นว่าสำนึกผิด

“จริงๆ ตำรวจก็ถูกต่อว่ามาตลอดหลายเรื่อง เป็นตำรวจก็ต้องอดทนต่อความเจ็บใจและเข้าใจว่าประชาชนคาดหวังกับตำรวจสูงอะไรที่ผิดพลาดก็ต้องยอมรับและแก้ไข เพราะกำลังพลตำรวจมีถึง 200,000 นาย คงไม่สามารถจะทำให้เรียบร้อยได้ทุกเรื่อง หากมีตำรวจไม่ดีก็จะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่าการโอนรถลอยผิดกฎหมายหรือไม่ ทั้งในกรณี ส.ต.ต.นรวิชญ์ และประชาชนทั่วไป พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า จะต้องตรวจสอบประวัติว่ามีเจตนาที่จะไม่จดทะเบียนหรือไม่ประกอบกับข้อกฎหมาย และจะต้องหารือในที่ประชุมทั้งสองนัดว่าจะปรับแนวทางหรือการทำงานและการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ร.บ.จราจร ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร โดยบางข้อได้แก้ไขไปแล้ว แต่ในบางเรื่องก็ต้องมาช่วยบูรณาการร่วมกันซึ่งเชื่อว่ากรณีนี้จะทำให้การทำงานระหว่างหน่วยต่างๆ ดียิ่งขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image