“บิ๊กโจ๊ก”สรุปผลจัดระเบียบประมงผิดกม. เดินหน้ารื้อคดีลูกเรือตกน้ำ ลั่นจนท.รัฐใครเอี่ยวดำเนินคดีหมด

เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ห้องประชุมพะยูน อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะ ประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แถลงสรุปผลความคืบหน้าการดำเนินการจัดระเบียบประมงผิดกฎหมาย แยกน้ำดีน้ำเสีย ภายหลังที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเข้ามาทำหน้าที่ โดยมีผลดำเนินการ

1.จับกุมเรือประมงสัญชาติมาเลเซียแอบอ้างเป็นสัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน 5 ลำเข้ามาซ่อมบำรุงที่ จ.สงขลา ฝ่าฝืนคำสั่งรัฐบาลมาเลเซีย ปิดบังอำพรางสัญชาติเรือ ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ศุลกากร สามารถจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี รวมทั้งส่วนของเจ้าของอู่ เจ้าของเรือ นายหน้า ลูกเรือ เรียบร้อยหมดแล้ว กำลังขยายผลสู่เจ้าหน้าที่ของรัฐ

2.ตรวจสอบเรือประมงที่ขอปิดสัญญาณระบบติดตามเรือชั่วคราว (VMS) ซึ่งต้องแจ้งจุดจอดต่อเจ้าหน้าที่ จำนวน 620 ลำ พบการกระทำความผิด 3 คดี 2.1เรือโนรีนาวา สลับลำกับ เรือศุภประภานำโชค (สวมเรือ ฟอกเรือ) 2.2 เรือ ป.พิพัฒน์ 1 ขนาด 43.18 ตันกรอส และเรือสิงห์ทอง 3 ขนาด 53.96 ตันกรอส ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าได้ยกเลิกการงดใช้เรือจากกรมเจ้าท่า ซึ่งทำให้ต้องเปิด VMS ฝ่าฝืน พ.ร.ก.การประมงฯ มาตรา 81 มีโทษตามมาตรา 151 ปรับ 200,000 บาท คณะทำงานกำลังรวบรวมหลักฐานแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565

3.ตรวจสอบเรือประมงที่สัญญาณ VMS ขาดหายขณะจอดอยู่ในท่าเทียบเรือประมงจำนวน 1,496 ลำ ระหว่างวันที่ 1-18 มกราคม 2565 ซึ่งเรือกลุ่มนี้หากสัญญาณขาดหายเกิน 2 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่จะแจ้งเจ้าของเรือให้มาเขียนแบบแจ้งตำแหน่งที่จอดเรือส่งเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย มีเรือประมงชื่อ ช.สินชัย 3 ขนาด 36.91 ตันกรอส จอดบริเวณ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงให้กรมประมงดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย ฝ่าฝืน พ.ร.ก.การประมงฯ มาตรา 81 มีโทษตามมาตรา 151 ปรับ 200,000 บาท โดยให้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565

Advertisement

4.รื้อฟื้น ตรวจสอบ คดีลูกเรือตกน้ำในรอบปี 2563 – 2564 จำนวน 231 ราย ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นลูกเรือต่างด้าว และคดีไม่มีความก้าวหน้า ไม่สามารถหาคำอธิบายต่อสังคมได้อย่างโปร่งใส โดยให้ดำเนินการให้เป็นรูปธรรมดังนี้ 4.1)จัดส่งชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ศูนย์ PIPO และสถานีตำรวจที่รับแจ้งความ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทางคดี และการดำเนินการของพนักงานสอบสวนภายหลังรับแจ้งความ มีเป้าหมาย ค้นหาความเป็นจริงและข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้เกิดความโปร่งใส นำสู่ตัวผู้กระทำความผิด หรือทราบสาเหตุการตกน้ำสูญหาย และนำข้อมูลไปปรับปรุงการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายและเจ้าของเรือ มิให้เกิดเหตุการณ์นี้ซ้ำซ้อน 4.2)ดำเนินคดีกับเจ้าของเรือประมง 231ลำที่ลูกเรือตกน้ำ และเจ้าของเรือไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554มาตรา 34ที่กำหนดให้เจ้าของเรือต้องแจ้งกรณีเกิดอุบัติภัยร้ายแรง หรือลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงาน เป็นหนังสือต่อพนักงานตรวจความปลอดภัย ภายใน 7 วัน ซึ่งมีโทษปรับสูงสุด 50,000 บาท โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับ โดยให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า “ตามนโยบาย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ มอบหมายให้ตนเป็นประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการทำงานในห้วงที่ผ่านมา มีผลงานที่ดำเนินการเป็นรูปธรรมหลายเรื่อง ทั้งการจับกุมเรือที่ปลอมแปลงสัญชาติ ตรวจสอบเรือประมงที่ขอปิดสัญญาณระบบติดตามเรือชั่วคราว (VMS) ตรวจสอบเรือประมงที่สัญญาณ VMS ขาดหายขณะจอดอยู่ในท่าเทียบเรือประมง และ การรื้อฟื้น ตรวจสอบ คดีลูกเรือตกน้ำในรอบปี 2563 – 2564 จำนวน 231 ราย ตนเข้ามาทำงานตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการให้ไทยปลอดการประมง IUU ทั้งระบบ เจ้าหน้าที่จะไม่ยุ่งกับประมงที่ถูกกฎหมาย แต่จะจัดการกับส่วนที่ผิดกฎหมายซึ่งเชื่อว่าเป็นเพียงส่วนน้อย เป็นมาตรการแยกน้ำดีน้ำเสีย เพื่อผลประโยชน์ของส่วนร่วมตามนโยบายรัฐบาล”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image