“อัยการธนกฤต”ชี้ข้อพร่องพรบ.จราจรฯไม่บังคับรถหยุดรอคนข้ามแต่บังคับคนต้องหยุดรอรถ แนะสังคายนากฏหมาย

“อัยการธนกฤต”ชี้ข้อบกพร่อง พ.ร.บ. จราจรทางบก ไม่บังคับรถให้ต้องหยุดรอคนข้าม แต่บังคับให้คนต้องหยุดรอรถ แนะสังคายนา พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ โทษไหนเบาไปเพิ่มให้สูงขึ้น เพิ่มโทษศาลสั่งพักหรือเพิกถอนใบขับขี่สำหรับความผิดอันตราย เช่น ประมาทชนคนข้ามม้าลาย แก้ไขอัตราโทษขับรถเร็วเกินกำหนดให้ แตกต่างกันตามความเร็วที่เกินและสถานที่ สอดคล้องกับความรุนแรงในการกระทำผิด เหมือน ตปท.

 

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 65 ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุลอัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมาย กรณี ส.ต.ต. ขี่บิ๊กไบค์ชนหมอกระต่าย เรื่องข้อสังเกตเรื่องโทษตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก ว่า

แปลกแต่จริง พ.ร.บ.จราจรทางบก ไม่บังคับรถให้ต้องหยุดรอคนข้าม แต่บังคับให้คนต้องหยุดรอรถ

Advertisement

ตามที่แพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย ถูก ส.ต.ต. นรวิชญ์ บัวดก ขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชนขณะเดินข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต มีข้อวิพากษ์วิจารณ์หลายอย่างตามมา เช่น เป็นเพราะคนไทยไม่มีวินัย เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายไม่จริงจัง สภาพของทางม้าลายข้ามถนนไม่ปลอดภัย โทษตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกเบาเกินไป คนเลยไม่เกรงกลัวกฎหมาย เป็นต้น

นอกจากประเด็นในเรื่องข้างต้นที่ควรนำมาพิจารณาเพื่อแก้ไขและลดปัญหาอุบัติเหตุรถชนคนข้ามถนนแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องข้อบกพร่องของบทบัญญัติใน พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เองในหลายๆ เรื่องอีกด้วย ที่ควรนำมาพิจารณา และเพื่อความกระชับของเนื้อหา ผมจะขอกล่าวถึงเฉพาะประเด็นที่สำคัญเท่านั้น ตามนี้

  1. พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ มาตรา 32 ไม่ได้บังคับให้ผู้ขับขี่ต้องหยุดรถขณะที่มีคนข้ามถนน แต่บัญญัติเพียงว่าให้ผู้ขับขี่รถต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้รถชนคนเดินเท้า ซึ่งรวมถึงคนเดินข้ามถนนในทางม้าลายด้วย และยังบัญญัติให้ผู้ขับขี่รถบีบแตรเตือนคนเดินเท้าที่กำลังข้ามถนนได้ด้วย
  2. ขณะที่ พ.ร.บ. จราจรทางบกไม่บังคับให้ผู้ขับขี่ต้องหยุดรถ ขณะมีคนเดินข้ามถนน แต่มาตรา 106 กลับบัญญัติบังคับให้คนเดินเท้าที่จะข้ามถนน ต้องหยุดรอรถในขณะที่มีสัญญาณจราจรไฟเขียว
  3. บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 22 (4) ที่บัญญัติให้ผู้ขับขี่ต้องให้สิทธิหรือหยุดรถแก่คนเดินเท้าที่กำลังข้ามถนนในทางข้ามก่อน ก็เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับเฉพาะทางข้ามหรือทางม้าลายที่เชื่อมต่อกับบริเวณที่มีสัญญาณไฟจราจรเท่านั้น ไม่ได้ใช้บังคับกับทางข้ามหรือทางม้าลายทั่ว ๆ ไป กรณีทางม้าลายที่หมอกระต่ายข้ามถนนแล้วถูกชน ก็น่าจะเป็นทางข้ามทั่วไปที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับบริเวณที่มีสัญญาณไฟจราจร

หากจะแก้ไขและลดปัญหาอุบัติเหตุรถชนคนข้ามถนนให้ได้ผล การสังคายนาเพื่อปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ด้วยอีกทางหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่ควรจะต้องรีบดำเนินการ นอกจากจะแก้ไขให้มีบทบัญญัติบังคับชัดเจนให้ผู้ขับขี่ต้องหยุดรถให้คนเดินข้ามถนนในทางข้ามหรือทางม้าลาย ไม่ว่าจะเป็นทางข้ามถนนในที่ใด ไม่ใช่เฉพาะทางข้ามตามมาตรา 22 (4) แล้ว ก็ควรที่จะปรับปรุงแก้ไขอัตราโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯให้มีความเหมาะสม โทษใดที่เบาเกินไป ก็ควรที่จะเพิ่มโทษให้สูงขึ้น

Advertisement

สำหรับโทษในเรื่องใดที่ไม่เหมาะสมก็ควรปรับปรุงแก้ไข เช่น กรณีขับขี่รถโดยประมาทชนคนเดินข้ามถนนในทางม้าลาย ขับขี่รถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร ขับขี่รถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ ไม่ได้กำหนดโทษให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ไว้เหมือนกรณีแข่งรถบนถนน เสพยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ขับขี่รถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ทั้งที่ เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นเช่นกัน

จึงควรที่จะมีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ ให้ศาลลงโทษสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่สำหรับความผิดดังกล่าวข้างต้นและความผิดอื่นที่เป็นอันตรายเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ มาตรา 152 กำหนดอัตราโทษสำหรับการขับขี่รถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน และไม่ว่าจะเป็น ณ สถานที่ใด ก็จะมีโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาทเหมือนกัน ซึ่งควรจะกำหนดอัตราโทษที่แตกต่างกันตามความเร็วที่เกินจากอัตราที่กฎหมายกำหนด และตามสถานที่ที่ขับรถเร็วเกินกำหนดด้วยว่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่ออันตรายและอุบัติเหตุมากน้อยอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับความรุนแรงของการกระทำความผิดเช่นเดียวกับในต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image