นักกายภาพบำบัด ระบุ ปัจจัยที่ทำให้การเลิกบุหรี่ไม่สำเร็จคือการดื่มสุราควบคู่ไปด้วย

นักกายภาพบำบัด ระบุ ปัจจัยที่ทำให้การเลิกบุหรี่ไม่สำเร็จคือการดื่มสุราควบคู่ไปด้วย

 

 

 

พระราชบัญญัติวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ. 2547 ระบุว่า “วิชาชีพกายภาพบำบัด เป็นวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจประเมิน การวินิจฉัย และการบำบัดความบกพร่องของร่างกาย ซึ่งเกิดเนื่องจากภาวะของโรคหรือการเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ การป้องกัน การแก้ไขและการฟื้นฟูการเสื่อมสภาพความพิการของร่างกาย รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจ ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด หรือการใช้อุปกรณ์ทางกายภาพบำบัด” ดังนั้น นักกายภาพบำบัด จึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะเข้ามาช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจากการเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะบุหรี่ ที่ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตและเจ็บป่วยอันดับต้น ๆ ของคนไทย

Advertisement

 

 

นางสาวภาวิณี วิไลพันธ์ นักกายภาพบำบัดชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า การทำงานช่วยเลิกบุหรี่ของนักภายภาพบำบัด ได้รับการหนุนเสริมจากเครือข่ายวิชาชีพกายภาพบำบัดเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยนักกายภาพบำบัดจะมีบทบาทเรื่องการช่วยเลิกบุหรี่ โดยจะทำงานทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน ผ่านคลินิกเลิกบุหรี่ของโรงพยาบาลที่จะมีการสอบถามประวัติของผู้สูบบุหรี่ ความต้องการที่จะเลิก หลังจากนั้นจึงส่งต่อมาที่คลินิกกายภาพบำบัด เพื่อทำการรักษาด้วยการกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ รวมถึงการให้คำปรึกษา

ส่วนในชุมชน จะมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ช่วยให้ความรู้ถึงโทษของบุหรี่ และประโยชน์ในการเลิก พร้อมพาเลิกบุหรี่ด้วย แต่หากไม่สามารถเลิกได้นักกายภาพบำบัดจะลงพื้นที่ชุมชน เพื่อให้คำปรึกษา และใช้การกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่ โดยประสานงานกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทำการนัดหมายสัปดาห์ละ 1 ครั้ง พร้อมติดตามผลการเลิกบุหรี่อย่างน้อย 6 เดือน หรือ 1 ปี และหลังจากนั้นจะติดตามเป็นประจำทุก 1 ปี เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ที่เลิกได้หรือผู้ที่กำลังอยากเลิก สามารถเลิกได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

“จำนวนผู้ติดบุหรี่เข้าร่วมโครงการ มีประมาณ 120 คน เลิกได้ประมาณ ร้อยละ 98 และได้ชักชวนผู้ที่เลิกบุหรี่สำเร็จมาช่วยเสริมแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่ต้องการเลิกส่วนคนที่ยังเลิกไม่ได้ก็อยู่ระหว่างการติดตาม พูดคุย และให้กำลังใจ เพราะการเลิกบุหรี่นั้น ในสัปดาห์แรกเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก เพราะหากเลิกได้สำเร็จ ก็จะเลิกได้อย่างถาวร ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ กำลังใจจากคนในครอบครัว จะเป็นส่วนให้การเลิกบุหรี่สำเร็จยิ่งขึ้น” นางสาวภาวิณี กล่าวย้ำ

นางสาวภาวิณี กล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่ทำให้เลิกบุหรี่ไม่สำเร็จ มาจากการเสพสารเสพติดมากกว่า 1 ประเภท เช่น สุรา หรือ สารเสพติดอื่น ๆ จึงทำให้การเลิกบุหรี่ไม่ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มสุราหนัก ซึ่งนักกายภาพจะเข้าไปคุยกับผู้สูบ และชักชวนให้เลิกสุราด้วย แต่ถ้าเลือกที่จะเลิกสูบบุหรี่ แต่หันไปดื่มสุราแทน ยืนยันว่า ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน พร้อมตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จะต้องไม่มีคนสูบบุหรี่ และช่วยให้ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ พร้อมเตรียมขยายความช่วยเหลือไปในเขตพื้นที่อื่น ๆ ทั้งจังหวัด

 

 

ด้านนางขวัญนภา ธรรมสกุล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโก่งธนู กล่าวว่า การสูบบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นชนิดมวน หรือบุหรี่ไฟฟ้า ย่อมส่งผลให้สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ซึ่งหากเลิกได้ก็จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้สูบและคนในครอบครัวดีขึ้น โดยทีมงานกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช ได้เชิญชวนผู้ที่มีความตั้งใจเลิกบุหรี่เข้าร่วมการเลิกบุหรี่ด้วยวิธีการกระตุ้นไฟฟ้า ซึ่งมีประชาชนสนใจประมาณ 15 คน โดยหลังได้รับการกระตุ้นไฟฟ้าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 1 เดือน พบว่า สามารถเลิกบุหรี่ได้ถึง 9 คน หลังจากนั้นได้ติดตามมาอาการอย่างต่อเนื่อง และได้เริ่มชักชวนให้มีการกระจายการเลิกบุหรี่ในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งการดำเนินโครงการในครั้งนี้ ได้มีผู้สูบบุหรี่จากกรุงเทพมหานคร เดินทางเข้ามาขอเลิกบุหรี่ด้วย 3 คน โดยสามารถเลิกได้ทั้งหมด และส่วนใหญ่สามารถเลิกได้อย่างเด็ดขาดมา 3 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีบางคนที่เผลอสูบอยู่บ้าง

“กำลังใจจากครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทำให้ผู้สูบหรี่สามารถเลิกได้สำเร็จ พร้อมเชิญชวนประชาชนเลิกบุหรี่ เพื่อสุขภาพร่างกายของตนเอง โดยสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน และ อสม.ประจำหมู่บ้าน” นางขวัญนภา กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ด้านนายชริน กระจ่างเลิศ ผู้ที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ กล่าวว่า เหตุผลในการตัดสินใจเลิกบุหรี่ เพราะลูกสาวพยายามขอร้องให้เลิก เพราะอยากถ่ายรูปครอบครัวที่พร้อมหน้าพร้อมตาในวันรับปริญญา หลังจากนั้น ตนเองจึงได้เข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่ เพราะไม่สามารถเลิกได้ด้วยตนเอง จึงต้องเข้ากระบวนการกระตุ้นไฟฟ้า 1 ครั้ง และด้วยความตั้งใจของตนเอง ที่ต้องการเลิกบุหรี่เพื่อครอบครัว เป็นของขวัญให้กับลูกในวันสำเร็จการศึกษา จึงทำให้สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ซึ่งหลังจากที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จปรากฏว่าสุขภาพร่างกายแข็งแรงมากขึ้น และตั้งใจจะไม่กลับไปสูบอีก พร้อมเชิญชวนให้ทุกคนเลิกบุหรี่เพื่อประโยชน์กับตนเอง และสุขภาพของคนในครอบครัว

 

ขณะที่ นายพิชัย ทองยอด ผู้ที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ กล่าวว่า สูบบุหรี่มากกว่า 40 ปี ตั้งใจเลิกสูบบุหรี่มาหลายปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนวันที่หลานขอร้องให้เลิกสูบบุหรี่ และกลัวว่าจะเป็นโรคมะเร็ง จึงตั้งใจเลิกอีกครั้ง จนปัจจุบันสามารถเลิกได้อย่างถาวร

สำหรับการเลิกบุหรี่นั้น ได้เข้าสู่กระบวนการกระตุ้นไฟฟ้า 4 ครั้ง ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ก็สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ และทุกครั้งที่รู้สึกอยากสูบบุหรี่ จะใช้วิธีการดื่มน้ำมาก ๆ หรืออมลูกอมก็จะช่วยให้ความอยากสูบลดลง และหลังจากเลิกได้ พบว่าสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นมาก

ส่วนนายบุญเลิศ วัดเรือง ผู้ที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ กล่าวว่า สูบบุหรี่มากว่า 40 ปี เหตุผลในการตัดสินใจเลิก คือ ปัญหาโรคประจำตัว แพทย์จึงแนะนำให้เลิกบุหรี่ และตัดสินใจที่จะเลิกอย่างเด็ดขาด โดยเข้าสู่กระบวนการกระตุ้นไฟฟ้าทั้งหมด 4 ครั้ง ใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ ก็สามารถเลิกได้

“จิตใจที่เข้มแข็ง เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ซึ่งหลังจากเลิกสูบบุหรี่ ได้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น และบรรยากาศในครอบครัวมีความสุขมากขึ้น” นายบุญเลิศ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image