พณ.ประเดิมจับคู่ซื้อขาย กลุ่มอาหารแห่งอนาคต ปลื้มงานแรกทำเงิน 3,450ล้าน

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ ด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยใช้กลยุทธ์ BCG Model หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน Bio Circular Green Economy ในการขับเคลื่อนการส่งออกอาหารไทย โดยมีกลุ่มสินค้าอาหารแห่งอนาคต (Future Food) เป็นสินค้าเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วย อาหารฟังก์ชัน อาหารใหม่ อาหารทางการแพทย์ และอาหารออร์แกนิก  กลุ่มสินค้าดังกล่าว นอกจากจะเป็นไปตามแผนงานและมีโอกาสในการขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน กำลังเป็นที่ต้องการและเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก สอดรับกับนโยบาย “BCG Economy” ของรัฐบาล ทั้งผู้ผลิตและ  ผู้ส่งออกจึงควรให้ความสำคัญในการศึกษาแนวโน้มตลาด และวางแผนในการทำตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น

นางมัลลิกา กล่าวว่า สำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รายงาน ว่ากิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจในรูปแบบออนไลน์ (OBM) ที่กรมจัดขึ้นวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก มีผู้ประกอบการไทยสินค้า BCG กลุ่มอาหารแห่งอนาคต (Future Food) เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเป็นจำนวน กว่า 37 ราย ได้จับคู่เจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อ/ผู้นำเข้า จำนวน 100 บริษัท จาก 32 ประเทศ ทั่วโลก มีการจับคู่เจรจาฯ รวมทั้งสิ้น 359 คู่ โดยประเทศที่ขอจับคู่เจรจามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อินเดีย 2. เมียนมา 3. ญี่ปุ่น 4. เวียดนาม 5. ฟิลิปปินส์ ตามลำดับ และสินค้าที่ได้รับความสนใจมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. เนื้อจากพืช  2. เส้นก๋วยจั๊บ 3. หนังปลาทอดกรอบ เป็นต้น”

นางมัลลิกา กล่าวว่า  การจับคู่เจรจาส่งผลให้เกิดมูลค่าการสั่งซื้อสินค้า BCG กลุ่มอาหารแห่งอนาคต รวมกว่า 3.45 พันล้านบาท นอกจากนี้ จากการประเมินผลการจัดกิจกรรม ผู้นำเข้าต่างประเทศให้ความสนใจสินค้า BCG กลุ่มอาหารแห่งอนาคต ของไทยเป็นอย่างมาก เพราะมีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศไทย มีความต้องการนำเข้าสินค้าใหม่เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ เช่น วีแกน และโปรตีนจากพืช รวมถึงความต้องการสินค้าตามฤดูกาล และการใช้เป็นวัตถุดิบ ของเมนูอาหารไทย ประกอบกับสินค้า BCG กำลังเป็นกระแสนิยมทั่วโลกและมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความตื่นตัวด้านการรักษาสุขภาพ การสร้างภูมิคุ้มกันต่อร่างกาย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงการคำนึงถึง สวัสดิภาพสัตว์ นอกจากนี้ ยังเป็นการยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เนื่องจากมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเพาะปลูกพืชวัตถุดิบ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา ข้าวสาลี เห็ด สาหร่าย และพืชตระกูลถั่วอื่นๆ เข้าสู่อุตสาหกรรมสินค้าเนื้อสัตว์จากพืชอีกด้วย

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การดำเนินโครงการส่งเสริมการขายสินค้าดังกล่าว เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมเจรจาธุรกิจออนไลน์ และนำเสนอสินค้าไปยังกลุ่มผู้ซื้อเป้าหมายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และกรมมีแผนการผลักดันกลุ่มสินค้า BCG กลุ่มอาหารแห่งอนาคต อย่างต่อเนื่องโดยกิจกรรมครั้งต่อไปจะจัดในรูปแบบ Showcase แสดงสินค้าและการเจรจาธุรกิจออนไลน์ ภายในงานแสดงสินค้า THAIFEX – ANUGA ASIA 2022 “The Hybrid Edition” ระหว่างวันที่ 24- 28 พฤษภาคม 2565

Advertisement

“คาดหวังได้ว่าสินค้าไทยจะสามารถส่งออกไปจำหน่ายในตลาดประเทศเป้าหมาย  จึงขอแนะนำให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกควรให้ความสำคัญในการศึกษาแนวโน้มตลาด ปรับตัวรับกับสถานการณ์โลก และลงทุนและเน้นการวิจัยและพัฒนาสินค้าของบริษัท โดยแสวงหาผลผลิตทางการเกษตรเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอาหารแห่งอนาคต ลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบ ส่วนประกอบนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย และควรวางแผนในการทำตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ต่อไปในอนาคต”  นายภูสิต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image