ดีป้า เปิดหลักสูตร Smart City Leadership Program หนุนเมืองอัจฉริยะเกิดจริงตามแผน

ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า เมืองอัจฉริยะเป็นวาระแห่งชาติและอยู่ในหมุดหมายที่ 8 ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (ปี 2566-2570) ซึ่งทุกเมืองในประเทศไทยมีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะตามแนวทางของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีดีป้าเป็นเลขานุการ โดยมีกลไกสนับสนุนจากภาครัฐและแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลแก่ภาคเอกชน และการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้นำเมืองและประชาชนไปพร้อมๆกัน และเพื่อให้มีแนวทางที่ชัดเจนคณะกรรมการขับเคลื่อนฯได้กำหนดนิยามคำว่าเมืองอัจฉริยะว่า หมายถึง เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดีและการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน และแบ่งประเภทของการพัฒนาครอบคลุม 7 ด้าน ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)

ทั้งนี้ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มีภารกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และ ดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองท้องถิ่นให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถนำองค์ความรู้และทักษะด้านดิจิทัลไปปรับใช้ให้เกิด
ประโยชน์ต่อองค์กร สังคมและเศรษฐกิจ ตามบริบทของเมืองอัจฉริยะ และเพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ในการนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับบริษัท โนเนม ไอเอ็มซี จำกัด ได้ร่วมจัดอบรม หลักสูตรผู้นำการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ (Smart City Leadership Program: SCL) รุ่นที่ 1 ให้ผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในส่วนกลางและภูมิภาค โดยโครงสร้างเนื้อหาหลักสูตรครอบคลุมแนวทางการสร้างโครงการเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ประเทศไทย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกมิติทั้งบริบทภาครัฐและเอกชน รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ได้แก่

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

Module 1: ความเข้าใจเบื้องต้น โครงการเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ประเทศไทย (Smart City Thailand Essentials) Module 2: การจัดทำแผนเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ด้วยวิธีการคิดเชิงออกแบบ และแผนภาพโครงการธุรกิจ (Design Thinking and Business Model Canvas for Smart City Promotion) Module 3: ความรู้ขั้นสูงเรื่องการออกแบบและพัฒนาเมือง (Advanced Knowledge in Smart City Design and Development) Module 4: การส่งเสริม สนับสนุนและให้ความรู้การจัดทำโครงการพัฒนาโครงการนำร่องเมืองอัจฉริยะในพื้นที่จริง (Smart City Project Piloting and Mentoring) Module 5: การศึกษาดูงานโครงการเมืองอัจฉริยะในประเทศ (Smart City Best Practice Study Visit and On-Site Workshop with Experts)

ระยะเวลาการอบรมเป็นหลักสูตรระยะสั้น 6 วัน ระหว่างวันที่ 11-26 พฤษภาคมนี้ สัปดาห์ละ 2 วัน รวม 36 ชั่วโมง มีรูปแบบการอบรม Hybrid ทั้งรูปแบบออนไลน์ และ ออฟไลน์ รวมทั้งการดูงานถอดแบบการเรียนรู้จากองค์กรในประเทศ อาทิ Microsoft, Huawei Thailand, Future Tales Lab , Samyan Smart City โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิกว่า 20 คน เช่น คุณภุชพงค์ โนดไธสง, ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์, คุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ, ดร.ชาลี วรกุลพิพัฒน์, ดร.สันติสุข ลิ้มปีติเจริญโชติ, ดร.รพีสุภา หวังเจริญรุ่ง, ดร.พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณ์ เป็นต้น ทั้งนี้เปิดรับสมัครแล้วจนถึงวันที่ 1 เมษายนนี้ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดทาง https://www.depa.or.th/th/article-view/smart-city-leadership-program-1

ADVERTISMENT

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image