อคส.ขยายธุรกิจต่างประเทศ นำร่องเมียนมา ผุดคลังสินค้า-จัดหาวัตถุดิบ

นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า(อคส.) เปิดเผยว่า ทางอคส. ลงนามบันทึกความเข้าใจ( MOU) กับบริษัท MAHA SHWE NGWE (MSN) ของเมียนมา เพื่อหาช่องทางร่วมลงทุนสร้างคลังกระจายสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มศักยภาพการแข่งขันภาคเอกชนไทย พร้อมดันยอดส่งออกและแก้ปัญหาการค้าชายแดนช่วงสถานะการณ์โรคระบาด โควิด-19 รวมถึงรองรับแพลตฟอร์มออนไลน์ ในตลาดประเทศเมียนมา นอกจากนี้ ยังวางแผนการร่วมมือส่งเสริมการปลูกถั่วเหลือง ซึ่งประเทศไทยต้องนำเข้ากว่า 2 ล้านตันต่อปี และ กากถั่วเหลืองสำหรับผลิตอาหารสัตว์อีกกว่า 2 ล้านตันต่อปีเช่นกันจากกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางวัตถุดิบการเกษตรและไม่ซ้ำซ้อนแข่งขันกันเองกับประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีผลผลิตถั่วเหลืองน้อยมากไม่ถึง 0.1 ล้านตันต่อปี เพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยในการปลูกเมื่อเทียบกับประเทศเมียนมาร์

” เมียนมา ถือเป็นประเทศแรกที่เกิดความร่วมมือดังกล่าว และเป็นการขยายสาขาคลังสินค้าในต่างประเทศ เป็นแห่งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้ง อคส. ในปี 2498 ซึ่ง อคส. ยังอยู่ระหว่างการเจรจาในประเทศอื่นๆ ซึ่ง จะสนับสนุนให้มีการส่งสินค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้นเป็นรูปแบบ Just-in-Time สร้างความได้เปรียบและแตกต่างจากประเทศคู่แข่งให้เอกชนไทย โดยก่อนหน้านี้ที่มีการหารือ อาทิ จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศอาหรับ แต่ยังติดในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด จึงอยู่ในขั้นตอนเจรจา ”

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อคส. ยังมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นหน่วยงานภายในซึ่งสนับสนุนภาระกิจของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมามีงบประมาณใช้สอยอย่างจำกัด แต่ในทางตรงกันข้ามมีภาระกิจที่จะต้องสร้างยอดการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกๆปี โดยการส่งออกทั้งปี 2564 ขยายตัว 17.14% สูงสุดในรอบ 11 ปี ทะลุเป้าหมาย คิดเป็นมูลค่ารวม 2.71 แสนล้านเหรียญสหรัฐและล่าสุดตัวเลขส่งออกเดือนมกราคม 2565 ขยายตัว 8% มูลค่า 708,312 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การขับเคลื่อนของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยภายใต้ยุทธศาสตร์ “แก้มลิง++” ของ อคส. จะดำเนินแผนการเพิ่มจำนวนสาขาขององค์การคลังสินค้าทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะสวนทางกับข้อเท็จจริงที่ อคส. ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่อยู่ดำเนินการ คือ คลังราษฎร์บูรณะ เป็นเรือธงหลักของ อคส. อยู่ในระหว่างขอขยายใบอนุญาติห้องเย็น หากได้รับการอนุมัติและสร้างเต็มพื้นที่จะสามารถรองรับได้กว่า 50,000 ตันและพลิกฟื้นฐานะ อคส. ให้กลับมามีกำไรอย่างมั่นคงได้ รวมทั้งยังสร้างเม็ดเงินลงทุนต่อเนื่องให้ อคส. ได้มากกว่า 8,000 ล้านบาท จากการทำ securitization (แปลงสินทรัพย์เป็นทุน) ของคลังราษฎร์บูรณะเมื่อสร้างเต็มพื้นที่

Advertisement

นอกจากนี้ แม้ประสบปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 มากว่า 7 เดือนในปี 2564 แต่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่ อคส. สามารถเพิ่มสาขาได้ เช่น คลังข้าวลพบุรี พบที่ดินของธนารักษ์ 22 ไร่ สามารถสร้างโรงอบ โรงสี โรงแป้งข้าวเจ้าได้ ซึ่งจะบรรลุเป้าหมาย ชาวนาปลูกข้าวขายแป้งจากข้อเท็จจริง ข้าวสาร ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม แต่แป้งข้าวเจ้าราคา 30 บาทต่อกิโลกรัม เป็นการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ สร้างความมั่นคงในอาชีพให้แก่ชาวนากว่า 10,705 ครอบครัว บนพื้นที่กว่า 233,796 ไร่ ลดภาระงบประมาณได้กว่า 700 ล้านบาทต่อปี และยังลดภาระการลงทุนของภาคเอกชนอีกทางหนึ่ง รวมถึงแผนการเพิ่มสาขาของ อคส ในภูมิภาคอื่นๆ เช่น คลังแพะ(กระบี่) คลังวัว(สุรินทร์) คลังอาหารทะเล(อุดรธานี) เป็นต้น รวมถึงพัฒนาทรัพย์สินเดิมของ อคส เช่นการพัฒนาคลังธนบุรี คลังปากช่องและคลังบัวใหญ่ ให้สามารถสร้างผลตอบแทนอย่างเต็มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวจะเตรียมนำเสนอคณะกรรมการ อคส เพื่อพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุนทุกโครงการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image