ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เมื่อฝรั่งเศสและอียูผงาดสร้างกลไกพหุภาคี

การประชุมรัฐมนตรีเกี่ยวกับความร่วมมืออินโด-แปซิฟิก จากกว่า 40 ประเทศ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับบทบาทของประเทศฝรั่งเศสภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอีก 26 ประเทศ ในการผลักดันการสร้างกลไกพหุภาคีเพื่อปรับสมดุลอำนาจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ยุทธศาสตร์ใหม่ของฝรั่งเศสนี้เกิดขึ้นหลังประธานาธิบดีมาครงประกาศนโยบายอินโด-แปซิฟิกในต้นปี 2561 บนพื้นฐาน 4 หลักใหญ่ๆ ได้แก่ ความมั่นคงและการปกป้องทางการทหาร เศรษฐกิจ สร้างหลักความร่วมมือแบบพหุภาคีและปฏิเสธการบีบคั้นบังคับจากชาติมหาอำนาจ และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่ยั่งยืน ลดภาวะโลกร้อน และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

ประธานาธิบดีมาครงเขียนในเอกสารยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เนื่องในโอกาสการเปิดงานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกว่า 40 ชาติเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ว่า ความร่วมมือระหว่างในประเทศภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกได้ถูกยกสู่ระดับความร่วมมือที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน (unpredecented levels of cooperation)

“พวกท่านสามารถมั่นใจในพันธสัญญาอย่างเต็มเปี่ยมของฝรั่งเศสได้ เราจะแสดงบทบาทอย่างเต็มที่ในการมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับพื้นที่ใหม่ทางยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งอยู่ในใจกลางของความท้าทายระดับโลก”

Advertisement

ในประเทศกลุ่มอาเซียนนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศหลายชาติได้มาร่วมด้วยตนเอง จากกัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย

ในการประชุมนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการต่างประเทศของไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย กับรัฐมนตรีกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส นายฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง (Jean-Yves Le Drian) ได้ลงนามในแผนการ (Road Map) ปี 2565-2567 สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทย เพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผ่านการผลักดันโครงการทวิภาคีต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมในช่วงสามปีข้างหน้า

เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย นายตีแยรี มาตู (Thierry Mathou) ผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งที่กรุงเทพฯเมื่อกลางปีที่แล้ว ให้สัมภาษณ์มติชนภายหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศว่า “ภายใต้ยุทธศาสตร์กรอบมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ประเทศไทยมียุทธศาสตร์เป็นของตนเอง ยุทธศาสตร์นี้มีความใกล้เคียงสอดคล้องมากกับยุทธศาสตร์ฝรั่งเศสและยุทธศาสตร์สหภาพยุโรป คนไทยทั่วไปสามารถได้รับผลประโยชน์มากมายจากจุดเชื่อมต่างๆ ของยุทธศาสตร์ทั้งสามนี้” (ดูสัมภาษณ์ท่านทูตมาตูในล้อมกรอบ)

Advertisement

ในที่สุดรัฐบาลฝรั่งเศสได้โอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศหลังสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด-19 เริ่มควบคุมได้ กอปรกับ 6 เดือนแรกของปี 2565 ฝรั่งเศสรับหน้าที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปซึ่งสลับเวียนกับระหว่างประเทศสมาชิกอียูทั้ง 27 ชาติ แถมการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีขึ้นในอีกไม่ถึงสองเดือนข้างหน้า ในเดือนเมษายนนี้ จึงเป็นโอกาสดียิ่งที่ฝรั่งเศสและประธานธิบดีมาครงจะแสดงทั้งวิสัยทัศน์และศักยภาพ

ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ ฝรั่งเศสต้องการเห็นภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเป็นพื้นที่เปิด ไม่ตกอยู่ภายใต้การกดดันบังคับของชาติใด เคารพในกฎหมายระหว่างประเทศ หลักพหุภาคี และเคารพในสิทธิมนุษยชน

นายฌอง-อีฟ เลอ ดริยอง กล่าวในฐานะเจ้าภาพการประชุม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่า นี่เป็นก้าวใหญ่ก้าวแรกที่สำคัญในการกำหนดสร้างอนาคตอันสันติและพหุภาคีในภูมิภาค ต่างจากโลกสองขั้ว ซึ่งเราขยับเขยื้อนไม่ได้

ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกรวมประเทศตั้งแต่แอฟริกาใต้ ไล่ขึ้นไปทางประเทศในทวีปแอฟริกาที่ติดมหาสมุทรอินเดียฝั่งตะวันตกไล่ผ่านไปถึงอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิกที่รวมถึงหมู่เกาะเฟรนช์โพลินีเชีย กระนั้นก็ตาม ยุทธศาสตร์นี้ไม่รวมประเทศจีน เรื่องนี้ นายโจเซฟ บอเรล (Josep Borrel) ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้าน การต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงกล่าวในวันประชุมที่กรุงปารีสว่า นโยบายอินโด-แปซิฟิก “ไม่ได้ต้านจีน” แต่ก็เสริมว่า “พันธมิตรระหว่างรัสเซียกับจีนท้าทายการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ”

แม้ฝรั่งเศสจะเป็นชาติยุโรปที่สำคัญและมีประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่ฝรั่งเศสก็มองว่าตนเป็นชาติแปซิฟิกเช่นกัน เพราะมีดินแดนในภูมิภาคแปซิฟิก เช่น บรรดาหมู่เกาะเฟรนช์โพลินีเซีย และมีประชากรรวมถึงทหารอาศัยอยู่ในภูมิภาคไม่น้อย กล่าวคือ มีผู้ถือสัญชาติฝรั่งเศสในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกถึง 1.65 ล้านคน และการค้ากับประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมีขนาดใหญ่ถึงหนึ่งในสามของการค้าของฝรั่งเศสนอกเขตอียู
และเติบโตถึง 49% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ในระดับอียูนั้น ตอนนี้เป็นโอกาสดียิ่งที่ประธานาธิบดีมาครงจะผลักดันยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกให้โดดเด่น หลังจากผู้นำเยอรมนีอย่าง นางแองเกลา แมร์เคิล ได้สิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งหลังจากมีบทบาทนำในยุโรปอย่างโดดเด่นเกินทศวรรษ

นี่จึงเป็นโอกาสของผู้นำฝรั่งเศสที่จะผลักดันให้ฝรั่งเศสโดดเด่นมีบทบาทมากขึ้น

ทั้งนี้ มติชนได้รับเชิญไปทำข่าวที่ปารีสโดยกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศ ขอขอบคุณกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศมา ณ ที่นี้

ประวิตร โรจนพฤกษ์

 

สัมภาษณ์พิเศษ

นายตีแยรี มาตู (Thierry Mathou) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ
เรื่องความสำคัญของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกต่อไทยและภูมิภาค

•ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกจะทำให้ความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทย แน่นแฟ้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร?

มาตู : เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 มีการลงนามในแผนการ (Road Map) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส แผนการดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นของฝรั่งเศสในการยกระดับความสัมพันธ์กับไทย ภายใต้การดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของฝรั่งเศสที่ได้รับความเห็นชอบในปี 2561 และภายใต้การดำเนินยุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรปเพื่อความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกที่เผยแพร่ในปี 2564 ยุทธศาสตร์ทั้งสองฉบับเติมเต็มซึ่งกันและกัน และใช้เพื่อกำหนดกรอบการทำงานสำหรับการหารือและความร่วมมือทวิภาคีระหว่างฝรั่งเศสกับไทยใน 3 ประเด็น ได้แก่ ความมั่นคงและการป้องกันประเทศ ความเชื่อมโยง และประเด็นระดับโลกต่างๆ เช่น การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การปกป้องดูแลมหาสมุทร และความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

•ช่วยยกตัวอย่างความร่วมมือที่ทำให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์
(win-win)

มาตู : เอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) ซึ่งได้รับความเห็นชอบในปี 2562 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน มีเป้าหมายและหลักการใกล้เคียงอย่างยิ่งกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของฝรั่งเศส นอกจากนั้น แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ก็สอดคล้องกับเรื่องที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ ทั้งสองประเทศต่างต้องการสนับสนุนคุณค่าและหลักการเดียวกันที่มีร่วมกัน เช่น ระเบียบโลกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย พหุภาคีนิยมที่มีประสิทธิภาพและแข็งแกร่ง แนวทางการดำเนินงานระดับภูมิภาคที่สมดุลและส่งเสริมการมีส่วนร่วม รวมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไทยและฝรั่งเศสยังได้ตกลงที่จะประสานงานและปฏิบัติงานอย่างสอดคล้องกันในประเด็นระดับโลก เช่น การสาธารณสุขและการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การศึกษา ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การรวมพลังความมานะพยายามของทั้งสองประเทศในประเด็นที่ผมได้กล่าวมาทั้งหมดย่อมเป็นแนวทางการดำเนินงานแบบทุกฝ่ายได้ประโยชน์ สำหรับทั้งฝรั่งเศสและไทย

•นอกเหนือจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐแล้ว ประชาชนไทยทั่วไปจะได้รับประโยชน์อะไรจากยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก?

มาตู : ภายใต้กรอบมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ประเทศไทยมียุทธศาสตร์เป็นของตนเอง ยุทธศาสตร์นี้มีความใกล้เคียงสอดคล้องมากกับยุทธศาสตร์ฝรั่งเศสและยุทธศาสตร์สหภาพยุโรป คนไทยทั่วไปสามารถได้รับผลประโยชน์มากมายจากจุดเชื่อมต่างๆ ของยุทธศาสตร์ทั้งสามนี้ ทั้งนี้ เป้าหมายของฝรั่งเศสชัดเจนอย่างยิ่งและเป็นรูปธรรมมาก กล่าวคือ สร้างความเชื่อมโยงคุณภาพสูงระหว่างกัน ยกระดับความร่วมมือในด้านการวิจัย นวัตกรรม และการทำให้เป็นดิจิทัล ผลักดันการริเริ่มความร่วมมือเฉพาะทางเพื่อส่งเสริมการบังคับใช้ของข้อตกลงปารีสและอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อนำไปสู่มาตรฐานและเป้าหมายระดับสูงด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน (รวมถึงน้ำ) และการก้าวไปสู่เศรษฐกิจสะอาด หมุนเวียน และไม่กระทบต่อสภาพอากาศในประเด็นเหล่านี้ ยุทธศาสตร์ของเรามีแนวทางเน้นให้ความสำคัญกับการทำโครงการต่างๆ เพื่อสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมในชีวิตประจำวัน ดังนั้น จะมีความร่วมมือเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขอบข่ายเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสีฟ้า เมืองสร้างสรรค์และอัจฉริยะ การเคลื่อนที่ในเมือง ความปลอดภัยบนท้องถนน การบิน การรถไฟ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมวัฒนธรรม สาธารณสุขและความอยู่ดีมีสุข อาหารสำหรับอนาคตและเศรษฐกิจผู้สูงวัย และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ไทยและฝรั่งเศสจะยกระดับการแลกเปลี่ยนแบบคนสู่คน (people-to-people) โดยการเพิ่มพูนความร่วมมือในการอบรมด้านอาชีพ เราจะเปิดตัวปีแห่งนวัตกรรมไทย-ฝรั่งเศส ในปี 2023 โดยมุ่งเน้นด้านธุรกิจและมีเป้าหมายสำคัญเป็นคนรุ่นใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image