“กมธ.สิทธิฯส.ว.” จ่อเรียกตร.-นิติเวช-พิสูจน์หลักฐาน สอบคดีแตงโม ยันไม่แทรกแซง

“กมธ.สิทธิมนุษยชน วุฒิสภา” จ่อเรียกตร.-นิติเวช-พิสูจน์หลักฐาน” เข้าแจงกมธ. หลังมีมติสอบปม “แตงโม” พลัดตกเรือ 21 มี.ค.นี้ เผย วางกรอบทำงาน 1 เดือน ยัน ไม่แทรกแซงตร. ลั่น ทำตรงไปตรงมาไม่มโนตามโซเชียล

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 14 มีนาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มีนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมมีวาระการพิจารณาเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมและขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคดีการเสียชีวิตของน.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม นักแสดงชื่อดัง อย่างเป็นทางการ

โดยนายสมชาย แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กมธ.มีมติว่ากมธ.สามารถเข้ามาสอบสวนกรณีดังกล่าวได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และไม่ได้เป็นเรื่องร้องเรียนที่ซ้ำกับ กมธ.อื่น โดยกมธ.จะติดตามตรวจสอบคดีดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งได้กำหนดกลุ่มบุคคลที่จะต้องเรียกมาให้ข้อมูลต่อ กมธ.เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2.กลุ่มนิติเวช ทั้งนี้ ได้มีการประสานสำนักงานนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่ท่านติดภารกิจ โดยจะมาในสัปดาห์หน้า และ 3.เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน โดยในวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม จะเชิญ 3 ฝ่าย มาให้ข้อมูลต่อกมธ. ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรี , สำนักนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ และผู้บังคับการสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน ที่เข้าไปตรวจหลักฐานในวันเกิดเหตุ

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าการทำงานของ กมธ.จะไม่แทรกแซงการทำงานของตำรวจ โดยวางกรอบการทำงานไว้ 1 เดือน แต่ถ้าไม่จบเราก็จะทำต่อ ซึ่งรูปแบบการทำงานจะเป็นการตั้งกมธ.เต็มคณะเข้าไปตรวจสอบ มีการประชุมทุกวันจันทร์ หรือหากมีประเด็นใดที่กมธ.เห็นว่าต้องลงพื้นที่ไปตรวจสอบ ก็จะมอบให้ตน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ส.ว. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. และท่านอื่นๆ ในฐานะกมธ. ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจพิสูจน์ศพรอบ 2 การตรวจกล้องวงจรปิดบริเวณสะพานพระราม 7 เป็นต้น

Advertisement

นายสมชาย กล่าวต่อว่า เรื่องการพิสูจน์ศพรอบ 2 จะให้พญ.คุณหญิงพรทิพย์ เข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์ในการผ่าศพและให้ข้อสังเกตต่างๆ โดยการทำงานของ กมธ.จะดูเฉพาะพยานหลักฐานที่มีความชัดเจน แต่อะไรที่เป็นเรื่องที่มโนตามโซเชียลคงไม่เก็บมาเป็นประเด็น นอกจากนี้ กมธ.ยังได้มอบหมายให้อนุกมธ.สิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชน และสื่อสาธารณะ ในกมธ.สิทธิมนุษยชนฯ ช่วยพิจารณาเรื่องความกังวลใจเกี่ยวกับการเสนอข่าวสาร เพราะมีหลายประเด็นที่จำเป็นต้องระมัดระวัง ตนเป็นห่วงเรื่องความเครียดของคนในสังคม อีกทั้งยังมีประเด็นเฟกนิวส์จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องยุติด้วยความเป็นจริง พิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image