อ่านอนาคตไปด้วยกัน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เริ่ม 26 มี.ค.นี้

อ่านอนาคตไปด้วยกัน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เริ่ม 26 มี.ค.นี้

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 จะจัดตั้งแต่วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม – วันพุธที่ 6 เมษายน 2565 เวลา 10.00-21.00 น. (วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม เปิดให้เข้างานเวลา 17.00-21.00 น.) ณ สถานีกลางบางซื่อ อยากชวนทุกคนมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรงหลากหลายด้วยการ ‘อ่านอนาคต’ ไปด้วยกัน

ว่ากันว่าคนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัด หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าข้อมูลนี้จริงแค่ไหน? วัดจากอะไร แล้วกลุ่มตัวอย่างคือใครกันนะ? อ่านปีละ 8 บรรทัด หมายถึงทุกๆ เดือนครึ่งเราอ่านแค่คนละ 1 บรรทัดเท่านั้นรู้แบบนี้ยิ่งแอบเถียงอยู่ในใจว่าแค่อ่านสเตตัสเฟซบุ๊กเพื่อนก็เกิน 8 บรรทัดแล้วนะ แม้ประโยคนี้จะวนเวียนอยู่คู่สังคมนักอ่านและกลุ่มคนทั่วไปมายาวนาน แต่หากไล่ย้อนดูสถิติและงานวิจัยเรื่องการอ่านตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมากลับพบว่าข้อมูลที่ออกมานั้นสวนทางกับข้อความที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือแค่ปีละ 8 บรรทัดอย่างสิ้นเชิง

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจการอ่านหนังสือของประชากรต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2548 – พ.ศ. 2561 โดยเก็บข้อมูลจากชาวไทย 55,920 ครัวเรือนตัวอย่าง ในทุกภูมิภาคและทุกช่วงวัย พบว่าคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปใช้เวลาอ่านเฉลี่ยมากถึงวันละ 80 นาที ส่วนเยาวชนไทยเป็นกลุ่มที่ใช้เวลาอ่านหนังสือมากที่สุด อ่านเฉลี่ยวันละ 109 นาที

Advertisement

ไม่เพียงเท่านั้นแนวโน้มการอ่านของประชากรไทยยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยปี พ.ศ. 2551 มีอัตราการอ่านร้อยละ 66.3 และในปี พ.ศ. 2554 ร้อยละ 68.6 ส่วนปี พ.ศ.2561 อัตราอ่านของคนไทยเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 78.8 ที่สำคัญในจำนวนนักอ่านเหล่านี้มีผู้ที่อ่านหนังสือทุกวันมากถึงร้อยละ 54 และอ่านทุก 4-6 วันรองลงมา

โดยเฉพาะการอ่านของเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีที่อ่านด้วยตนเอง หรือผู้ใหญ่อ่านให้ฟังมีจำนวน 2.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 61.2 ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ เช่นเดียวกับระยะเวลาการอ่านของน้องๆ หนูๆ ต่อวันที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าด้วย

ไม่เพียงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเท่านั้น ยังมีงานวิจัยจากสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) และสถิติของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยที่ยืนยันว่าในเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาคนไทยไม่ได้อ่านหนังสือปีละไม่กี่บรรทัดอย่างที่หลายคนเข้าใจ

นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าคนไทยอ่านข้อความจากสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดร้อยละ 61.2 โดยมีหนังสือพิมพ์รองลงมา ตามด้วยแบบเรียน และหนังสือทั่วไป อย่างไรก็ตามถ้าพูดถึงการอ่านแบบเป็นตัวบท นักอ่านยังเลือกอ่านหนังสือกระดาษมากกว่า e-book อย่างเห็นได้ชัด คงพอบอกได้ว่าวัฒนธรรมการอ่านในปัจจุบันมีความหลากหลายและเฉพาะตัวมากขึ้น การอ่านขยายตัวสู่การอ่านทุกรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเราสามารถอ่านได้ทุกเวลาโดยการอ่านแต่ละแบบตอบโจทย์การใช้งานที่แตกต่างกัน

ผู้คนอาจไม่ได้ตามข่าวสารจากการอ่านหนังสือพิมพ์ก่อนออกจากบ้านตอนเช้า แต่ติดตามอ่านการสรุปข่าวจากอินฟลูเอนเซอร์ที่พวกเขาเชื่อถือผ่านเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์แทน รวมถึงบางคนอาจเลือกอ่านนิยายแชทเป็นตอนๆ ผ่านแพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ ก่อนตามซื้อหนังสือแบบรูปเล่มเพื่อเก็บสะสมแทน

รวมถึงรูปแบบหนังสือที่ผู้คนนิยมก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน สถิติของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยช่วยให้เห็นเทรนด์จากนักอ่านมากขึ้น โดยหนังสือที่ขายดีที่สุดในงานหนังสือปี พ.ศ.2564 คือการ์ตูนและไลท์โนเวล และหนังสือประเภทหลักที่ได้รับความนิยมตลอดมาในงานสัปดาห์หนังสือคือ การ์ตูน รวมถึงนิยายวายที่กลายมาเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการวัฒนธรรมการอ่านและอุตสาหกรรมหนังสืออย่างไม่อาจปฏิเสธได้

การอ่านอนาคตจึงไม่ใช่แค่การอ่านรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการอ่านที่เปิดกว้าง หลากหลาย คล้ายเป็นการเดินทางที่ทุกคนกำหนดเป้าหมายและอนาคตในแบบที่ตัวเองอยากเห็นได้ ไม่ว่าจะเป็นนักอ่านสายหลงใหลกลิ่นหมึกจากหนังสือแบบรูปเล่ม หรือเป็นสาย e-book เน้นพกพาสะดวก นักอ่านสายวรรณกรรมและข้อมูลเข้มข้น หรือสายนิยายวายไลท์โนเวลให้ชีวิตผ่อนคลาย กระทั่งสายอ่านออนไลน์ไล่อ่านตั้งแต่แคปชันอินสตาแกรมเพื่อนๆ ยันนิยายแชท เราทุกคนคืออนาคตของการอ่าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image