‘บิ๊กแจ๊ส’ นำสัมมนานายกท้องถิ่น ปลุกร่วมพัฒนาจ.ปทุมธานี ติด 1 ใน 5 เมืองน่าอยู่

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ บีชรีสอร์ท จ.เพชรบุรี พล.ต.ท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี(นายกอบจ.ปทุมธานี) จัดสัมมนา ส.อบจ.นายกท้องถิ่นทั้งจังหวดปทุมธานี โดยอบรมสัมมนาส่งเสริมประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมของผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่และประชาชนในเขตจังหวัดปทุมธานี ในการพัฒนาท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 65 แห่ง ประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาล 29 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 35 แห่ง 250 คน โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ดร.สุริยะ หินเมืองเก่า ผู้อำนวยการกลุ่มงานแผนพัฒนาท้องถิ่นกองพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ให้เกียรติเป็นวิทยากร เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการพัฒนาจังหวัดปทุมธานีให้เป็น 1ใน 5 ของประเทศสำหรับเมืองน่าอยู่

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ กล่าวว่า ภาพรวมจะเห็นลำคลองในจังหวัดปทุมธานี เป็นคลองสวยน้ำใสก็ยากให้น้องนายกทุกๆคน รวมทั้งผู้นำท้องถิ่นช่วยกันสานต่อช่วยกันดูแลลำคลองให้ปราศจากขยะและวัชพืชต่างๆไม่ต้องนำโป๊ะรถแบคโฮไปยืนล้วงตักขยะและวัชพืชอีกต่อไป จะได้ไม่ต้องดูแลตลอดทั้งปี ซึ่งก็จะช่วยกันประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ ปีนี้ที่ผ่านมาเรื่องเหตุไฟไหม้เจอมาหนักมากในจังหวัดปทุมธานี 3 เคส เคสแรกที่โรงงานลาดหลุมแก้วโรงงานเสียหายยับเยิน เคสต่อมาที่วัดโคกโรงไม้อัดเสียหาย 400-500 ล้านบาท และเคส 3 ไฟไหม้ที่นวนครโรงงานโฟมซึ่งในความพร้อมไม่มีเลยอาศัยว่ามีประสบการณ์ จึงเข้าไปในจุดเกิดเหตุโดยประสานงานให้ตำรวจกั้นการจราจรจัดระเบียบรถที่เข้าไปเนื่องจากถนนแคบในส่วนนี้ก็อยู่ที่การบริหารจัดการก็สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้แต่รถของ อบจ.ไม่พร้อมวันที่เกิดเหตุไฟไหม้ อบจ.มีรถกระเช้าแต่ไม่มีคนใช้เป็นจอดไว้เฉยๆอันนั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ตนมาเป็นนายกฯก็ขอให้ทุกๆท่านไว้ใจตนมีโครงการให้เจ้าหน้าที่ที่จะไปฝึกอบรมผจญเพลิงทาง อบจ.จัดอบรมไปหนึ่งรุ่นแล้วโดยกองทัพอากาศเป็นผู้ฝึกให้ในปีนี้อบจ.จัดตั้งกองสาธารณสุขขึ้นมาถ้าไม่ได้จัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาจะไปต่อไม่ได้แน่

นายกอบจ.ปทุมธานี กล่าวอีกว่า จากเหตุการณ์ที่การแพร่ระบาดเชื้อโรคไวรัสโควิด และการจัดตั้งกองบรรเทาสาธารณภัยขึ้นมาตลอดจนกองท่องเที่ยวกีฬาก็จะมีการตั้งให้เสร็จภายในเดือนเมษายน มิฉะนั้นจังหวัดปทุมธานีไม่สามารถที่จะเดินหน้าและพัฒนาไปได้ยกตัวอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งในการสัมมนาทุกๆท่านจะมีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อมาร่วมพัฒนาจังหวัดปทุมธานี จากวิทยากรอีก 2 ท่าน

นายเสริมศักดิ์ กล่าวว่า หัวข้อหลักการทำงานของท้องถิ่นจะต้องมีหลักเด่นอยู่ 3 ข้อคือ 1.จะต้องเก่งคน 2.จะต้องเก่งงาน และ3จะต้องเก่งพื้นที่ เช่นการใช้คนที่มีความพร้อมในการทำงานรู้จักพื้นที่การวางแผนงานที่ดีทั้งระยะสั้นระยะยาวระยะปานกลาง รวมทั้งต้องมีศาสตร์และศิลปปกครองน้ำใจคนให้ได้ใจคน จะทำงานได้สำเร็จการเปิดประตูใจในการต้อนรับทุกคนเป็นเหมือนญาติเรา ทำงานทันเวลาทันเหตุการณ์แก้ปัญหาได้ทันท่วงที รวมทั้งมีคาถาการทำงาน 3 จ. 1.จริงจัง 2.จริงใจ 3.ใจถึง ทุ่มเทมุ่งมั่นใช้เวลา 24 ชั่วโมงให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเพื่อนร่วมงานและลูกน้องฉะนั้นถ้าท้องถิ่นทำแล้วดีต่อเนื่องอย่างยั่งยืนคือแผนที่สำคัญมากที่สุด นำส่วนที่เป็นแนวคิดบวก เอามาเป็นกำปั้นเดียวกันเป็นคาถาเก่า บ. คือบ้าน ว. คือวัด ร.คือโรงเรียน จะต้องมีส่วนร่วม ควรส่งเสริมคุณภาพชีวิตการศึกษาผู้สูงอายุผู้สูงวัย ตัวอย่างเช่นเทศบาลเมืองบึงยี่โถเป็นเทศบาลที่ได้รับรางวัลที่หนึ่งของเอเซียเรื่องของการดูแลผู้สูงวัย ซึ่งคุณรังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายก ทม.บึงยี่โถ ก็เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ในการพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่น ถือว่าเป็นต้นแบบที่ดีมาก

ด้านดร.สุริยะ กล่าวถึงการสัมมนาครั้งนี้ว่าในสังคมเป็นที่ยอมรับกันไป เช่นสภาพปัญหาพื้นที่คืออะไร ซึ่งในส่วนหนึ่งพูดถึงเรื่องต้องมีขั้นตอนมีกฎหมายมีระเบียบแต่ท้ายที่สุดแม้จะมีกฎหมายหรือระเบียบหรืออะไรก็แล้วแต่ จะต้องมีคนมาอธิบายให้เราฟังจะต้องมีคนมาบอกเล่าและจะต้องมีคนฟังกัน และต้องมีการยอมรับซึ่งกันและกัน ต้องทิ้งสละสิ่งที่มันไม่ใช่ออกไปต้องทิ้งอดีตแต่เอาอดีตนั้นมาทำให้เป็นอนาคตที่ดีโดยจะไม่จมหลักในอดีตในสิ่งที่มันไม่ดีหรือเสียหายแต่เอาสิ่งที่ไม่ดีและเสียหายมาพัฒนาต่อไป ซึ่งต้องฟังและก็ต้องคิดแล้วก็สรุปได้ ถ้าไม่เช่นนั้นจะไม่เรียกว่าประชาธิปไตยหรือที่มักจะเรียกกันว่าเดโมเครซี่ ถ้าต้องการประชาธิปไตยก็ต้องยอมรับในสิ่งที่มีคิดมีร่วมหรือจะเรียกว่าร่วมคิดร่วมทำร่วมมีประโยชน์ร่วมกัน ด้วยหน้าที่อำนาจของ อบจ. ตามกฎหมายเลือกตั้งของ อบจ. 2540 มาตรา 45 กับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาตรา 16 และ 17 และประกาศกฎกระทรวงอีก 18 เรื่องรวมทั้งประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจนั้น อบจ.ทำได้หมดก็แปลว่าสิ่งที่ อบต.กระทำอยู่สิ่งที่เทศบาลกระทำอยู่ อบจ.ทำได้ทุกเรื่องเพราะฉะนั้นจะต้องก้าวข้ามคำว่าพื้นที่ออกไปเพราะว่าพื้นที่คือสิ่งที่เรามีหน้าที่ทำนั่นแหละ และอย่าไปคิดถึงเรื่องอาณาเขตดินแดนถ้าคิดถึงเรื่องอนาเขตดินแดนแล้วจะมีการพัฒนาที่ซับซ้อนมากยิ่งกว่าจะแก้ในยุคปัจจุบันที่โลกมันเปลี่ยนไปจากโควิดและปัจจุบันก็คือสงครามยูเครน-รัสเซียที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไปเยอะหลังจากที่สงครามสิ้นสุดลงเพราะฉะนั้นการที่จะนำนโยบายกำหนดได้ต้องพูดคุยกันดังนั้นหลักการทำแผนทำงบประมาณ ก็ให้นึกถึงพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองเสียก่อน มีอยู่ 3 อย่าง ประการแรกเวลาที่ทำแผนต้องนึกถึงอะไรที่ก่อให้เกิดกับประชาชนอย่างไร ประการที่สองเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐของงบประมาณ ประการสุดท้ายต้องมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น มีโครงการ 1 อยู่ในแผนแล้วและอยู่ในงบประมาณแล้ว การไปดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารส่วนภูมิภาคถูกต้องทุกอย่างและเบิกจ่ายเงินถูกต้องทุกอย่างสเปคเป็นไปตามที่ราคากลางกำหนด ทำไมถูกทักท้วงทำไมถูกตรวจสอบ เหตุผลก็คือว่าวันหนึ่งบ้านนางแมวไฟไหม้บ้านนางแมวอยู่ในเขตเทศบาล เทศบาลก็ระดมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยมาดับไฟที่บ้านนางแมว แต่ว่ารถของเทศบาลเข้าไปดับไฟไม่ได้ จึงต้องใช้รถที่อื่นดับ ปัญหาก็คือเพราะท่านซื้อรถดับเพลิง10 ล้อ มันใหญ่เข้าไม่ได้ จึงมีคำถามก็คือว่ามันเกิดสมผลสัมฤทธิ์ต่อภาครัฐอย่างไร ท่านซื้อรถดับเพลิง 10 ล้อ มาท่านก็ต้องไปเช็คดูก่อนว่าที่ท่านซื้อรถสิบล้อนั้นแม้แต่จะอยู่ในแผนก็ตาม ต้องรู้พื้นที่ใช่ไหมว่าจะใช้รถ 4 ล้อ 6 ล้อหรือสิบล้อเข้าในพื้นที่รถ 10 ล้อมันวิ่งไม่ได้เลยหรือวิ่งได้เพียง 1 ใน 4 ของพื้นที่ก็ถือว่าภารกิจของรัฐไม่สำเร็จ ตรงนี้ก็ต้องถูกตรวจสอบและดำเนินคดี คำถามต่อมาท่านบอกว่าที่ซื้อรถดับรถดับเพลิง 10 ล้อวัตถุประสงค์ก็ต้องการที่จะจ่ายน้ำให้กับประชาชนในช่วงหน้าแล้ง ถือว่าเป็นภารกิจรอง ทำไมไม่ซื้อรถบรรทุกน้ำซึ่งก็เป็นคำตอบและคำถามเหมือนกันไม่ได้มีความซับซ้อนยุ่งยากอะไรทั้งสิ้น

ด้านดร.วีระศักดิ์ ฮาดดา นายก อบต.คลองสาม ประธานชมรมนายก อบต.ปทุมธานี กล่าวว่า ในการสัมมนาครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องดีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเป็นหนึ่งเดียวกันซึ่งก็ต้องยอมรับว่า อบจ.มีงบประมาณมากที่สุดในระดับท้องถิ่นของแต่ละจังหวัด สมควรที่จะเป็นผู้นำของท้องถิ่นทั้งหมด เวลาท้องถิ่นใดมีงบประมาณน้อยต้องทำแผนร่วมกันทั้งท้องถิ่นทั้งหมด ก็สามารถของบประมาณมาที่ อบจ.ซึ่งจะเป็นการมองภาพรวมทั้งหมดเลย ฉะนั้นการที่มาประชุมสัมมนาครั้งนี้เป็นการรวมระหว่างนายกเทศมนตรีนายก อบต.จะต้องบูรณาการร่วมกันทั้งหมดคือพื้นที่ของ อบจ.ก็อยู่ในพื้นที่ของเทศบาล อบต.ดังนั้นจะต้องประสานงานร่วมกันว่าอะไรที่จะให้อบต.ทำอะไรที่จะให้เทศบาลทำอะไรที่อบจ.จะเป็นทำ ตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องดีมากๆซึ่งนายก อบจ.ก็ปรารถนาอยากจะให้ปทุมธานี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่แบ่งพรรคแบ่งพวกทุกคนต้องเป็นพวกเดียวกันระดับท้องถิ่นเหมือนอยู่ใต้ดวงอาทิตย์เดียวกันท้องถิ่นไปที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั้น ดังนั้นการที่แต่ละจังหวัดถ้ารวมกันได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นั้นก็คือว่าประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุด แต่ถ้ามีความขัดแย้งกันประชาชนก็จะเสียประโยชน์เกิดความเสียหาย แทนที่จะได้รับงบประมาณเต็มๆ แต่ถ้ามีการตัดแขนตัดขาผู้เสียประโยชน์คือประชาชนท้องถิ่นจะต้องจับมือกันให้แน่นประชาชนจะได้ประโยชน์ 100% ซึ่งต่อแต่นี้ไปจะเป็นการร่วมกันพัฒนาจังหวัดปทุมธานีชนิดเต็มรูปแบบต่อไป

Advertisement

นายวริศ เจริญกัลป์ นายกเทศมนตรีตำบลหนองเสือ กล่าวว่า ขอบคุณ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ และคณะผู้บริหารของ อบจ. รวมถึง สจ.ทุกท่าน ที่จัดโครงการสัมมนาระหว่าง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในจังหวัดปทุมธานี โดยมี อบจ.เป็นพี่ใหญ่ มี เทศบาลเป็นพี่กลาง และมี อบต.เป็นน้องเล็ก มาร่วมกันเพื่อพัฒนาจังหวัดปทุมธานีให้ไปในทิศทางเดียวกัน เอาปัญหาต่าง ๆ มาวิเคราะห์มาแก้ไข และนำไปสู่การปฏิบัติ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ก่อให้เกิดความสามัคคี และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะการบริหารท้องถิ่นบริหารจังหวัดก็ต้องใช้พลังไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับเทศบาลตำบลหนองเสือที่ได้มาร่วมสัมมานาในครั้งนี้ ถือว่าเป็นส่วนดีที่จะนำปัญหาต่าง ๆ มาปรึกษาหารือและที่สำคัญได้รู้จักกับ นายก อปท.ในเขตพื้นที่ทุกคนที่มาร่วมกันจะนำพาจังหวัดปทุมธานีและทำโครงการต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จตามที่ท่านนายก อบจ.ปทุมธานีได้มุ่งหวังไว้

ดร.ไพศาล ศรีธเนศสกุล นายก อบต.บึงกาสาม กล่าวว่า ถือเป็นโครงการที่ดีที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ และผู้บริหาร สจ. เทศบาล และอบต. เข้ามาร่วมโครงการสัมมานาและการเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ ตามที่วิทยากรให้ความรู้ สิ่งสำคัญคือวันนี้ผู้บริหารท้องถิ่นเข้ามารวมกัน เพื่อให้รู้ถึงปัญหาในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากแต่ละพื้นที่จะมีปัญหาที่ไม่เหมือนกัน อย่างในเขตชุมชนเมืองจะมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนในเขตชนบทก็จะมีปัญหาด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ ความเดือดร้อนของประชาชน และนำปัญหาจากผู้บริหารท้องถิ่นที่เข้ามาร่วมสัมมนา นำไปปรับปรุงแก้ไขพัฒนา โดยมี สจ.ในแต่ละเขตพื้นที่ เป็นตัวประสานเพื่อนำปัญหาไปแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image