จะอยู่กับโควิด-19 แบบโรคประจำถิ่น (Endemic) ทุกคนต้องเข้าใจ

มันจะอันตรายอย่างยิ่งไม่ใช่เฉพาะกับแค่ปัจเจกบุคคล แต่กับระบบสุขภาพ หรือแม้แต่สังคมโดยรวมของประเทศ หรือของโลก หากเราไม่เข้าใจดีพอกับสิ่งที่เรียกว่า Endemic หรือโรคประจำถิ่น ขอเริ่มจากในภาวะที่เรียกว่า โรคระบาด (Epidemic or Outbreak) ในพื้นที่ (หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ) ใดๆ ซึ่งอธิบายอย่างง่ายๆ ก็คือ มันเกิดโรคขึ้นจำนวนมากกว่าที่มันเคยมี เคยเป็นอยู่ อย่างมีนัยสำคัญ และถ้าเป็นโรคเกิดใหม่แน่นอนว่าแม้โผล่มารายเดียวก็ถือว่าเกิดโรคระบาดขึ้นแล้ว และหากมันลุกลามไปทั่วโลก คืออย่างน้อยระบาดข้ามทวีปที่ไม่ได้อยู่ติดกันมันก็ถูกยกระดับเป็น Pandemic

แล้วโรคประจำถิ่น (Endemic) คืออะไร อธิบายง่ายๆ ก็คือ โรคที่อยู่ในพื้นที่ใดแล้วมันอยู่ตัว มีจำนวนและความรุนแรงที่พอรับได้ มันอาจเพิ่มมากบ้างน้อยบ้างในบางช่วงเวลา ถ้าช่วงไหนมันมากกว่าปกติแบบมีนัยสำคัญก็จะเรียกว่ามีการระบาดในช่วงนั้น เช่น โรคไข้เลือดออก ที่บางปีก็ป่วยกันเป็นแสนๆ บางปีก็แค่หมื่น อัตราป่วยตายประมาณพันละหนึ่ง นี่ก็เป็นโรคประจำถิ่นของประเทศและภูมิภาคนี้ และดูท่าจะเป็นโรคประจำถิ่นไปอีกนาน โรคหัดก็เป็นโรคประจำถิ่นแม้จะมีการฉีดวัคซีนกันเป็นโปรแกรมระดับชาติ ในบางปี บางพื้นที่ก็เกิดการระบาดขึ้นได้ และเมื่อป่วยมากขึ้นก็จะมีเด็กปอดบวมตายมากตามไปด้วย บางโรคก็ถือเป็นโรคประจำถิ่นที่ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญทั้งระดับประเทศและระดับโลก เช่น โรคเอดส์ วัณโรค โรคมาลาเรีย ที่ยังมีคนตายปีละหลายล้านคน

สิ่งที่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องคือ การเป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้แปลว่าโรคนั้นหมดปัญหาหมดอันตรายโดยปริยาย (Endemic does not mean harmless) ใช้ชีวิตตามใจชอบ ลั้นลา อย่างไรก็ได้ ประเทศไม่ต้องมีมาตรการอะไรแล้ว กลับไปใช้วิถีชีวิตอย่างที่เคยกันได้เลย เพราะต้องเข้าใจว่าในกรณีของโรคโควิด-19 ที่วันนี้ เมื่อไวรัสมีวงรอบของการเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างกว้างขวาง ก็มักจะได้ไวรัสพันธุ์พิเศษเพิ่มขึ้นมาเสมอ อัลฟ่าที่มาจากการระบาดใหญ่ในอังกฤษปลายปี’63 เดลต้าที่มาจากการระบาดใหญ่ในอินเดียกลางปี’64 โอมิครอนที่มาจากการระบาดในแอฟริกาปลายปี’64 และแน่นอนหากการกลายพันธุ์ไม่ทำให้ไวรัสมีอิทธิฤทธิ์อะไรเกมก็คงจบกันโดยเร็ว แต่ธรรมชาติมักอยู่เหนือความคาดหมาย เรามีอัลฟ่าที่แพร่เร็วขึ้น มีเดลต้าที่ทั้งเร็วและแรง โชคดีที่เบต้าเร็วสู้เค้าไม่ได้ เรามีโอมิครอนที่เร็วขึ้นไปอีก แถมมีลูกหลาน Omicron : BA2 ที่มาแรงทั้งเร็วและหลบภูมิได้ดี ทำให้การแพร่ระบาดกว้างขวางอยู่ในตอนนี้ ก็ต้องภาวนาว่าการกลายพันธุ์ที่ทั้งเร็ว ทั้งรุนแรง และหลบภูมิมากขึ้นจะไม่เกิดขึ้น แต่ที่ไม่ต้องภาวนาก็คือ หากช่วยกันทำให้การแพร่เชื้อน้อยก็มีโอกาสกลายพันธุ์น้อย

มาตรการป้องกันยังจำเป็น จึงควรกลับไปที่หลักการว่า ถ้าหากจะหย่อนมาตรการใดๆ เช่น เด็กๆ ควรได้กลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเพื่อให้คุณภาพการเรียนและการพัฒนาของเด็กมีคุณภาพมากขึ้นก็ควรค่าที่จะทำ แต่สภาพแวดล้อม หรือกิจกรรมในโรงเรียนอย่างใดที่สามารถหลีกเลี่ยง หรือจัดการให้ลดความเสี่ยงในการรับและแพร่เชื้อได้ก็ควรทำ ตัวอย่างคือ ในอดีตโรงงานแห่งหนึ่งมีการระบาดของโรคโควิด เพราะคนงานใช้แก้วพลาสติกกลางใบเดียวกันเวลากินน้ำ กิจกรรมนี้ก็ควรปรับแก้ทันที ยังต้องท่องไว้ว่า “ลดการแพร่เชื้อ ลดโอกาสตาย ลดการกลายพันธุ์” การลดความยุ่งยากในการเดินทางเข้าประเทศ มาตรการอะไรที่เป็นประโยชน์น้อย ปฏิบัติได้ยาก ก็ลดไป เพื่อแลกกับการเข้ามาใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยฟรี เช่น นักท่องเที่ยวอยากทำอะไรก็ได้ในประเทศนี้โดยไม่คำนึงถึงแม้แต่มาตรการจำเป็นเพื่อส่วนรวม อันนี้ก็จะได้ไม่คุ้มเสีย สิ่งที่ยังต้องเข้มงวดกวดขัน เช่น การลักลอบมั่วสุมเล่นการพนัน มั่วสุมกินเหล้าเมายา จัดกิจกรรมเสี่ยงสูง ลักลอบข้ามแดน ฯลฯ เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะได้ประโยชน์อะไรกับสังคมและประเทศโดยรวม แต่สามารถแพร่เชื้อไปได้อย่างมาก การเร่งให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันที่มากพอด้วยการฉีดวัคซีนยังเป็นมาตรการสำคัญ อัตราการเสียชีวิตเมื่อเทียบกับจำนวนการป่วยลดลงมาก ส่วนหนึ่งก็มาจากการมีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน ยิ่งความครอบคลุมมากเท่าไหร่ก็จะเกิดสภาวะ “ป่วยได้ แต่ไม่ตาย” ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างหนึ่งของการแก้ปัญหาผลกระทบจากโรคระบาด ความสำเร็จของการฉีดวัคซีนไม่ใช่แค่มีวัคซีนเพียงพออีกต่อไป แต่การเอาคน (โดยเฉพาะกลุ่ม 608) มาถึงวัคซีน หรือเอาวัคซีนไปถึงคน เป็นโจทย์ที่ท้าทายอยู่ในปัจจุบัน

Advertisement

แล้วถามว่าขณะนี้ประเทศเรา โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้วหรือยัง ถ้าดูสถานการณ์ล่าสุดนั้นจะเห็นว่าจำนวนการติดเชื้อและจำนวนการตายยังไม่อยู่ตัว แม้ว่าเชื้อโอมิครอนดูเหมือนจะแพร่เร็วแต่ไม่รุนแรง ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพียงสูงไปตามสัดส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อ (เมื่อดูจากการตรวจวินิจฉัยทั้ง ATK และ RT-PCR) หากจำนวนยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะบอกว่าเป็นโรคประจำถิ่นก็คงกระไรอยู่ คงต้องรอดูสถานการณ์ไปก่อน จากการทบทวนสถานการณ์โดยนักวิจัยจาก HITAP ประเทศไทย พบว่าหลายประเทศมีการปรับมาตรการแตกต่างกันไป ข้อมูลจาก 80 ประเทศ มี 39 ประเทศ เลิกเว้นระยะห่างทางสังคม หรือสวมหน้ากากอนามัย 18 ประเทศไม่ตรวจหาเชื้อ 7 ประเทศไม่ตรวจหาเชื้อและไม่กักตัว หลายประเทศลดการตรวจและเวลากักตัวโดยผูกกับเงื่อนไขการฉีดวัคซีน ก็พบว่าหลายประเทศที่ลดมาตรการทันทีก็เจอทั้งด้านบวก คือกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา ค่าใช้จ่ายการตรวจ รักษา และอุปกรณ์ป้องกันลดลง แต่ก็กลับมาพบปัญหา เช่น คนยอมรับการฉีดวัคซีนลดลง โรคเพิ่มมากขึ้นรวมถึงโรคที่ใช้มาตรการป้องกันแบบเดียวกัน ขาดข้อมูลเฝ้าระวังที่จำเป็น เช่น การกลายพันธุ์ที่อาจเป็นปัญหากรณีลดการตรวจจับ

การแก้ปัญหาโควิด-19 ในแต่ละประเทศคงไม่สามารถตัดแปะ เอาตัวอย่างของใครมาได้ เพราะมีมิติที่ซับซ้อนหลากหลาย และไม่ใช่มิติทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่มีมิติทางสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก การหาจุดสมดุลระหว่างการควบคุมโรคและสร้างเศรษฐกิจเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ขอให้ตั้งหลักให้มั่น ทำให้ดีที่สุดเมื่อเลือกทางใดทางหนึ่งแล้ว ก็เชื่อว่าจะอยู่กับโควิดได้ไม่ว่าเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ เมื่อใดก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image