เปิดเหตุผลทำไมไทย ‘งดออกเสียง?’ ระงับสถานะสมาชิกรัสเซียในยูเอ็นเอชอาร์ซี

เปิดเหตุผลทำไมไทย ‘งดออกเสียง?’ ระงับสถานะสมาชิกรัสเซียในยูเอ็นเอชอาร์ซี

ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ได้ลงมติระงับการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) ของรัสเซีย ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องและการผลักดันของชาติตะวันตก เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ตามเวลาในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยประเทศไทยงดออกเสียง

ทั้งนี้ ชาติสมาชิกลงมติสนับสนุนร่างข้อมติดังกล่าว 93 เสียง คัดค้าน 24 เสียง โดยประเทศที่คัดค้าน อาทิ รัสเซีย จีน ลาว เวียดนาม อิหร่าน คาซักสถาน เบลารุส และหลายประเทศในแอฟริกา โดยมีประเทศที่งดออกเสียง 58 ประเทศ รวมถึงไทย

โดยนายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ชี้แจงถึงการตัดสินใจงดออกเสียงดังกล่าว 7 ข้อ ซึ่งมีรายละเอียดว่า 1.ไทยลงมติงดออกเสียงเพราะนอกจากความสำคัญที่ไทยยึดมั่นในเรื่องความโปร่งใส เป็นกลาง และแนวทางที่ครอบคลุมในระบบพหุภาคีแล้ว ไทยเห็นว่าการตัดสินใจระงับการเป็นสมาชิกของรัฐสมาชิกในหน่วยงานใดๆ ของสหประชาชาติ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ขั้นตอนในการดำเนินการจึงต้องทำด้วยความรอบคอบ มีการปรึกษาหารือกันบนพื้นฐานของหลักการ การตรวจสอบข้อเท็จจริง และนำความคิดเห็นที่สร้างสรรค์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาซึ่งคาดการณ์ได้มาประกอบการพิจารณา

2.ไทยขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อชาวยูเครนและครอบครัวที่สูญเสียผู้ที่สูญเสียคนที่รักจากเหตุการณ์ต่อเนื่องสงครามในยูเครน

Advertisement

3.เรากังวลอย่างมากกับการยกระดับความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมในยูเครน และเชื่อว่าต้องมีการดำเนินการอย่างรวดเร็วตามข้อกล่าวหาทั้งหมดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพลเรือน ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์ในเมืองบูชา เราเห็นว่าการกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นควรมีความเป็นกลาง โปร่งใส และครอบคลุม

4.ในการพิจารณาสถานการณ์อย่างยุติธรรม จำเป็นต้องมีข้อเท็จจริงที่เป็นที่ยอมรับและหลักฐานที่เป็นรูปธรรมเพิ่มเติมที่สามารถพิสูจน์ได้ จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ซึ่งรวมถึงเอกสารที่จะนำเสนอต่อศาลระหว่างประเทศ เราจึงสนับสนุนการเรียกร้องของเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสจี) ให้มีการสอบสวนโดยอิสระ เพื่อรับรองความรับผิดชอบและหวังว่าคณะกรรมการสอบสวนอิสระระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นโดยเอชอาร์ซี จะสามารถเริ่มเริ่มต้นทำงานได้เร็วที่สุดในการสืบสวนข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงนี้อย่างเป็นกลาง โปร่งใสและครอบคลุม

5.เราขอเรียกร้องอย่างแข็งขันให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองพลเรือนและสิ่งของของพลเรือน ตลอดจนรับประกันการจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพราะอีกชีวิตที่สูญเสียคืออีกชีวิตหนึ่งที่มากเกินไป

6.ในส่วนของเรา ประเทศไทยยังคงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อไปเพื่อสนับสนุนผู้ที่ทุกข์ทรมานจากความขัดแย้งในยูเครน สอดคล้องกับหลักการของเอชอาร์ซีว่าด้วยการไม่เลือกปฎิบัติและการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ เราย้ำถึงการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งของเราในการสานต่อการเจรจาทางการเมืองว่าเป็นวิธีเดียวที่จะยุติวิกฤตด้านมนุษยธรรม นั่นคือการยุติข้อพิพาท ดังนั้น ประเทศไทยเรียกร้องให้มีความพยายามอย่างเต็มที่จากทุกฝ่ายและนานาชาติ เพื่อยุติการสู้รบที่รุนแรงและพยายามอย่างเต็มที่ในการยุติความขัดแย้ง

7.ประเทศไทยย้ำคำเรียกร้องของเราให้มีการเจรจาทางการเมืองโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อแสวงหาสันติภาพและวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image