ผู้เขียน | โกนจา |
---|
เดินหน้าชน : ‘ศรีลังกา’ลาม‘ไทย’
เสียงของ สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง ออกมาเตือนคนไทยต้องช่วยกันระมัดระวัง อย่าปล่อยให้ประเทศไทยล้มละลายแบบประเทศศรีลังกา
ศรีลังกามีประชากร 22 ล้านคน ปัจจุบันมีอัตราเงินเฟ้อสูงมากถึง 19% ขาดเงินตราต่างประเทศในการซื้อน้ำมัน ทำให้ต้องยุติการผลิตไฟฟ้าวันละ 13 ชั่วโมง นับเป็นตัวอย่างของผู้นำประเทศ ที่ล้มเหลว คอร์รัปชั่น ไม่มีเครดิต ไม่มีความน่าเชื่อถือ ทำให้ประชาชนอดอยากยากแค้น ลุกขึ้นมาประท้วงทั่วประเทศ จนทำให้คณะรัฐมนตรีเกือบทั้งหมดลาออก แต่ผู้นำซึ่งเป็นประธานาธิบดีก็ยังอยากจะอยู่ต่อไป ดูแล้วคล้ายคลึงกับกรณีประเทศไทย
การลุกขึ้นประท้วงของประชาชน ไม่ได้มาจากฝ่ายค้านเอ็นจีโอ หรือสหภาพแรงงาน แต่มาจากประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาลที่สร้างปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและมีการคอร์รัปชั่น
ประธานาธิบดีราชปักษา เป็นคนขี้โมโห ไม่ฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ เป็นลักษณะของรัฐบาลสั่งการ เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ราคาอาหารเพิ่มขึ้นถึง 30% เป็นหนี้ต่างประเทศถึง 81,000 ล้านดอลลาร์ แต่มีเงินสำรองระหว่างประเทศเพียง 2,000 ล้านดอลลาร์ ไม่เพียงพอสำหรับชำระหนี้ที่ถึงกำหนดแล้ว 3,900 ล้านดอลลาร์
ศรีลังกากู้เงินจากต่างประเทศและจากจีนมามากมายเพื่อทำท่าเรือ สนามบินใหม่ ที่แทบไม่มีการใช้งาน ไม่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ดูคล้ายๆ กับโครงการอีอีซีของไทย จึงทำให้ประเทศเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ประชาชนไม่มีงานทำ อดอยากยากแค้น ประท้วงทั่วประเทศ แต่ประธานาธิบดีก็ยังคงประกาศอยู่ต่อไป
กรณีประเทศไทย รัฐบาลจากการรัฐประหารอยู่มาแล้วเกือบ 8 ปี ทำให้ประเทศซึ่งเคยอยู่อันดับต้นๆ ของอาเซียน กลายเป็นอันดับท้ายๆ รัฐไม่มีความน่าเชื่อถือ เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ย 1% กว่าๆ นักลงทุนหนีหาย รัฐกู้เงินมาลงทุนในโครงการที่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่ำ รัฐกู้เงินมาแจก มาติดสินบนประชาชน คนละเล็กละน้อย โดยประเทศไม่เจริญเติบโต ประชาชนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้
ระบบการเมืองแบบศักดินาดึกดำบรรพ์ ดันทุรังอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เอาภาษีประชาชนมาใช้แบบไม่มีสาระ ใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์ตนเอง หากปล่อยไปอย่างนี้ ในที่สุดประเทศไทยก็จะเป็นคล้ายๆ กับศรีลังกา เวเนซุเอลา ซิมบับเว เป็นประเทศที่ไม่มีอนาคต
เช่นเดียวกับเสียงเตือนจาก ธปท.ออกมาระบุว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนปีนี้จ่อแตะ 93% ต่อจีดีพี พบคนไทยก่อหนี้ระยะสั้น ดอกเบี้ยแพง หวั่นมีคนชำระหนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นในอนาคต
ภายใต้สมมุติฐานว่าเศรษฐกิจปีนี้โตประมาณ 1% ขณะที่มูลหนี้ครัวเรือนในช่วงที่เหลือของปียังขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกับที่ผ่านมา สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ณ สิ้นปีมีโอกาสแตะ 93% ของจีดีพีได้ ทั้งนี้ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนดังกล่าว ยังไม่ได้รวมหนี้กองทุนหมู่บ้าน หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ซึ่งมียอดรวมกันประมาณ 500,000 ล้านบาท ไม่ได้รวมหนี้ที่สถาบันการเงินตัดหนี้สูญแล้ว และไม่ได้รวมหนี้นอกระบบ
หมายความว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่แท้จริงเลวร้ายกว่าตัวเลขที่เราเห็น
เช่นเดียวกับเสียงของ พชร นริพทะพันธุ์ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ออกมาประชดว่า พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ออกมาขายฝันแบบเลื่อนลอยว่าไทยจะหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางในปี 2570 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า
มองย้อนเศรษฐกิจไทยตลอด 8 ปีภายใต้รัฐบาลนี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำสุดๆ เฉลี่ยเพียงปีละ 1% กว่าๆ เท่านั้น อย่างนี้แล้วอีก 5 ปีจะต้องโตอีกปีละกว่ายี่สิบเปอร์เซ็นต์ถึงจะสามารถหลุดบ่วงนี้ได้
หลังการเลือกตั้ง “บิ๊กตู่” บริหารมา 3 ปีแต่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในแดนลบจากปี 2562 ขยายตัวได้เพียง 2.4% ในปี 2563 ขยายตัวติดลบหนักถึง -6.2% และในปี 2564 ขยายตัวได้ 1.6% รวมแล้ว 3 ปีที่ผ่านมา รวมแล้วยังขยายตัวติดลบถึง -2.2%
ถือเป็นความทรุดโทรมถดถอย แล้วจะหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้อย่างไร ตัวเลขแบบนี้อีก 40 ปีก็ยังไม่หลุดพ้นเลย
เสียงของอดีตบิ๊กๆ แบงก์ชาติ เคยออกมาวิจารณ์ตักเตือน นโยบายการคลังและแนวทางเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของรัฐบาลนี้ที่กำลังพาชาติลงเหว
อดหวั่นใจเหลือเกินว่า “โมเดลศรีลังกา” กำลังลุกลามมายัง “เมืองไทย”
โกนจา