แฟลช สปิช : หลังจากนี้-ใครจะทำอะไรได้ โดย การ์ตอง

ห้วงยามแห่งการเฉลิมฉลองเริ่มที่จะจบลงแล้ว ความสุข สนุกสนานท่ามกลางหมู่ญาติมิตรกำลังจะสิ้นสุด

สัปดาห์นี้การเดินทางจากชนบทกลับเมืองจะค่อยๆ คึกคัก และชีวิตกลับคืนสู่ปกติ

กลับคืนสู่ความเป็นจริงของชีวิต

และตรงนี้เองที่น่าสนใจ

Advertisement

ระหว่างนี้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ของประเทศ และผลกระทบต่อประชาชนจะเป็นไปอย่างไรบ้าง

เริ่มต้นด้วยรัฐบาลเริ่มยอมรับแล้วว่า หลังสงกรานต์ปัญหาปากท้องจะหนักหน่วงขึ้น ด้วยยากที่จะหยุดยั้งราคาสินค้าไม่ให้แพงขึ้นไปอีกจากที่หนักหนาสาหัสอยู่แล้วเมื่อเทียบกับรายได้ของประชาชนที่ไม่ใช่แค่หาทางให้เพิ่มขึ้นได้ยาก แต่แนวโน้มยังมีแต่จะลดลง

ราคาน้ำมันที่ก่อนหน้านั้นอย่างน้อยตรึงไว้ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท หลังจากนี้รัฐบาลบอกไม่ไหวแล้ว แปลว่าค่าขนส่งจะสูงขึ้น ซึ่งจะต้องมาบวกเข้าไปอีกกับราคาสินค้าที่คุมไม่ได้อยู่แล้วเข้าไปอีก

Advertisement

มาตรการที่รัฐบาลเตรียมไว้คือ ขอกู้เงินอีกมหาศาลเพื่อมาช่วยสร้างกำลังซื้อให้ประชาชน เพราะไม่เช่นนั้นประชาชนที่เงินหมด หรือเงินไม่พอที่จะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องจะทำให้ระบบเศรษฐกิจหยุดทำงาน หรือที่เรียกว่าเครื่องยนต์ดับ

มีความจำเป็นต้องกู้เงินมากู้หายนะ

ทว่าท่ามกลางการทำมาหากินด้วยตัวเองไม่ได้ เงินที่กู้มาแจกที่สุดจะหมุนกลับเข้ากระเป๋าคนให้ก็คือนายทุนที่มีทุนพอผลิตสินค้ามาขายทำกำไรได้

และคนที่ยังอยู่สบายคือข้าราชการที่รัฐบาลยังมีงบประมาณที่จะจ่ายเงินเดือน ทั้งที่หมดปัญญาที่จะหารายได้

หนักแน่สำหรับปัญหาปากท้องหลังจากนี้

แค่เท่านั้นยังไม่ระทมพอ ในวงการแพทย์ประเมินว่า หลังฉลองสงกรานต์กันแบบลืมตายด้วยเก็บกดจากทุกข์ยากกันมาเป็นปีๆ สถิติผู้ติดเชื้อที่จะป่วยทั้งหนักและเบาจะทะลุถึงหลักแสนต่อวัน แน่นอนจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันจะทำสถิติใหม่ที่ชวนให้ตื่นตะลึง

ในขณะนี้ไม่มีใครช่วยเหลืออะไรใครได้อีกแล้ว รัฐบาลปรับวิธีการจัดการกับโควิดใหม่ เน้นการพึ่งพาตัวเองในทุกขั้นตอน จากที่เคยเป็นหน้าที่หน่วยงานรัฐต้องจัดการให้ทุกอย่าง ด้วยวิธีปรับจากโรคระบาด “ร้ายแรง” มาเป็น “ไม่ร้ายแรง” และไปสู่ “โรคประจำถิ่น”

การตรวจและยาที่เคยรับผิดชอบจัดหาให้ฟรี เปลี่ยนมาเป็นมีเงื่อนไขให้บางคน บางกลุ่มต้องซื้อเอง นอนรักษาตัวเองที่บ้าน นำเข้าระบบปกติของการรักษาพยาบาลเหมือนโรคทั่วไป

ในความหมายของบริษัทประกันที่ขายสิทธิการรักษาพยาบาลไว้ไม่ต้องจ่ายเพราะไม่เข้าเงื่อนไขตามสัญญา

ป่วยกันมากขึ้น หนักขึ้น แค่ถูกบังคับให้ต้องช่วยแหลือตัวเท่ากับค่าใช้จ่ายของชีวิตจะสูงขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เพราะหมายถึงความเป็นความตาย

จะมีสักกี่คนที่จะรอรับความตายของคนในครอบครัวโดยไม่ทำอะไร อย่างน้อยที่สุดต้องหาทางตายเอาดาบหน้า

พอคาดเดาได้ไหมว่าทางออกของคนที่อับจนหนทางจะคืออะไร สภาพสังคมนับจากนี้จะเป็นอย่างไร

หนทางเดียวที่จะเยียวยา อย่างน้อยประคับประคองให้ความทุรนร้อนผ่อนเบาจากความขึ้งเคียดไปบ้างคือ “การเมืองที่มีประสิทธิภาพ” สามารถร่วมกันบริหารจัดการให้ประชาชนมีความหวังว่าประเทศมีทางจะฝ่าออกจากทางตันในถ้ำลึกที่ไม่เห็นเดือนเห็นตะวันได้บ้าง

ทว่าเท่าที่เห็นและเป็นอยู่

ประชาชนคนทั่วไปคนไหนบ้างที่ยังเหลือความหวังว่าบ้านเมืองนี้ ยังพอมี “แสงที่จะให้เห็นได้ที่ปลายอุโมงค์”

ขณะที่ “นักการเมือง” ยังสนุกสนานกับการเล่นเกมประคับประคองเพื่อต่างคนต่างทำหน้าที่อย่างไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจอะไรด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image