กางแผนรัฐรับมือ‘อากาศวิปลาส’ ปิดช่องโหว่จัดการน้ำ..ไม่ซ้ำรอยบทเรียนในอดีต

เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทั่วทุกภูมิภาคของไทยได้สัมผัสกับทุกฤดู ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่หนาวเย็น ภัยแล้ง และน้ำท่วม ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ “โพลาร์ วอร์เทกซ์” (Polar Vortex) หรือการที่กลุ่มความกดอากาศต่ำและมวลอากาศเย็นขนาดใหญ่ที่เคลื่อนที่อยู่บริเวณขั้วโลก ตามคำอธิบายของกรมอุตุนิยมวิทยา มันคือสภาพการแปรปรวนของอากาศในครั้งนี้เกิดจากอิทธิพลของความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน จนเป็นเหตุให้ประเทศไทยตอนบนมีสภาพอากาศแปรปรวน มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น
ระยะแรกๆ หลังจากนั้นอุณหภูมิก็จะลดลง และมีลมแรง

•อากาศแปรปรวนต้นทุนเลี้ยงสัตว์พุ่ง
จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่แปรปรวนไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ภาคเกษตรอย่างผู้เลี้ยงสัตว์ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดย “สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ” นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยว่า จากการรายงานของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร คาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งปี 2565 อาจมีแนวโน้มขาดแคลนน้ำ โดยไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม และอาจแล้งต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ จะทำให้ปริมาณน้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำชลประทานแห้งลง ซึ่งผู้เลี้ยงประสบปัญหาภัยแล้งกันมาตลอด จากบทเรียนทุกปีที่ผ่านมา ทางเกษตรกรจึงกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับฤดูแล้ง

ทั้งนี้ ยอมรับว่าในปี 2565 นี้ อากาศค่อนข้างแปรปรวน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน หมูปรับตัวไม่ได้ เกิดความเครียดสะสม ทำให้มีอัตราเสียหายมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น ขณะเดียวกันจากประสิทธิภาพในการทำให้โรงเรือนมีความเย็นในระดับคงที่ตามที่กำหนดไว้ บางฟาร์มใช้การปั่นมอเตอร์พัดลม โดยใช้น้ำมันต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่ม เพื่อให้ความเย็นในโรงเรือนอยู่ในระดับที่กำหนดไว้ จำเป็นต้องใช้น้ำมากขึ้น ใช้ไฟฟ้าเดินระบบมากขึ้น ช่วงฤดูร้อนจึงเป็นช่วงที่ผู้เลี้ยงต้องดูแลหมูมากกว่าปกติ ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น โดยคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร ได้ประเมินต้นทุนการผลิตสุกรขุนไตรมาส 2/2565 ที่กิโลกรัมละ 98.81 บาท เป็นต้นทุนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

•เอกชนกังวลขาดน้ำภาคเกษตร
ฟากความเห็นจาก “ชวลิต จันทรรัตน์” วิศวกรแหล่งน้ำ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า จากการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์แล้งในปี 2565 พบว่า ปรากฏการณ์ “ลานิญา” ทำให้ฤดูแล้งปีนี้ มีอากาศร้อนน้อยกว่าปีก่อนๆ เมื่อเข้าสู่เดือนเมษายน อากาศจะแปรปรวน มีฝนตก ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการกลางเดือนพฤษภาคม โดยจะไม่เกิดฝนทิ้งช่วงหรือหากมีก็จะเป็นการทิ้งช่วงสั้นๆ ซึ่งนับเป็นผลดีต่อการบรรเทาปัญหาภัยแล้งปีนี้

Advertisement

“ปรากฏการณ์ลานิญา ที่ทำให้มีความชื้นมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติในปี 2565 นั้น ส่งผลให้สภาพอากาศไม่ร้อนมากและไม่เกิดความแห้งแล้งรุนแรงเหมือนปีก่อนๆ แต่กลับทำให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนและมีพายุลมแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้ป้ายและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง และต้นไม้ใหญ่ต้องระมัดระวังไว้ด้วย รวมทั้งฝนมาเร็ว แต่เพื่อลดการเผชิญความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคและบริโภคตลอดฤดูร้อน จึงขอฝากให้ทุกภาคส่วน ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนด้วย” ชวลิตกล่าวย้ำ

•กอนช.มั่นใจไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่’54
ทางด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง “สุรสีห์ กิตติมณฑล” เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ฉายภาพให้เห็นว่า จากสภาพอากาศแปรปรวน มีฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์คล้ายคลึงกับเมื่อปี 2554 จนทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลเกี่ยวกับสถานกาณ์น้ำในช่วงฤดูฝนที่กำลังมาถึง อาจซ้ำรอยมหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ในประเด็นดังกล่าว กอนช.ได้ติดตามสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง พบว่าอากาศค่อนข้างแปรปรวนตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2565 มีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าปกติ 107% เช่นเดียวกับปริมาณฝนในช่วงเดือนเมษายน และมิถุนายน 2565 ที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ปริมาณฝนจะตกมากกว่าค่าปกติ

สำหรับเดือนพฤษภาคม และช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 คาดการณ์ปริมาณฝนช่วงดังกล่าวในปีนี้จะตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และน้อยกว่าปริมาณฝนที่เคยตกในปี 2554 อีกด้วย

Advertisement

ส่วนปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีปริมาณ 58,525 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 62% ของปริมาณการกักเก็บ สามารถรองรับน้ำหลากได้อีก 28,000 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะในลุ่มน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีการเตรียมการขุดลอกเพื่อรองรับน้ำหลาก ที่ได้รับการสนับสนุนงบกลางจากรัฐบาลที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 2.6 หมื่นแห่ง ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเก็บกักน้ำฝนชะลอน้ำหลากได้อีกส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากพิจารณาจากปริมาณฝนที่จะตก และขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำของแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้ว สถานการณ์น้ำในปีนี้จะไม่ซ้ำรอยหรือเกิดวิกฤตเหมือนปี 54 อย่างแน่นอน

•รัฐกางแผนรับมือฝน
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสภาพอากาศที่แปรปรวน คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้นำบทเรียนจากฤดูฝนปีที่ผ่านมา มาปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมได้เห็นชอบ 13 มาตรการ รับมือฤดูฝนปี 2565 และเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ประกอบด้วย 10 มาตรการเดิมที่ดำเนินการในปี 2564 และได้เพิ่มเติมอีก 3 มาตรการ จากที่ได้มีการทบทวนบทเรียนเพื่อปิดช่องโหว่ในการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงลดผลกระทบกับประชาชนได้ดีมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

หลังจากนี้คงต้องติดตามว่าตลอดทั้งปี 2565 ไทยจะต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวนอีกครั้งไหม และแผนของภาครัฐจะสามารถรับมือกับภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดเดาได้หรือไม่ คงต้องลุ้นกันต่อไป

ทีมข่าวเศรษฐกิจ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image