จากนักเขียนดังสู่ศิลปินวัย 80 ไมตรี ลิมปิชาติ กับนิทรรศการครั้งที่ 9 ‘แต้มสีให้ป่าสวย’

จากนักเขียนดังสู่ศิลปินวัย 80 ไมตรี ลิมปิชาติ กับนิทรรศการครั้งที่ 9 ‘แต้มสีให้ป่าสวย’

“ประทับใจที่สุดคือรัสเซีย เพราะผมไปในช่วงที่ใบไม้ร่วงพอดี ใบไม้เริ่มเปลี่ยนสี ร่วงลงมา ทำให้สีที่พื้นสวย พอกลับมาเมืองไทยจึงเขียนภาพแนวนี้ขึ้นมาชุดหนึ่ง บางครั้งวาดพร้อมกัน 4-5 รูปก็มี ขึ้นอยู่กับอารมณ์ในขณะนั้น”

คือคำบอกเล่าของ ไมตรี ลิมปิชาติ นักเขียนชื่อดังในวัย 80 ปี เมื่อเล่าถึงนิทรรศการศิลปะชุด ‘แต้มสีให้ป่าสวย’ ซึ่งจัดแสดงมาตั้งแต่วันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ณ ICON Art & Culture Space ชั้น 8 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม

เหลือเพียง 2 วันสุดท้ายให้ดื่มด่ำกับสีสันสวยงาม จากปลายพู่กันของอดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ผู้มีผลงานระดับตำนานอย่าง ความรักของคุณฉุย คนอยู่วัด ดอกเตอร์ครก และอีกนับไม่ถ้วน

น้ำตาล เหลือง แดง สีของใบไม้ที่หลุดร่วงลงมายังผืนป่า คือความประทับใจเมื่อไปต่างแดนมาหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและรัสเซีย ที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ แต่งแต้มสีสันลงบนผืนผ้าใบด้วยสีอะคริลิค ที่มีมากถึง 160 ชิ้น ในช่วงเวลากว่า 1 ปี จนพื้นที่จัดแสดงไม่พอ

Advertisement

ถือเป็นนิทรรศการครั้งที่ 9 ของชีวิต นับแต่เริ่มต้นสร้างงานศิลปะอย่างจริงจังในวัย 60 ปี หลังเกษียณจากงานประจำที่ ‘การประปานครหลวง’

ถามว่า ผลงานศิลปะชิ้นใดในนิทรรศการชุดนี้ถูกใจตัวเองมากที่สุด นักเขียนอาวุโสให้คำตอบโดยเทียบเคียงกับ ‘งานเขียน’

“ชอบผลงานเกือบทั้งหมด งานเขียนหนังสือก็เหมือนกัน เวลามีคนถามว่าชอบเรื่องไหนมากที่สุด มันก็ชอบเหมือนๆ กัน แต่ชอบคนละอย่าง”

Advertisement

สำหรับเรื่องผลตอบรับของนิทรรศการ เจ้าตัวบอกว่า ‘ฟีดแบ๊กดี’

“คนชื่นชมว่ารูปออกมาดี บางคนพูดจนกระทั่งผมปลื้ม คือ อาจารย์ปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง ครูศิลปะที่จบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร มาชมว่ารูปนั้นรูปนี้ดี ก็ชื่นใจ คนทั่วไปที่มาดูก็ชอบ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ คนมาเยอะและหลากหลายวัย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ บางคนนั่งรถเข็นมา” ไมตรีเล่าด้วยรอยยิ้มแจ่มใส

ตอบคำถามต่างๆ ด้วยความทรงจำแจ่มชัด ทั้งเรื่องราวของชีวิตและผลงานในอดีตจนถึงวันนี้

 

●ระหว่างการวาดรูปกับงานเขียน ชอบอะไรมากกว่ากัน สมัยเรียนเคยสอบเข้า ‘เพาะช่าง’ ได้ด้วย?

คงชอบพอๆ กัน แต่การวาดรูปมันดีตรงที่มันจบเลย วาดสักวันสองวันก็จบ แต่เวลาผมเขียนนวนิยาย ไม่ว่าเรื่องอะไร ส่งบรรณาธิการสักอาทิตย์ละตอน สัปดาห์หน้าต้องย้อนมาอ่านตอนแรกเพื่อเขียนให้มันต่อกัน บางเรื่องกว่าจะจบตั้ง 30 ตอน มันเหนื่อย เพราะฉะนั้นวาดรูปสบายกว่า เขียนนิยายมันเหนื่อย (ยิ้ม)

●แต่กว่าจะกลับมาวาดรูปจริงๆ จัง คือช่วงหลังเกษียณแล้ว ทำไมเพิ่งย้อนกลับมาเส้นทางนี้?

เคยทำงานการประปานครหลวง เพราะนักเขียนจำเป็นต้องหางานทำ สมัยก่อนเงินมันน้อย พอเกษียณจากการประปา ว่างงาน ในขณะที่หนังสือก็หยุดตัวลงเยอะ สมัยก่อนเขียน 10 กว่าฉบับ เดือนหนึ่งราว 30 ชิ้นได้ ต้องเขียนทุกวัน วันละชิ้น แต่ตอนนี้หลักๆ เขียนให้แค่เดลินิวส์ กับเส้นทางเศรษฐี ในเครือมติชน

พอว่างเลยคิดว่ามาวาดรูปดีกว่า เพราะเราชอบ จริงๆ แล้วไม่คิดว่าจะกลับมาวาดจนกระทั่งอายุ 60 ซึ่งมีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่าคุณไมตรีอายุมากแล้ว ถ้าไปหัดวาดรูป ครูก็จะสอนวาดวงกลมแบบที่สอนให้เด็ก เขียนสี่เหลี่ยม ขีดเส้นตรง สีมีกี่ชนิด ต้องย้อนไปฝึกใหม่ ไปเป็นเด็กนักเรียน กว่าจะได้เขียนรูปมันไม่ทันการณ์ เขียนไปเลยดีกว่า อยากเขียนอะไรก็เขียน เลยตัดสินใจเขียนตามอารมณ์ของตัวเอง เขียนไปเขียนมาปรากฏว่ามีคนมาชมนิทรรศการครั้งแรก จนครั้งนี้จัดแสดงมาเป็นครั้งที่ 9 แล้ว หลายครั้งก็ได้รับผลสะท้อนว่ามีหลายส่วนพอใจ ก็มาซื้อผลงานบ้าง จากจุดเริ่มต้นง่ายๆ ตั้งแต่ยังไม่รู้เลยว่าควรซื้อสีอะไร สีอะคริลิคก็เพิ่งมารู้จักตอนเพื่อนพาไปซื้อ เฟรมผ้าใบ เพื่อนก็พาไปซื้อ ตั้งแต่ตอนนั้นก็เป็นเวลา 20 ปีแล้ว คือวาดรูปเมื่ออายุ 60 ปี ตอนนี้อายุ 80 ปี ถ้าบอกว่าเขียนมา 20 ปีถือว่านานมาก แต่ถ้าบอกว่าเริ่มต้นอายุ 60 ปี จะรู้สึกว่าทำไมเริ่มต้นช้าจัง

●การทำงานศิลปะ มีส่วนช่วยทางด้านจิตใจตอนมีปัญหาสุขภาพด้วย?

ตอนอายุ 62 ปี เป็นโรคหัวใจขาดเลือดต้องไปทำบอลลูน พออายุ 65 ปี เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก น่าจะหายแล้วเพราะตอนนี้อายุ 80 ปีแล้ว ก็สู้กับโรคพวกนี้มา โรคหัวใจก็พยายามปรับเปลี่ยนเรื่องอาหาร อะไรที่ทำลายหัวใจเราก็ไม่กิน ส่วนมะเร็งเขาไม่ให้กินเนื้อก็ไม่กิน ยกเว้นเนื้อเปื่อยอร่อย (หัวเราะ) อันนี้พูดเล่น ก็พยายามกินปลา ไม่กินเนื้อ และก็พยายามสู้กับโรคมา เรื่องการวาดรูปก็ช่วยเราให้มีสมาธิ แล้วทำให้เราไม่คิดมาก พอเราวาดเราลืมอย่างอื่น ว่าเราเป็นมะเร็งเราป่วยอยู่ แล้วเป็นเยอะด้วยจะต้องไปฉายแสงตั้ง 30 กว่าครั้ง และต้องไปฉีดยาแอนตี้ฮอร์โมน ต่อสู้จนกว่าจะมายืนอยู่ตรงนี้ได้ต้องไปนอนโรงพยาบาลไปมาสารพัด ต้องให้น้ำเกลือวุ่นวายไปหมด ตอนนี้ก็รอดมาแล้ว หายจากอาการป่วยมา 15 ปี ตอนนี้ก็แข็งแรงแล้ว

●ขอย้อนถามถึงผลงานชิ้นสำคัญ ‘ความรักของคุณฉุย’ ได้รับความนิยมมากจนนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ เบื้องหลังเป็นอย่างไร?

สมัยก่อนผมอยากเข้าธรรมศาสตร์มากเลย แต่เข้าไม่ได้ ตอนนั้นผมเรียนอาชีวะ แต่ไปเล่นบาสเกตบอลที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สมัยนั้นโรงยิมยังไม่มี สนามอยู่ข้างนอก พื้นเป็นยางมะตอย ธรรมศาสตร์มีทีมชาติเยอะ ผมจะได้เล่นเก่ง และมีเพื่อนอยู่ด้วย เล่นจนเหมือนเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ซ้อมเสร็จต้องไปกินต้มซุปเนื้อเปื่อยกับข้าวสวยที่ท่าพระจันทร์ อร่อยมาก พอเขียนเรื่องความรักของคุณฉุยที่อนันต์ บุนนาค แสดงในทีวี ผมให้คุณฉุยเรียนธรรมศาสตร์ ใช้ฉากธรรมศาสตร์ การแข่งขันกีฬาภายใน ที่คุณฉุยแข่งเดินทน ก็ใช้ฉากธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

●มีความสามารถหลากหลายมาก ทั้งกีฬา ศิลปะ งานเขียน จัดสรรชีวิตให้ความชอบเหล่านี้อย่างไร?

ตอนเด็กผมชอบอยู่ 3 อย่าง คือ 1.วาดรูป 2.เขียนหนังสือ 3.เล่นกีฬาคือเล่นบาสเกตบอล ผมอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ทำ 3 อย่างนี้

วาดรูปก็ไปวาดตามทุ่งนา วาดบนสมุด อยากเป็นนักเขียนเพราะอ่านหนังสือเยอะ พรุ่งนี้จะสอบยังอ่านหนังสือนิยาย ส่วนเล่นกีฬา เผอิญสนามบาสมันอยู่หลังบ้าน คนจีนเขามาเล่นเราก็อยากเล่นบาส แต่เราต้องจัดอันดับ อันดับแรกคือ เอาเรื่องเขียนหนังสือกับกีฬาก่อน เขียนหนังสือเขียนตอนแก่ได้ใช่ไหม แต่กีฬาเล่นตอนแก่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเลือกกีฬาก่อน ตอนนั้นหนังสือทิ้งไว้เลย เล่นกีฬาซ้อมอย่างดีเลยจนเป็นทีมชาติบาสเกตบอล ไปแข่งขันกับญี่ปุ่น สิงคโปร์ คือเลือกกีฬาก่อนเพราะยังหนุ่ม

พอเลิกเล่นกีฬาก็มาเขียนหนังสือ ขณะที่มาเขียนก็ไม่ลืมเรื่องวาดรูป เพียงแต่ว่ายังไม่มีโอกาส ไม่รู้จะวาดที่ไหนอย่างไร แต่เขียนมันเริ่มต้นได้ง่ายกว่า บังเอิญว่าเขียนหนังสือแล้ว ส่งไปที่โรงพิมพ์มันได้ลง สมัยนั้นมีฟ้าเมืองไทย ชาวกรุง สยามรัฐ สตรีสาร สกุลไทย ลลนา ตอนนั้นมติชนยังไม่ได้ก่อตั้ง ส่งไปเป็นเรื่องสั้น บก.ลงให้หมด ลงหนังสือจนผมเกิด เกิดคือเราเป็นนักเขียน ลืมเรื่องวาดรูปไปเลย

●ในฐานะอดีตสมาคมนักเขียน มองงานเขียนในปัจจุบันอย่างไรบ้าง?

ยุคนี้ผมอ่านหนังสือน้อยลง เพราะสายตาด้วย คงวิจารณ์ยาก แต่เท่าที่อ่านจากเฟซบุ๊กบ้าง จากในไลน์บ้าง คนรุ่นใหม่เขียน สำนวนทันสมัย บางทีตามไม่ค่อยทัน แต่เด็กรุ่นใหม่ด้วยกันเขาอาจจะอ่านง่าย กับคนรุ่นเก่าคงพูดยาก แล้วแต่คนชอบ

●หลังจากนิทรรศการครั้งนี้ วางแผนงานด้านศิลปะของตัวเองไว้อย่างไรบ้าง?

เรื่องผลงานต่อไปคงเขียนต่อ วาดต่ออีก เพราะการวาดรูป มันมีเสน่ห์อยู่อย่างหนึ่ง เพียงแค่คิดจะวาดก็มีความสุขแล้ว มันไม่เหมือนอย่างอื่น แต่คงไม่จัดแสดงเองแล้ว เพราะเหนื่อย อายุเยอะแล้ว ถ้าทำต้องจัดสถานที่ต้องทำบัตรเชิญ ขอสปอนเซอร์

คือจะยังแสดงงานอยู่ แต่ตัวเองจะไม่จัดแล้วเพราะว่าเหนื่อย จะให้คนช่วยจัดให้ ก็คุยๆ กัน
ไว้บ้าง ให้คนที่เขาจัดงานเก่งๆ ช่วยจัดให้ ไปโฆษณาไปหาสปอนเซอร์ ไปหาสถานที่ ไปจำหน่ายอะไรเอง คิดว่าจะสะดวกสำหรับคนสูงอายุ

งานครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะลงมาจัดเอง เดินก็ยังไม่ค่อยไหวแล้ว (หัวเราะ)

 

2 วันสุดท้าย นิทรรศการ ‘แต้มสีให้ป่าสวย’
จัดถึงอาทิตย์ที่ 24 เมษายนนี้
เวลา 10.00-22.00 น.
ICON Art & Culture Space ชั้น 8 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม
ชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
วันนี้ เสาร์ที่ 23 เมษายน มีการจัดเวทีพูดคุยในบรรยากาศสบายๆ เวลา 14.00-16.00 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image