‘ประเมินภายนอก’ ไม่ใช่จับผิด ไม่ใช่ตรวจสอบ(?) เปิดคอมเมนต์ โชว์ความสำเร็จมหา’ลัยไทย

‘ประเมินภายนอก’ ไม่ใช่จับผิด ไม่ใช่ตรวจสอบ(?) เปิดคอมเมนต์ โชว์ความสำเร็จมหา’ลัยไทย

มีประเด็นถกเถียงไม่เว้นแต่ละวัน สำหรับวงการการศึกษาไทย ตั้งแต่ประเด็นใหญ่ในเชิงโครงสร้าง ไปจนถึงปกิณกะหยุมหยิมที่สะท้อนทัศนคติบางประการ อย่าง ‘ครูไทยใส่บิกินี่ไปทะเลได้หรือไม่?’

เปิดโพยดูอันดับมหาวิทยาลัยไทย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำท่าปลื้มหนัก เมื่อ QS World University Rankings 2022 ประกาศมหาวิทยาลัยไทยติดอันดับโลกใน 122 สาขาวิชา “สาขาศิลปะการแสดง (Performing Arts)” ของมหาวิทยาลัยมหิดล ติดอันดับ 47 หรือ 1 ใน TOP 50 ขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดอันดับ Top 100 ใน 4 สาขาวิชา คือ ด้านศิลปะการแสดง ด้านวิศวกรรมและปิโตรเลียม ด้านพัฒนศึกษา และด้านนโยบายสังคมและการบริหาร

Advertisement

 

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งถกกันมานาน นั่นคือระบบการประกันคุณภาพและรับรองมาตรฐานการศึกษา ที่ภาครัฐมองว่าเป็นหนึ่งในกลไกการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ สะท้อนให้เห็นผลการดำเนินงานของสถานศึกษา มองหาจุดแข็งจุดอ่อน พร้อมให้คำแนะนำสถานศึกษานำไปปรับใช้ให้มีการพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น

แน่นอน…ไม่อาจปฏิเสธว่า ประเด็นการประกันคุณภาพนี้ เป็นที่พูดถึงในหลายแง่มุมท่ามกลางความเห็นต่าง

มรภ.จันทรเกษมเปิดห้องปฏิบัติการเสมือนจริง ดึงนักศึกษาลงพื้นที่ตอบโจทย์ชุมชน

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมเกียรติ ดุลสัมพันธ์ รองอธิการบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กล่าวว่า มรภ.จันทรเกษม มีจุดเด่นด้านการให้บริการวิชาการที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน โดยร่วมกับชุมชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการได้ปรับปรุง พัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมให้สอดคล้องตามคำแนะนำจากการเข้ารับการประเมินภายนอกจาก สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เพื่อสร้างประสิทธิภาพ เน้นทักษะในการสื่อสาร คิดและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการทำงานได้ รู้เท่าทันทางเทคโนโลยี

“มรภ.จันทรเกษม ได้นำจุดแข็งของมหาวิทยาลัยมาบูรณาการกับข้อเสนอแนะพัฒนาสู่กิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นห้องปฏิบัติการเสมือนจริง เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับคนในชุมชน เสริมสร้างประสบการณ์ที่นอกเหนือไปจากความรู้ที่ได้รับในห้องเรียน มาปรับใช้ในสภาพแวดล้อมจริง ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับท้องถิ่นในการสร้างชุมชนต้นแบบของทางมหาวิทยาลัย เช่น ชุมชนจังหวัดชัยนาท โดยร่วมกันพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้มีช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีจากทุกภาคส่วน จึงแบ่งปันองค์ความรู้ดังกล่าวไปยังเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศอีกด้วย

การนำจุดเด่นของมหาวิทยาลัยมาปรับใช้ตามคำแนะนำของผู้ประเมินจาก สมศ. เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคม อีกทั้งการได้ลงพื้นที่จริง ยังเป็นการเพิ่มทักษะการทำงานให้กับนักศึกษา ได้เตรียมความพร้อมก่อนก้าวสู่โลกของการทำงาน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวก็ได้เป็นแบบอย่างให้กับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย นอกจากนั้น ทางมหาวิทยาลัยยังได้รับคำชม ในเรื่องที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในเรื่องของการประกันคุณภาพการศึกษา สร้างจุดแข็งของระบบการทำงาน ซึ่งก็ตรงกับการทำงานของทาง สมศ. ที่เน้นการใช้ระบบเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญในขั้นตอนการส่งข้อมูลให้พิจารณา และใช้ข้อมูลเดิมจากการประเมินภายใน เป็นการช่วยลดภาระให้กับสถานศึกษา ซึ่งทำให้การประสานงานระหว่างทั้ง 2 หน่วยงาน มีความสะดวก รวดเร็ว มากยิ่งขึ้น” ดร.เฉลิมเกียรติกล่าว

ไม่จับผิด เน้นเติมเต็มสมรรถนะ เปิดโลกทัศน์สากล พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร พันธ์เครือบุตร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและแผนงาน วิทยาลัยนานาชาติเซนท์เทเรซา เผยว่า จุดเด่นของเซนท์เทเรซา คือภาษาและคุณภาพหลักสูตรที่ได้มาตรฐาน ทำให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษในระดับที่ใช้งานได้ทุกคน และเมื่อเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกโดย สมศ. ยิ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทางวิทยาลัยว่าเป็นสถาบันที่มีหลักสูตรได้มาตรฐานคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง และยืนยันว่าวิทยาลัยใช้การประกันคุณภาพเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนให้เป็นบัณฑิตที่มีสมรรถนะและโลกทัศน์สากล ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของโลกได้

“การเข้ามาประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. ในรอบนี้ไม่มีการตรวจสอบแบบมุ่งจับผิด แต่เป็นการเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เติมเต็มในการดำเนินการของวิทยาลัยอย่างกัลยาณมิตร เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประเมินกับผู้ถูกประเมินตั้งแต่ก่อนวันประเมิน (Pre-visit) วันที่เข้าประเมิน และหลังวันที่เข้าประเมิน ทำให้วิทยาลัยเห็นโอกาสในการต่อยอดนวัตกรรมทางการศึกษา และการพัฒนาแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในทุกพันธกิจของวิทยาลัยให้ประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประเมินของ สมศ. เป็นข้อเสนอแนะที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูง ทั้งในมุมมองของการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม และการก้าวสู่ความเป็นสากล การประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. เป็นการประเมินคุณภาพด้วยมุมมองของผู้ประเมินที่น่าเชื่อถือ มีประสบการณ์ในการบริหารระดับสูง จึงสะท้อนภาพความสำเร็จที่แท้จริง ข้อเสนอแนะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ตอบสนองการพัฒนาขีดความสามารถสู่ระดับสากลได้” ผศ.ดร.วิเชียรกล่าว

แลกเปลี่ยนชุดข้อมูลคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนา

ปิดท้ายที่ความเห็นของ รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน รักษาการประธานกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา กล่าวว่า การประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. เป็นการสะท้อนมุมมองจากผู้ประเมินที่มีประสบการณ์ โดยผู้ประเมินจะให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาให้ดียิ่งขึ้น โดยหลังจากสถาบันอุดมศึกษาเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกแล้ว ทาง สมศ. ยังคงติดตามผลการดำเนินงาน ให้คำแนะนำสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้พันธกิจและเป้าหมายที่วางไว้ของสถาบันอุดมศึกษายังคงสอดคล้องเท่าทันกับสถานการณ์โลก นอกจากนั้นสถาบันอุดมศึกษาที่เข้ารับการประเมินเป็นที่เรียบร้อยต้องรายงานไปยังหน่วยงานต้นสังกัดให้ทราบ จึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะได้ทราบผลการประเมินในภาพรวม จุดแข็ง และจุดอ่อนของสถาบันอุดมศึกษาไทย เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรฐานสถาบันอุดมศึกษาในอนาคต

“การประเมินจาก สมศ.เป็นดังกระจกบานนอกที่สะท้อน จากผู้ประเมินที่มีประสบการณ์ให้กับสถาบันอุดมศึกษาได้ทราบว่าผลการดำเนินงานนั้นเป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษาหรือไม่ การลงพื้นที่เข้าไปประเมิน ไม่ได้เข้าไปเพื่อตรวจสอบหรือจับผิดว่ามีองค์ประกอบคุณภาพตามกฎกระทรวงครบถ้วนตามที่กำหนดหรือไม่ อยากให้มองว่าเป็นการลงพื้นที่ เป็นการสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ประเมินและสถาบันอุดมศึกษา โดยผู้ประเมินจะช่วยให้ข้อเสนอแนะว่าควรปรับปรุงอย่างไรหากมีข้อที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด หรือสถาบันอุดมศึกษามีความเป็นเลิศในด้านใด
ผู้ประเมินก็จะช่วยแนะนำส่งเสริมจุดนั้นให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 มีสถาบันอุดมศึกษาขอเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกกับ สมศ.แล้วกว่า 50 แห่ง ซึ่งหากมีสถาบันอุดมศึกษาต้องการเข้ารับการประเมินภายนอกเพิ่มเติม สมศ.ก็มีความพร้อมในการเข้าไปประเมินให้สถาบันอุดมศึกษาเหล่านั้น” รศ.ดร.รัฐชาติทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาได้ที่ www.onesqa.or.th หรือ Facebook : สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image