กลายเป็นกระแสตามโซเชียลหลังมีข่าวว่าจะแปลงโครงการ “คนละครึ่งเฟส 5” กลายเป็น “คนละเสี้ยว” แม้กระทรวงการคลังและโฆษกรัฐบาล จะออกมาปฎิเสธแล้วว่าไม่เป็นความจริง ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพราะเป็นมาตรการที่ใช้งบประมาณสูง
ความจริงรัฐบาลออกมาพูดตรงๆ เลยดีกว่าตอนนี้คลังกระเป๋าฉีก ไม่มีเงินมาหว่านกันอีกแล้ว คงต้องปิดฉากโครงการคนละครึ่งแค่นี้ เชื่อว่าคนทั้งประเทศคงเข้าใจได้ง่ายๆ
เพราะหากเข้าไปดูข้อมูลแผนบริหารหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2565 กรอบแผนบริหารหนี้สาธารณะ พบว่า แผนก่อหนี้ใหม่ทั้งของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เป็นวงเงิน 1.34 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นของรัฐบาลโดยตรง 1.2 ล้านล้านบาท และเป็นของรัฐวิสาหกิจ 1.4 แสนล้านบาท ขณะที่แผนบริหารหนี้เดิมวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท โดยเป็นหนี้ของรัฐบาล 1.37 ล้านล้านบาท และของรัฐวิสาหกิจ 1.34 แสนล้านบาท
และในงบประมาณรายจ่ายปี 2565 พบว่า การชำระหนี้ภาครัฐรวมจำนวน 363,269 ล้านบาท ใช้หนี้เงินต้นเพียง 100,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่เป็นดอกเบี้ยมากถึง 263,269 ล้านบาท
ตอนนี้รัฐบาลกำลังอยู่ในวังวน “กู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า” (ใช้ดอกเบี้ย) ที่แทบมองไม่เห็นอนาคตว่าเมื่อไรจะใช้หนี้หมด
ทั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลังได้รายงานถึงมูลค่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 อยู่ที่ระดับร้อยละ 60.17
สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของแต่ละประเทศควรอยู่ที่ระดับเท่าใด คำตอบที่แท้จริงคือไม่มีสูตรสำเร็จ แม้ธนาคารโลกจะกำหนดไว้ไม่ควรเกินร้อยละ 77
แต่ประเด็นสำคัญไม่ใช่อยู่ที่รัฐบาลควรก่อหนี้สาธารณะหรือไม่ หรือมูลค่าหนี้สาธารณะไม่ควรเกินระดับใดเมื่อเทียบกับจีดีพี หากแต่ประเด็นสำคัญกลับอยู่ที่หนี้สาธารณะที่รัฐบาลก่อขึ้นนั้นถูกนำไปใช้อย่างไร
หากเงินที่กู้มานั้นนำไปใช้สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการนำไปลงทุนในโครงการต่างๆ ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับความสามารถของประเทศ นำไปลงทุนเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน หรือนำไปลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในปัจจุบันมากกว่าการเก็บออมจะถือได้ว่ารัฐบาลสามารถก่อหนี้สาธารณะแล้วเกิดประโยชน์ต่อประเทศ
แต่หากเงินกู้เหล่านั้นถูกนำไปใช้ด้วยการแจกจ่ายให้กับประชาชน โดยมิได้มุ่งหวังให้เกิดการผลิตสินค้าหรือบริการ หากแต่มุ่งหวังเพียงการสร้างความนิยมทางการเมือง นำไปลงทุนในโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดการยกระดับความสามารถประเทศ หรือการลงทุนในโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ หนี้สาธารณะที่รัฐบาลก่อขึ้นก็จะสร้างหายนะให้กับประเทศนั้น
ยิ่งล่าสุด ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาเปิดเผยว่า รัฐบาลมีการซุกหนี้เพราะได้ติดตามหนี้ที่รัฐบาลติดค้างหน่วยงานรัฐต่างๆ แม้กระทรวงการคลังอ้างว่าได้เปิดเผยไว้ในรายงานความเสี่ยงทางการคลัง แต่พบว่าปัจจุบันไม่ได้มีการเอารายงานนี้ขึ้นเว็บไซต์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังมา 2 ปีแล้ว ทั้งที่ปกติจะนำขึ้นเว็บทุกปี
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจเคยเรียกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังมาชี้แจง แต่กลับให้ข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบัน บอกแค่สัดส่วนคร่าวๆ เมื่อสอบถามข้อมูลล่าสุด กลับอ้างว่าเป็นข้อมูลลับที่จะเปิดเผยต่อคณะกรรมการนโยบาย
การเงินการคลังแห่งรัฐเท่านั้น
ไม่นานนี้ เพิ่งมีการขยายกรอบเพดานให้รัฐบาลสามารถกู้ได้เพิ่มเป็น 35% ของงบประมาณรายจ่าย จากเดิม 30% เพื่อให้มีงบไปใช้ในโครงการประกันรายได้เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันมีการกู้ไปจนถึง 34.2% ของงบประมาณแล้ว เรียกได้ว่าขยายเพดานปุ๊บ ก็กู้จนปริ่มเพดานอีกแล้ว
หนี้ที่ติดค้างหน่วยงานรัฐ 1.06 ล้านล้านบาทนี้ คือ งบที่เอามาใช้ประกันรายได้ จำนำข้าวอุดหนุนดอกเบี้ยธนาคารรัฐประมาณแสนกว่าล้านบาทในแต่ละปี เมื่อใช้เงินนอกงบประมาณ โครงการพวกนี้ก็จะไม่อยู่ในเอกสารงบประมาณประจำปี ไม่ถูกตรวจสอบจากสภา จะมาเห็นอีกทีเมื่อตั้งงบประมาณประจำปีเพื่อใช้หนี้ในอดีต
เจ้าหนี้รายใหญ่ คือ ธ.ก.ส. ยอดหนี้รวมเกือบ 9 แสนล้าน ในปีงบ’65 มีการตั้งงบใช้หนี้ ธ.ก.ส. 69,000 ล้านบาท ส่วนในปีงบ’66 ตั้งงบส่วนนี้ไว้สูงถึง 84,000 ล้านบาท
หนี้ที่ติดค้างหน่วยงานรัฐ 1.06 ล้านล้านบาท ทำไมไม่เปิดเผยข้อมูลเป็นสาธารณะ ถือเป็นการซุกหนี้อีกก้อนหรือไม่