อนุรักษ์ว่าวจุฬาโบราณ ในงานตลาดน้ำ 3 อำเภอ 

อนุรักษ์ว่าวจุฬาโบราณ ในงานตลาดน้ำ 3 อำเภอ

วันที่ 5 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดน้ำ 3 อำเภอ เชื่อมต่อ 2 จังหวัด ระหว่าง อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี และ อ.บางคนที อ. อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีสายน้ำมารวมกันระหว่างน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด ส่งผลทำให้ที่นี่ได้มีการฟื้นฟู และเตรียมส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ ชมทัศนียภาพสองฝั่งคลองของ 2 จังหวัด  กลุ่มเกษตรกร ชาวบ้านในพื้นที่นำสินค้าการเกษตร ผัก ผลไม้ สินค้าแปรรูป ผลิตภัณฑ์ของชุมชนมาวางจำหน่ายราคาถูก แต่ที่น่าสนใจคือ มีชาวบ้านได้นำว่าวจุฬา ซึ่งเป็นว่าวไทยโบราณมาวางจำหน่ายหลายขนาด และเปิดโอกาสให้เรียนรู้ ประวัติความเป็นมา วิธีการทำ และช่องทางการจำหน่าย เนื่องจากปัจจุบันการทำว่าวไทยโบราณเริ่มเลือนหายลดน้อยลงไปทุกทีแล้ว

นายปรีชา สุคนทมาน อายุ 62 ปี ชาว อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี ผู้เชี่ยวชาญการทำว่าวจุฬา กล่าวว่า ว่าวจุฬามีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย  ตนเองอาศัยการศึกษาจำวิธีการทำว่าวมาแต่ยังเล็ก โดยหัดเล่นมาแต่อายุ 10 ขวบ เพราะเห็นผู้ใหญ่เล่นกันมา  จึงพยายามอนุรักษ์ว่าวที่พอทำได้ เพื่อช่วยกันสืบสานศิลปะที่เป็นการละเล่นของเด็กไทยโบราณให้คงอยู่และพัฒนาให้ดีขึ้น

“สมัยโบราณจะเห็นว่าวที่มีลายดอกกลม ๆ ดอกลูกปลาที่เป็นดอกจิกสีทอง สีเงิน ตอนนี้ได้พัฒนาขึ้นโดยใช้แบล็กกราวน์ของว่าวเอามาทำเป็นดอกที่เรียกว่าดอกไทยประยุกต์ติดขึ้นมาเป็น 5 ชั้น 7 ชั้น ลักษณะสวยงาม และยังพัฒนาเรื่องรูปทรง การขึ้น การส่าย ต้องสวย ต้องมีเสียงดัง ต้องสูง สุดท้ายว่าวจะยืนอยู่ได้ถ้าเกิดว่าเด็กสนใจ แต่ยอมรับว่าสมัยนี้เด็กมัวแต่สนใจอยู่กับเกม ไม่ได้มาสนใจตากแดดเล่นว่าวเหมือนสมัยก่อน”นายปรีชา กล่าว

Advertisement

นายปรีชา กล่าวว่า ขั้นตอนทำค่อนข้างยากเริ่มจากคัดเลือกไม้ไผ่สีสุกมีอายุปีประมาณ 5 ปี ขึ้นไป  เหลาแล้วนำไปขึ้นโครง นำเชือก ขึงที่ตาว่าว  โดยปะกระดาษว่าวที่บริเวณหัวก่อน จนทั่วทั้งตัว จากนั้นติดดอกลูกปลาตามความชอบ ติดเพื่อทำให้กระดาษและโครงว่าวยึดติดกันมีความแข็งแรง มีมาตรฐาน ทำให้ตัวว่าวส่ายสูง ส่ายสวย  สำหรับการทำว่าวจุฬาใช้เวลาในการทำประมาณ 3-7 วัน บางตัวมีขนาดใหญ่ทำถึง 10 วัน จำหน่ายว่าวจุฬาจะมีหลายขนาด ราคาตั้งแต่ 500 – 2,500 บาท นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจว่าวจุฬา สามารถไปชมหรือสนใจจะซื้อกลับมาเป็นที่ระลึกได้ใน งานเปิดงานเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำ ของตลาดน้ำ 3 อำเภอ เชื่อมโยงวิถีชีวิต ได้ระหว่างวันที่ 12-16 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ สนใจศึกษาวิธีการทำว่าวจุฬา ติดต่อสอบถามได้ที่  นายปรีชา สุคนทมาน  081- 4979219

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image