กรมเจรจาฯก้าวสู่ปีที่81 ชูวิสัยทัศน์ลุยเจรจาเอฟทีเอ อัพเก่า-เพิ่มใหม่ ดันเอเปคฟื้นเศรษฐกิจ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ของกรม เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ครบรอบ 80 ปี ว่า กรมได้กำหนดวิสัยทัศน์การทำงานในอีก 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2565-2570) โดยตั้งเป้าที่จะผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้า ให้ครอบคลุม 80% ของสัดส่วนการค้าไทยกับโลก ซึ่งปัจจุบันการทำ FTA กับคู่ค้า มีสัดส่วนอยู่ที่ 64% เมื่อเทียบกับอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ทำ FTA กับประเทศทั่วโลก สูงถึง 96% เวียดนาม 73% อินโดนีเซีย 67% และฟิลิปปินส์ 71% ดังนั้น กรมจึงต้องเร่งผลักดันการเจรจาจัดทำ FTA กับคู่ค้าเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้า บริการและการลงทุน ให้กับผู้ประกอบการไทย

นางอรมนกล่าวว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ดังกล่าว ทำให้ปีนี้ กรมมีแผนที่จะผลักดันการเจรจา FTA คงค้างให้ได้ข้อยุติ อาทิ ไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน ไทย-ศรีลังกา โดย FTA ไทย-ตุรกี มีแนวโน้มที่จะสรุปผลการเจรจาได้ภายในปีนี้ และจะเร่งเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ ได้แก่ ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่ง FTA ไทย-EFTA และการอัพเกรด FTA ในกรอบอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กำลังอยู่ระหว่างการเสนอกรอบการเจรจาให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา รวมทั้งมีแผนศึกษาทำ FTA กับประเทศที่ภาคเอกชนเสนอ อาทิ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และละตินอเมริกา

สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (MRT) ระหว่างวันที่ 19-22 พฤษภาคมนี้ โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน จะผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Model) การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การฟื้นฟูการท่องเที่ยว การเปิดการค้าเสรี การรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค การก้าวไปสู่สังคมดิจิทัล การส่งเสริมแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร และที่สำคัญจะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการค้า การลงทุน ให้รองรับรูปแบบการค้าใหม่สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 การอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีน สินค้าจำเป็น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของสมาชิกเอเปค

ในส่วนของการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) ในเดือนมิถุนายนนี้ จะร่วมกับสมาชิกผลักดันการจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง การลดการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตร การปฏิรูป WTO เพื่อให้เป็นองค์กรที่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการเพิ่มบทบาทของ WTO ในการรับมือกับโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

Advertisement

นางอรมนกล่าวอีกว่า ในปีนี้กรมยังมีแผนใช้เวทีการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า ( JTC) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า และกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยในปีนี้ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JTC ระดับรัฐมนตรี กับเวียดนามและภูฏานแล้ว เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และมีแผนจะประชุม JTC กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร มัลดีฟส์ จีนและบังกลาเทศ นอกจากนี้ จะเดินหน้านำผลสำเร็จจากการเจรจา FTA ในกรอบต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติจริง โดยจะลงพื้นที่ไปพบปะกับเกษตรกร และผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อไปแนะนำ ให้ข้อเสนอแนะ ชี้โอกาสและลู่ทางการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการทำตลาดต่างประเทศ โดยมีแผนที่จะลงพื้นที่ อาทิ โครงการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ FTA Center ระดับจังหวัด ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2565 ณ จ.พะเยา โครงการพัฒนาความพร้อมทางการค้าของสหกรณ์ไทยสู่การค้าเสรี (ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน 2565 ณ จ.นครศรีธรรมราช โครงการการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 16-18 มิถุนายน 2565 ณ จ.นราธิวาส โครงการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี (ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม 2565 ณ จ.แม่ฮ่องสอน

“แม้กรมจะเร่งเดินหน้าการเจรจา FTA เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน แต่จะดำเนินการไปพร้อมกับการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร และผู้ประกอบการ โดยได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุน FTA แบบถาวร ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนของกระทรวงการคลังแล้ว และอยู่ระหว่างการเสนอ ครม.เพื่อพิจารณา” นางอรมนกล่าว

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา กรมได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการทำงาน สร้างเครือข่าย และสร้างการมีส่วนรวม ตลอดจนส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในการปฏิบัติราชการ โดยสนับสนุนการทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวมตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและโปร่งใส ซึ่งมีการพัฒนาบุคลากรและระบบการทำงานของกรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กรมได้รับรางวัลที่น่าภาคภูมิใจ อาทิ รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม รางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริการภาครัฐ และรางวัลศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image