‘บิ๊กตู่’ ถก ศบศ. ขอบคุณทุกภาคส่วนควบคุมโควิด-19 ได้ดี ส่งผล WHO ยกย่องไทยเป็นประเทศต้นแบบรับมือการแพร่ระบาด
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 6 พฤษภาคม ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ครั้งที่ 2/2565 โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยก่อนเข้าห้องประชุมระหว่างเดินจากตึกไทยคู่ฟ้าไปยังตึกภักดีบดินทร์ พล.อ.ประยุทธ์ได้คุยโทรศัพท์ต่อเนื่อง พร้อมหันมาชำเลืองผู้สื่อข่าวก่อนเข้าห้องประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมจะมีการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด เสนอโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งติดตามสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวเสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ขณะเดียวกันยังติดตามความคืบหน้ามาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย และจะมีการพิจารณาแผนพัฒนาและฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในกลุ่มจังหวัดอันดามัน ประกอบด้วย ภูเก็ต กระบี่ และพังงา รวมถึงพิจารณาการสนับสนุนและการเพิ่มโอกาสให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Specialised Expo 2028
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนการประชุมว่า วันนี้ประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เห็นได้ว่าสถานการณ์มีแนวโน้มคลี่คลายลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลได้เร่งกระจายวัคซีนให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ผู้ป่วยอาการรุนแรงและผู้เสียชีวิตก็อยู่ภายใต้การดูแลตามศักยภาพของระบบสาธารณสุขที่ได้เตรียมการไว้ ความสำเร็จดังกล่าวถือเป็นผลมาจากการทำงาน ในการบริหารจัดการควบคุมการระบาดของฝ่ายสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เอกชน รวมทั้งประชาชน ที่ร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอย่างดี ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยกย่องให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบที่มีการบริหารจัดการ และการรับมือของการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องระมัดระวัง และติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอน และสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างใกล้ชิดต่อไป ต้องเตรียมแผนรับมือ ปรับมาตรการให้เหมาะสมและทันท่วงที ซึ่งจากข้อมูลฝ่ายสาธารณสุขรายงานว่า การเปิดรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ หรือเดินทางเข้ามาในโครงการนำร่องด้านการท่องเที่ยวและบริการ แม้จะตรวจพบผู้ติดเชื้ออยู่บ้างแต่ก็เป็นจำนวนน้อย และสามารถควบคุมได้ จึงอาจไม่ใช่ปัจจัยที่มีผลทำให้การติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลกในปัจจุบัน หลายประเทศเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรค มีการเปิดประเทศควบคู่ไปกับการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ตรงกับนโยบายของรัฐบาล “Living with covid-19” ดังนั้น ศบค.จึงมีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการอย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งการกำหนดพื้นที่นำร่อง เงื่อนไขการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร รวมทั้งการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ในปี 2565 ด้วย
ด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมและขอบคุณประชาชนทุกภาคส่วนที่ร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขจนส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของประเทศไทยลดลงมาอยู่ในหลักพันติดต่อกัน 5 วันแล้ว ซึ่งขณะนี้สถานการณ์เริ่มทรงตัว และมีการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) มากขึ้น ทำให้หลายสถานพยาบาลมีการปรับลดการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในสถานพยาบาลลง และกลับมารักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ รวมถึงทำการรักษาผ่าตัดเพิ่มมากขึ้น โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง
นายธนกรกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังขอให้ประชาชนทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขในการป้องกันการติดโรคโควิด-19 แบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัดต่อไป เพื่อทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงอีก ทั้งนี้ ได้มอบหมายกระทรวงสาธารณสุขเฝ้าติดตามสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเริ่มมีการตรวจพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อยในบางประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น