โฟกัสโลกรอบสัปดาห์ : ทำความรู้จักอาซอฟสตัล โรงงานเหล็กแห่งมารีอูโปล

A view shows a plant of Azovstal Iron and Steel Works during Ukraine-Russia conflict in the southern port city of Mariupol, Ukraine May 5, 2022. Picture taken with a drone. REUTERS/Pavel Klimov

•อาซอฟสตัลคืออะไร
โรงงานเหล็กอาซอฟสตัล ที่เมืองมารีอูโปล ประเทศยูเครน เปิดทำการตั้งแต่ปี 1933 เมื่อโจเซฟ สตาลิน เป็นผู้นำสหภาพโซเวียต ก่อนจะถูกสร้างขึ้นมาใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง บนพื้นที่ขนาดกว่า 10 ตารางกิโลเมตร ก่อนหน้าที่รัสเซียจะรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โรงงานนี้สามารถผลิตเหล็กได้ 4.3 ล้านตันต่อปี

สื่อเดอะไทมส์ได้รายงานว่า “ที่นี่เป็นเหมือนเขาวงกตของระบบราง โรงงาน เตาหลอมเหล็กและโกดังสินค้า พร้อมอาคารที่สร้างด้วยคอนกรีตอย่างหนาซึ่งถูกออกแบบให้สามารถทนความร้อนได้สูง” ขณะที่บริเวณชั้นใต้ดินประกอบไปด้วยอุโมงค์และหลุมหลบภัย ด้าน พลโทมาร์ก เฮิร์ตลิง เจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐที่เกษียณอายุแล้ว กล่าวกับสื่อซีเอ็นเอ็นว่า “ที่นั่นลงไปได้ลึกถึง 6 ชั้น และมีขนาดประมาณกรุงวิลนีอุส เมืองหลวงของลิทัวเนีย มันเป็นเมืองใต้ดินขนาดใหญ่ พร้อมด้วยความสามารถในการโจมตีผู้รุกราน”

•จำนวนทหารในโรงงาน
โรงงานแห่งนี้เป็นที่มั่นสุดท้ายของกองกำลังยูเครนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องเมืองมารีอูโปล ซึ่งขณะนี้เหลือทหารยูเครนอยู่ในโรงงานราว 2,000 นาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยนาวิกโยธินที่ 36 กองกำลังอาซอฟ นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายแดน และพลเรือนที่ต้องการจะสู้รบ

สวายาโตสลาฟ ปาลามาร์ รองผู้บัญชาการกองกำลังอาซอฟ อธิบายว่า “ทหารบางส่วนช่วยปกป้องพื้นที่ บางส่วนป้องกันไม่ให้ผู้รุกรานโจมตีได้ บางส่วนมีหน้าที่เจรจาหยุดยิง บางส่วนก็ช่วยกันกำจัดเศษซากที่ถล่มลงมา”

Advertisement

ขณะนี้มีทหารบาดเจ็บราว 500 นาย ในโรงงานดังกล่าว และกองทัพรัสเซียได้ทิ้งระเบิดลงโรงพยาบาลสนามไปแล้วเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน
ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กองทัพรัสเซียได้ถล่ม
อาคารที่ตั้งอยู่เหนือพื้นดินราบเป็นหน้ากลอง

•ทำไมพลเรือนหลบภัยที่นี่
พลเรือนเลือกที่จะซ่อนตัวในโรงงานก็เพราะ โรงงานมีอุโมงค์และหลุมหลบภัย ซึ่งเดิมถูกออกแบบมาเพื่อขนส่งอุปกรณ์ระหว่างอาคาร ไม่ใช่เพื่อการทหาร อ้างอิงข้อมูลจากเมตินเวสต์ บริษัททำเหล็กและเหมืองที่เป็นเจ้าของโรงงานอาซอฟสตัล แต่คนงานทำเหล็กเริ่มใช้เป็นหลุมหลบภัยใต้ดินเมื่อปี 2014 ที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียยึดเมืองมารีอูโปล

“ตั้งแต่ที่เกิดการรุกรานครั้งแรก เราก็ดูแลหลุมหลบภัยให้อยู่ในสภาพดีมีอาหารและน้ำพร้อมตลอด เพียงพอสำหรับดูแลคน 4,000 คนเป็นเวลา 3 สัปดาห์” โฆษกหญิงของบริษัทเมตินเวสต์ระบุ

Advertisement

ในช่วงแรกของการรุกรานยูเครน มีพลเรือนหลบอยู่ในโรงงานมากกว่า 2,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานและครอบครัว เป็นเวลาราว 60 วัน ก่อนที่การอพยพจะเริ่มขึ้น ทั้งนี้ ทางการยูเครน
คาดว่า มีผู้คนในเมืองมารีอูโปลราว 20,000 คน ที่ถูกสังหารในสมรภูมิรบนี้

•สภาพภายในโรงงานเป็นอย่างไร
จากคำบอกเล่าของทหารและพลเรือนที่ติดอยู่ภายในโรงงานระบุว่า ย่ำแย่มาก เพราะอาหาร น้ำดื่มและกระสุนปืน ขาดแคลน และพื้นที่โดยรอบโรงงานกลิ่นเหมือนซากศพ นาตาเลีย อัสมาโนวา พลเรือนวัย 37 ปี ที่เพิ่งอพยพออกมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมระบุว่า “เราไม่ได้เห็นพระอาทิตย์มานานมาก และฉันกลัวว่าหลุมหลบภัยจะไม่สามารถต้านทานได้ ฉันกลัวมากจริงๆ” อย่างไรก็ตาม อัสมาโนวายังคงเล่นมุกกับสามีบนรถบัสว่า พวกเขาจะไม่ขับถ่ายลงถุงพลาสติกในห้องน้ำแบบมืดๆ อีกแล้ว “แต่คุณคงจินตนาการสิ่งที่เราต้องประสบไม่ออกหรอก มันน่ากลัวมากๆ ฉันอยู่ที่นั่น ทำงานที่นั่นตลอดทั้งชีวิต แต่สิ่งที่เราเห็นที่นั่นมันช่างเลวร้ายจริงๆ” อัสมาโนวากล่าว ในขณะที่นายกเทศมนตรีวาดิม บอยเชนโก ของเมืองมารีอูโปลกล่าวว่า “พลเรือนที่ได้ออกจากเมืองบอกว่า นรกมีอยู่จริง และมันอยู่ในมารีอูโปล แต่ถ้ามารีอูโปลคือนรก อาซอฟสตัลนั้นเลวร้ายกว่า”

•มารีอูโปลดีขึ้นบ้างไหม
เยเลนา กิเบิร์ต นักจิตวิทยากล่าวกับสื่อว่า มารีอูโปลยังไม่ดีขึ้นนัก ผู้อยู่อาศัยที่หนีจากบริเวณรอบเมืองมารีอูโปล หลังจากที่ถูกรัสเซียยึด รอดชีวิตได้ด้วยอาหารที่กองทัพรัสเซียแจกซึ่งบางครั้งก็หมดอายุ โดยพวกเขาจะได้รับก็ต่อเมื่อทนฟังเพลงชาติรัสเซียและเพลงชาติสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนแล้วเท่านั้น ทำให้ผู้คนในมารีอูโปลรู้สึกสิ้นหวังมาก และประชาชนเริ่มคุยกันถึงเรื่องการฆ่าตัวตายเพราะต้องติดอยู่ในสภาพแบบนี้ ด้าน อนาสตาซียา เดมบิตสกายา ผู้อพยพระบุว่า สิ่งที่ดีขึ้นคือ เริ่มมีการเก็บขยะแล้ว ศพผู้เสียชีวิต ขยะ สายไฟเกลื่อนพื้นไปหมด

•ทำไมรัสเซียอยากยึดโรงงาน
คำตอบคือ รัสเซียจำเป็นต้องควบคุมเมืองมารีอูโปลเพื่อรักษาเส้นทางทางบกจากดินแดนไครเมียไปสู่ภูมิภาคดอนบาสและพื้นที่ของรัสเซีย นอกจากนี้โรงงานอาซอฟสตัลเป็นที่มั่นสุดท้ายของยูเครน และโรงงานนี้ก็มีท่าเรือบริเวณทะเลอาซอฟด้วย ส่วน พลตรีเจมส์ มาร์กส กล่าวว่า “พวกรัสเซียก็แค่ไม่แคร์ว่าจะเกิดหายนะอะไรที่โรงงานเหล็กนั่น จุดประสงค์ของรัสเซียคือทำให้ยูเครนเสียกำลังใจ และทำให้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ปูตินไม่มีความต้องการที่จะถอนทัพออกจากยูเครนและไม่ต้องการจะสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ แต่เขาต้องการพื้นที่กันชน (Buffer Zone)”

“หากทหารยูเครนที่เหลืออยู่ไม่สามารถออกไปอย่างปลอดภัยได้ รัสเซียก็จะโจมตีจนราบ ซึ่งคงจะยากหน่อยเพราะยูเครนจะสู้จนเหลือคนสุดท้าย รัสเซียจะต้องเกิดความสูญเสีย เราจะทำลายรัสเซีย”

•ทำไมทหารยูเครนไม่หนีเมื่อมีโอกาส
หน่วยนาวิกโยธินที่ 36 และกองกำลังอาซอฟจัดการกลุ่มกองพันโจมตีด้วยยุทธวิธีของรัสเซียได้หลายสิบคน และกลุ่มผู้ปกป้องเมืองมารีอูโปลจะถูกบันทึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์จากความกล้าหาญและการพลีชีพเพื่อชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image