‘อนุกมธ.อวกาศ’เตรียมส่งรายงานแนะรบ.เดินเครื่องกิจการอวกาศ – พัฒนาความร่วมมือกับเอกชน

‘เศรษพงค์’ ชี้ กิจการอวกาศไม่ใช่เรื่องลี้ลับ เผย ‘อนุ กมธ.อวกาศ’เตรียมส่งรายงานแนะ รบ.เดินเครื่องกิจการอวกาศ – พัฒนาความร่วมมือกับเอกชน จ่อเสนอคลายกฎใช้ความถี่ในรูปแบบ Tech Park เพื่อเปิดกว้างรองรับกิจการอวกาศ

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง ใน กมธ. การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการพัฒนากิจการอวกาศ ว่า กิจการดาวเทียมในประเทศไทยมีบริษัทที่ได้รับอนุญาตสิทธิในการเข้าใช้วงโคจร เพื่อส่งดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นไป โดยไม่ได้ให้บริการเชิงพาณิชย์ มีจำนวน 7 ราย แต่หากเป็นบริษัทที่ประกอบการเชิงพาณิชย์ และได้รับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจร มีเพียง 2 บริษัท คือ NT กับ Thaicom ที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. แต่ไม่ได้ใช้แค่ยิงดาวเทียมเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้เกี่ยวกับเรื่องแผนที่ดาวเทียม ที่มีหลายบริษัทของคนไทยใช้เพื่อวางแผนให้กับกรมที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำ วางแผนเรื่องป่าไม้ ซึ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับผืนดินจะเกี่ยวกับอวกาศทั้งสิ้น ทั้งนี้ระบบ 6G ในปี 2030 ที่ประกาศโดยสหภาพการโทรคมนาคมระหว่างประเทศประกาศว่า ดาวเทียมขนาดเล็ก ซึ่งมีขนาดเท่ากับกระป๋อง ที่ลอยบนอวกาศระยะทาง 200-300 กิโลเมตร สามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ ทำให้มีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับอวกาศในภาคพื้นดิน เช่น การวิเคราะห์ดาต้า ภาพถ่ายดาวเทียม นอกจากนั้นส่วนของการพัฒนากิจการอวกาศที่สำคัญคือ การส่งจรวดเพื่อนำดาวเทียมและอุปกรณ์รต่างๆ ขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งมีต้นทุนสูง หากสามารถลดต้นทุนดังกล่าวได้จะทำให้การพัฒนากิจการได้มากและสร้างมูลค่าได้มหาศาล

“ธุรกิจกิจการอวกาศของประเทศไทย ต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาบุคลากร โดยรัฐบาลต้องให้ความสนใจอย่างจริงจัง เมื่อมีนโยบายแล้วต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง นอกจากนั้น คือ การศึกษา ต้องสร้างแรงบันดาลใจของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผมทราบว่ามีนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยพยายามนำกิจการโครงการอวกาศ ดาวเทียมขนาดเล็กให้สถาบันการศึกษาระดับมัธยม เช่น โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างดาวเทียม และในระดับมหาวิทยาลัย เด็กรุ่นใหม่ได้สร้างเครือข่าย เพื่อเรียนรู้ไปสู่อนาคต กิจการอวกาศเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่ต้องให้ความสำคัญ รวมถึงต้องเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับอวกาศในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโครงการนานาชาติที่มีสถานีอวกาศ (Space Station) เพราะจะทำให้คนไทยมีโอกาสทำการทดลองในระดับที่สูงขึ้นทัดเทียมประเทศชั้นนำด้านอวกาศ จะเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญในการพัฒนากิจการอวกาศของไทยได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์” พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าว

ประธานอนุ กมธ.กิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการทำงานของอนุ กมธ. โดยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นอนุ กมธ. เพราะต้องการสื่อให้ประชาชนเห็นว่ากิจการอวกาศไม่ใช่เรื่องลี้ลับ รวมถึงรณรงค์ให้แวดวงการศึกษาตื่นตัวในกิจการอวกาศ เพื่อใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศ เช่น ด้านการเกษตรแม่นยำ ในการวางแผนเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด ทั้งนี้ การทำงานของ กมธ.ยังมีกรอบคิดเพื่อต้องการเปิดโอกาส หรือผ่อนคลายกฎระเบียบ เช่น การใช้คลื่นความถี่ ใช้โดรนบินบนอากาศ การอนุญาตใช้คลื่นได้ ในรูปแบบเทคพาร์ค (Tech Park) เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สอดรับกับการพัฒนากิจการอวกาศในอนาคต

Advertisement

“อนุ กมธ.จะทำรายงานเสนอให้กับรัฐบาลถึงการทำเทคพาร์คให้สำเร็จ ต้องเริ่มต้นและวางแผน รวมถึงมีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง เรามีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้ความเห็นอย่างรอบด้าน โดยจะเป็นการเสนอในรูปแบบทั้งการวิจัยและพัฒนาด้วย รวมถึงการดึงคนเข้ามาลงทุน ความร่วมมือระหว่างรัฐ และเอกชน อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่ ครม.ได้อนุมัติเห็นชอบเทคพาร์คในพื้นที่ EEC แล้ว อนุ กมธ.จึงต้องการช่วยเหลือรัฐบาลให้การทำนโยบายดังกล่าวสำเร็จด้วยดี” ประธานอนุ กมธ.กล่าว

พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าวถึงการขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กิจการอวกาศ พ.ศ. … ว่า หลังจากที่ ครม.อนุมัติตามข้อเสนอของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) แล้ว ตามกระบวนการจะเสนอเข้าสู่สภา ให้พิจารณากลั่นกรองโดยไม่ชักช้า ซึ่งเนื้อหาสำคัญของของร่าง พ.ร.บ. หากประกาศใช้คือ ให้มีคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อน new space economy ที่จะสร้างเม็ดเงินให้ประเทศมหาศาล ขณะที่เชิงนโยบายจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนการขับเคลื่อน มีตัวอย่างจากต่างประเทศพบว่าจะให้ภาคเอกชนมีบทบาทนำและรัฐบาลสนับสนุน

“ดังนั้น นโยบายรัฐต้องสอดคล้องกับภาคเอกชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างชาติ หรือระหว่างรัฐบาลกับเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนกันในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ผมเชื่อว่าประเทศไทยไม่ล้าหลัง สามารถทำให้เท่าทันกับต่างประเทศได้ เพราะเทคโนโลยีมีการต่อยอดได้ ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่รัฐบาลต้องมองให้เป็นเรื่องอันดับต้นของประเทศ และภาคธุรกิจต้องเล็งเห็นเช่นกัน” พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image