จริยธรรมบุคคลสาธารณะ

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมนายสุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปราจีนบุรี บิดา และพวกรวม 10 คน ข้อหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรีพื้นที่กว่า 150 ไร่ เหตุเกิดตั้งแต่ปี 2545

คดีมีอายุความ 20 ปี กรณีนางกนกวรรณจะหมดอายุความภายในเดือนกรกฎาคม 2565 ได้เข้ารายงานตัวต่ออัยการเพื่อนำตัวไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 ศาลนัดสอบคำให้การวันที่ 5 สิงหาคม 2565

ส่วนนายสุนทร อดีต ส.ส.ปราจีนบุรี 8 สมัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ยังไม่ตัดสินใจเข้ารายงานตัว

ป.ป.ช.พร้อมตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) และกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) จึงขอศาลออกหมายจับวันที่ 9 มิถุนายน ติดตามจับกุมตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่คดีขาดอายุความ ผลยังไม่พบตัว

Advertisement

2 กรณีนี้ข้อหาเดียวกัน แต่มีแง่มุมให้น่าคิด ถกเถียงเกี่ยวกับอายุความ ซึ่งมีผลต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และการตัดสินใจของผู้ถูกกล่าวหา ระหว่างเข้ารายงานตัวกับยังไม่เข้ารายงานตัว

จากข่าวสารที่ปรากฏวันครบกำหนดหมดอายุความ 20 ปี โดยเฉพาะกรณีนายสุนทร ต่างกันไปสองแนวทาง แนวทางแรกเห็นว่าคดีหมดอายุความวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 20 ปีนับจากเกิดเหตุ ทำให้เจ้าหน้าที่เร่งระดมติดตาม เข้าค้นบ้านพักที่สงสัยว่าผู้ถูกกล่าวหาจะอาศัยอยู่

แต่อีกแนวทางหนึ่งเห็นว่าคดีนายสุนทรยังไม่หมดอายุความ ตราบใดที่ยังครอบครองพื้นที่อุทยานแห่งชาติอยู่ คดีก็ยังมีอายุความต่อไป ไม่เริ่มนับอายุความตั้งแต่เกิดเหตุบุกรุก

Advertisement

คำถามจากคดีดังนี้จึงมีว่า บรรทัดฐานการนับอายุความกรณีถูกกล่าวหาบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติจะเริ่มนับเมื่อไหร่และสิ้นสุดวันไหน จะยึดถือแนวปฏิบัติของหน่วยงานใดเป็นหลัก ระหว่าง ป.ป.ช. ตำรวจ อัยการและศาล การตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้องต้องยึดกฎหมายใด มาตราไหน

บทสรุปคงต้องรอจนถึงวันที่ศาลสูงสุดตัดสิน

กรณีนี้ไม่เพียงแค่เกิดความเห็นต่างในทางกฎหมายเท่านั้น แต่มีแง่มุมเรื่องบรรทัดฐานทางจริยธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ให้คิดอีกด้วย

โดยเฉพาะผู้ถูกกล่าวยังดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ แม้มีข่าวปรากฏออกมาเป็นระยะก็ตาม ยังไม่ตัดสินใจลาออก

จนผู้สื่อข่าวได้ถามความเห็นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หลังจากมีข่าวว่านางกนกวรรณจะยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับคำตอบว่า “จะต้องมีการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่จะหยุดปฏิบัติหน้าที่เองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เหมือนกับที่รัฐมนตรีหลายคนถูกฟ้องและเขาอยู่ในศาลแต่ไม่ได้มีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

นั่นหมายความว่า มีสิทธิตามกฎหมาย สามารถอยุู่ในตำแหน่งต่อไปได้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่”

แต่มุมที่น่าคิดอยู่ที่วลีต่อมา “แต่จะหยุดปฏิบัติหน้าที่เอง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” ต่างหาก

นางกนกวรรณจะเลือกแนวทางใด รอศาลสั่ง หรือลาออกเอง

กรณีนี้ทำให้สะท้อนคิดถึงบรรทัดฐานทางจริยธรรม สำนึกแห่งความเป็นบุคคลสาธารณะของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบนเก้าอี้ที่นั่งอยู่ อีกด้วย

โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งถูกเรียกร้องมาตรฐานสูงและเข้มงวดกว่าคนธรรมดาทั่วไป เพราะเป็นแม่แบบของหน่วยงานด้านความรู้ ความดี ความงาม ความถูกต้องเหมาะสม เป็นตัวอย่างแก่เด็กและเยาวชน ครู ผู้บริหารสถานศึกษาทุกระดับ

ครับ น่าเห็นใจ ตำแหน่งหน้าที่ที่แบกไว้บางครั้งเป็นทุกขลาภ ทำให้เกิดความกดดัน ขัดแย้งในใจ

ไม่มีหัวโขนสวมอยู่ การตัดสินใจอะไร ดูจะง่ายเสียกว่า

เสนาบดีอีกรายที่สังคมกำลังเฝ้ารอติดตามความเป็นไปอยู่ คือนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

กรณีไม่อนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าซ่อมรถบำรุงทางอเนกประสงค์ให้แก่บริษัทเอกชนสมัยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา

เลือกที่จะอยูในตำแหน่งต่อไป ไม่ลาออก จนกว่าศาลจะตัดสิน หากมีการยื่นร้องขึ้น

ขณะที่แรงกดดันทางสังคมและภายในพรรคยังดำรงอยู่ เพราะอดีตรัฐมนตรีเคยสร้างบรรทัดฐานไว้โดยลาออกก่อน เพื่อยืนยันว่าไม่ติดยึดกับตำแหน่งหัวโขน และให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image