เดินหน้าชน : วิกฤตนี้หนักนัก

สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน ต้องยอมรับความจริงแบบที่เรียกว่า “ซีเรียส” การพุ่งทะยานของระดับราคากดดันให้ค่าครองชีพ ราคาสินค้าอุปโภคแพงยกแผง สวนทางกับรายได้ประชาชน

โลกและประเทศไทยประสบวิกฤตน้ำมันมาแล้วหลายระลอก

ย้อนอดีตกลับไป นับเฉพาะวิกฤตราคาเชื้อเพลิง 2 ครั้งล่าสุดในช่วง 15 ปีก่อน

ปลายปี 2550 ราคาน้ำมันดิบทำสถิติสูงสุดรอบร้อยปี ส่งให้น้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ เบนซิน 95 อยู่ที่ 102.92 เหรียญต่อบาร์เรล ดีเซลอยู่ที่ 110.79 เหรียญต่อบาร์เรล

Advertisement

ต่อมาในปี 2551 ราคายังคงเพิ่มสูงขึ้นมาต่อเนื่อง เดินทางมาถึงราคาสูงสุดในยุครัฐบาล “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” น้ำมันดีเซล ราคาสูงถึง 44.24 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันเบนซิน ราคา 42.89 บาทต่อลิตร ก่อนจะทยอยปรับลดลงในช่วงปลายปี

กระทั่งมาถึงปี 2557 ปลายยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ไทยต้องเผชิญกับวิกฤตราคาน้ำมันอีกครั้ง ดีเซล 29.99 บาทต่อลิตร ส่วนเบนซินวิ่งไปที่ 49.15 บาทต่อลิตร สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

รอบก่อนหน้าที่ว่าหนักแล้ว ปัจจุบันกลับสาหัสยิ่งกว่า เพราะวันนี้

Advertisement

แก๊สโซฮอล์อยู่ระหว่าง 43-50 บาทต่อลิตร

น้ำมันเบนซิน 95 ราคา 52.06 บาทต่อลิตร

น้ำมันไบโอดีเซล ราคา 34.94 บาทต่อลิตร

น้ำมันดีเซล พรีเมียม ราคา 46.36 บาทต่อลิตร

กล่าวสำหรับน้ำมันไบโอดีเซล หากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เข้าไปอุดหนุนลิตรละ 12 บาท เพื่อตรึงราคาขายไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร

ราคาจริงวันนี้ก็คงไปถึง 47 บาทแล้ว

แต่อนาคตอันใกล้ยิ่งชวนวิตกขึ้นไปอีก ประเมินกันว่าหลังจากนี้ราคาน้ำมันดีเซลมีโอกาสสูง ขึ้นไปแตะ 40 บาทต่อลิตร

ซ้ำร้ายจากคำพยากรณ์ของ “ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ซีอีโอบางจากคอร์ปอเรชั่น ประเมินทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ล่าสุดราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณ 170 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

แต่ช่วงฤดูหนาวของยุโรปและสหรัฐในปลายปีนี้ ความต้องใช้น้ำมันจะมีมากกว่าปกติ ส่งให้ราคาขยับปรับตัวขึ้นไปอีก โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและก๊าซแอลพีจี ความต้องการมากขึ้นแต่กำลังการผลิตลดลงจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ปริมาณน้ำมันหายไปจากตลาด

หากสงครามยังยืดเยื้อ ก็เป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันดีเซลมีโอกาสแตะ 200 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมัน ค่าขนส่งสูง สินค้าแพง ไปกดดันภาวะเงินเฟ้อที่ประเมินกันว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้ทะยานไปถึง 8% กระทบเป็นลูกระนาดไปยังคณะกรรมการนโยบายการเงินอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

เดือดร้อนลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ต้องควักเงินชำระค่างวดเพิ่มสูงขึ้น หรืออย่างดีที่สุดก็ต้องยืดเวลาจ่ายหนี้ออกไป

แม้กระทรวงพลังงานจะเจรจากับกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน 6 แห่ง เพื่อดึงกำไรส่วนเกิน 2.4 หมื่นล้านบาท มาช่วยพยุงราคาพลังงาน

และแม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติเมื่อสัปดาห์ก่อน เห็นชอบมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนและภาคธุรกิจเร่งด่วนในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน

อาจเป็นเพียงยันปัญหาเฉพาะหน้าไว้เท่านั้น ในเมื่อปัจจัยภายนอกเกินควบคุม เช่น ความต้องการพลังงานของโลกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เริ่มคลี่คลายภาวะโควิด-19 รวมถึงความยืดเยื้อของสงคราม
รัสเซีย-ยูเครน

ยังไม่รู้ วิกฤตพลังงานก้นเหวอยู่ตรงไหน

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image