โฆษกสภาทนายชี้ปลอมเอกสารประกันยื่นสินไหมทดแทนโควิดโทษหนักคุกไม่เกิน5 ปี-ฉ้อฉลคุกไม่เกิน 3 ปี

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม จากกรณีนายกสมาคมวินาศภัย ออกมาเปิดเผยว่า บริษัทประกันภัยที่เป็นสมาชิกกับสมาคม ตรวจสอบเอกสารการขอสินไหมทดแทนประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบพบมีการปลอมแปลงเอกสาร คือหมายเลขประจำตัวผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดรายอื่นมาใช้เป็นหมายเลขประจำตัวผู้ป่วยของตนและทำเอกสารใบรับรองผลตรวจโควิดปลอม เพื่อยื่นขอค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นจำนวนแล้วกว่า 500 ล้านบาทนั้น

นายนิพนธ์ จันทเวช เลขาธิการสภาทนายความ ในฐานะโฆษกสภาทนายความให้ความเห็นทางกฎหมายว่า การปลอมเป็นวิธีการให้ได้มาซึ่งเอกสารปลอมและนำไปใช้ ซึ่งกรณีดังกล่าวความผิดปลอมแปลงเอกสาร โดยผู้จัดทำเอกสารปลอมจะมีความผิดปลอมแปลงเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.264 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้นำเอกสารปลอมไปใช้จะมีความผิดใช้เอกสารปลอม ตาม ป.อาญา ม.268 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้ทำเอกสารปลอม ตามประเภทของเอกสารที่ใช้นั้นๆ และยังเข้าลักษณะเป็นการฉ้อฉลประกันภัย ตามมาตรา 114/4 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 และมาตรา 108/4 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังมีความผิดฉ้อโกงประกันวินาศภัย มาตรา 347 นำเอกสารปลอมเป็นเครื่องมือไปใช้หลอกลวง ซึ่งมีโทษหนักกว่าฉ้อโกงธรรมดา โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ผู้กระทำผิดจะอ้างว่าไม่เจตนา เนื่องจากโรงพยาบาลไม่ยอมตรวจโควิดและออกใบรับรองให้ไม่ได้ เพราะมีความผิดตั้งแต่คิดที่จะทำแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image