กรมชลประทานเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง หลังฝนตกติดต่อกันหลายวัน

ชป.เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง หลังฝนตกติดต่อกันหลายวัน  พร้อมบริหารจัดการน้ำตามเกณฑ์ ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

 

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (25 ก.ค. 65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน  42,776  ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 33,308 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,274 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 14,597 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดพร้อมบริหารจัดการน้ำตามเกณฑ์ที่กำหนด  รวมทั้งประกาศแจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบได้รับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง  ทำให้การบริหารจัดการน้ำยังคงเป็นไปตามแผน

อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 25-28 ก.ค.65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 29-31 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น  โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้  จึงได้กำชับให้โครงการชลประทาน และสำนักเครื่องจักรกลในพื้นที่เสี่ยงให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด  บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ ติดตามข้อมูลผ่านระบบโทรมาตรมาช่วยในแจ้งเตือนประชาชนก่อนการระบายน้ำ  เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด  ที่สำคัญให้ปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ทั้ง 13 มาตรการ ตามที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) กำชับ  ตรวจสอบอาคารชลประทาน ประตูระบายน้ำให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งหมั่นกำจัดวัชพืชอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การระบายน้ำทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement

ทั้งนี้  ขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากประชาชนหรือหน่วยงานใด ต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image