โดนเต็มๆ! “ธพส.-กปน.-รฟท.” อ้อนคลังขอยกเว้นภาษีที่ดินฯ อ้างเป็นรสก. ส่งเงินเข้ารัฐแล้ว

โดนเต็มๆ!”ธพส.-กปน.-รฟท.” อ้อนคลังขอยกเว้นภาษีที่ดินฯ อ้างเป็นรสก. ส่งเงินเข้ารัฐแล้ว ด้านเอกชนเผยอยากได้อัตราเดียวง่ายต่อการคิด

เมื่อวันที่ 11 กันยายน นายนาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) เปิดเผยว่า บริษัทจะทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง เพื่อขอยกเว้นไม่ต้องจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากเดิมไม่ต้องเสีย แต่ตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 จะต้องจ่ายเนื่องจากเป็นการนำที่ราชพัสดุมาใช้ประโยชน์ และมีรายได้ จึงทำให้ ธพส. มีค่าใช้จ่ายภาษีที่ดินที่ปีนี้เก็บ 100% เพิ่มขึ้นมาก เช่น ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ มีเนื้อที่กว่า 400 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตหลักสี่ ต้องจ่ายภาษีที่ดินร่วม 56 ล้านบาท ยังไม่รวมที่ดินอยู่ต่างจังหวัดอีกหลายแปลง เช่น ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่กว่า 300 ไร่ ซึ่งในปีนี้ต้องเสียภาษีที่ดิน 14 ล้านบาท จึงทำให้ธพส.จะหาเอกชนมาบริหารพื้นที่ เพื่อลดภาระ

แหล่งข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า นอกจาก ธพส.แล้วยังมีการประปานครหลวง(กปน.) ได้ยื่นเรื่องขอยกเว้นไม่จ่ายภาษีที่ดินฯในส่วนของโรงงานผลิตน้ำประปาในพื้นที่เขตหลักสี่ จำนวนกว่า 50 ล้านบาท ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา โดย กปน.ระบุว่าส่งรายได้เข้าคลังแล้ว น่าจะได้รับการยกเว้น ส่วนกรณีของ ธพส.โดยสถานะเป็นบริษัทและเป็นรัฐวิสาหกิจของกระทรวงการคลัง ก็ต้องจ่ายด้วยเช่นกัน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำหนังสืออุทธรณ์ หารือกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทยที่กำกับดูแลกทม.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อขอยกเว้นภาษีทั้งหมด เนื่องจากรถไฟเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาล แต่กระทรวงการคลังยืนยันแล้วว่า รฟท.จะต้องจ่าย ซึ่งเฉพาะพื้นที่ส่วนกลางในกรุงเทพฯ รฟท.มียอดรวมต้องชำระปีนี้ 180 ล้านบาท ยังไม่รวมที่ดินกระจายอยู่ทั่วประเทศอีก

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORและนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า สมาคมจะทำหนังสือถึงกระทรวงการคลังขอลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี 2566 และขอให้เก็บในอัตราเดียวกันทุกประเภท เพราะภาษีที่ดินจะคิดจากฐานราคาประเมินที่ดินอยู่แล้ว เหมือนกับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประเมินได้ง่าย เพราะไม่ซับซ้อน รวมถึงจะขอให้บ้านและคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วแต่ยังขายไม่หมด ไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน

Advertisement

นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมกำลังหารือการนิคมอุตสาหกรรม(กนอ.)ว่าจะยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลังขอลดหย่อนและปรับเกณฑ์การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของปี 2566 ใหม่ให้มีการประเมินราคาตามสภาพความเป็นจริงและแยกประเมินราคาที่ดินรอพัฒนากับที่ดินพัฒนาสาธารณูปโภคไปแล้ว ซึ่งในปี2565 สมาคมได้ยื่นของไปแล้ว แต่ไม่ได้รับอนุมัติ ทำให้สมาคมเตรียมจะยื่นขอในปี2566 ต่อ

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรณีรัฐบาลเตรียมจะกลับมาเก็บภาษีที่ดิน 100% หรือในอัตราเท่าเดิม จากที่ลดให้ในอัตรา 90% จ่ายจริงเพียง 10% เท่านั้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะเกิดโควิด-19 โดยเบื้องต้นธุรกิจของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อาจมีบ้างแต่ค่อนข้างน้อย เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรม ในส่วนของที่ดินต่างๆ จะมีขั้นตอนในการพัฒนากำหนดไว้อยู่แล้ว อาทิ ขั้นตอนแรกในการรอพัฒนา ก็เป็นสิ่งที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว มีการเตรียมงบประมาณไว้ จึงไม่ได้กระเทือนกับต้นทุนของธุรกิจเลย เพราะหากเปรียบเทียบกับรายได้ ถือว่ามีมากกว่าอยู่แล้ว แม้ว่าหากค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นบ้างก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image