“เบทาโกร” พร้อมเทรด 2 พ.ย.นี้ หลัง IPO จองซื้อเกลี้ยง ต้องจัดสรรหุ้นส่วนเกิน รวม 500 ล้านหุ้น

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้น IPO ของ BTG ได้รับความสนใจและมีกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศจองซื้อเต็มจำนวน จึงได้พิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกินเต็มจำนวนมาเสนอขายด้วย รวม 500 ล้านหุ้น ที่ราคาเสนอขาย 40 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าเสนอขายรวม 20,000 ล้านบาท มีการจองซื้อเต็มจำนวนทั้งหมด โดยหุ้น BTG คาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรกในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้

“เบทาโกรขอขอบคุณนักลงทุนที่ให้ความไว้วางใจและเชื่อมั่นในศักยภาพของเบทาโกร เพื่อร่วมสร้างการเติบโตไอด้วยกันอย่างยั่งยืน” นายวสิษฐ กล่าวและว่า การระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของเบทาโกร ในการมุ่งสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนชั้นนำในกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย ที่มีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทอาหารชั้นนำระดับสากล (World-Class Branded Food Company) ที่มีความแตกต่างและโดดเด่นจากบริษัทจดทะเบียนรายอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ด้วยโมเดลธุรกิจแบบครบวงจรครอบคลุมตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มีแบรนด์สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลายและครอบคลุมทั้งในประเทศไทยและอีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก
“ผมและทีมผู้บริหารมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าเบทาโกรจะสามารถสร้างการเติบโตของผลการดำเนินงานในอนาคตได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง จากแผนการขยายธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนมุมมองเชิงบวกที่มีต่อโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารโดยรวม พร้อมด้วยกระบวนการดำเนินงานที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพที่ดีกว่าและความปลอดภัยด้านอาหารที่สูงกว่า ในราคาที่เป็นธรรมเพื่อให้ประชาชนและชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ เบทาโกรวางแผนจะนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนไปต่อยอดความสำเร็จ เพื่อสร้างศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ได้แก่ 1.การลงทุนเพื่อการเข้าซื้อ และ/หรือก่อสร้างฟาร์มและโรงงานแห่งใหม่ประมาณ 8,000 ล้านบาท 2.การปรับโครงสร้างเงินทุนผ่านการชำระหนี้สินระยะสั้นและ/หรือระยะยาวให้แก่สถาบันการเงินประมาณ 8,960 – 10,500 ล้านบาท และ 3.ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินงาน ไม่เกิน 1,021 ล้านบาท

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image