เทียบยุคทักษิณ VS ประยุทธ์ จุดพลุต่างชาติซื้อบ้าน-ที่ดิน

เทียบยุคทักษิณVSประยุทธ์
จุดพลุต่างชาติซื้อบ้าน-ที่ดิน

ดูเหมือน รัฐบาลประยุทธ์ จะเข้าตาจน ต้องงัดทุกกลเม็ดดูดเงินลงทุนจาก ต่างชาติทั่วโลก มาปั๊ม เศรษฐกิจไทย เพื่อสู้วิกฤตซ้อนวิกฤต!

ล่าสุดนำมาตรการเก่า ยุคทักษิณ ที่ออกกฎหมายหลายฉบับดึงต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ กระตุ้นเศรษฐกิจ กู้วิกฤตต้มยำกุ้ง มาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง โดยเสนอคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 ตุลาคม 2565 อนุมัติร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. … ตามที่กระทรวงมหาดไทยนำเสนอเพิ่มเติม

คาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2566 เพื่อดึงคนต่างด้าวมีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม 1.ประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2.ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3.ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4.ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ได้สิทธิซื้อบ้านและที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ ในเขตกรุงเทพฯ เมืองพัทยา เขตเทศบาลหรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง

แลกกับนำเงินไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาทมาลงทุนไม่น้อยกว่า 3 ปี ในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใดหรือหลายประเภทรวมกัน ได้แก่ 1.ซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หรือพันธบัตร 2.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน หรือกองทุนรวมแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน

Advertisement

3.กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 4.ในทุนเรือนหุ้นของนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 5.ในกิจการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศให้เป็นกิจการที่สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้

เมื่อพลิกดูสาระร่างใหม่ ไม่ต่างจากกฎกระทรวงเดิมเมื่อปี 2545 สมัย รัฐบาลทักษิณ ซึ่งยังคงมีการใช้ถึงปัจจุบัน ขณะที่เวอร์ชั่น 2565 ยุค รัฐบาลประยุทธ์ มีปลดล็อก เพิ่มออปชั่นจูงใจนักลงทุนมากขึ้น โดยเพิ่มการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกับกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และร่นเวลาจาก 5 ปี เหลือ 3 ปี

ขณะเดียวกันมีคำถามว่า ในเมื่อประกาศบีโอไอ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2560 อนุญาตนิติบุคคลต่างด้าวผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับเป็นที่ตั้งสำนักงานและที่พักอาศัยได้ สำหรับที่ตั้งสำนักงานไม่เกิน 5 ไร่ ที่พักอาศัยผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการไม่เกิน 10 ไร่ ที่พักอาศัยคนงานไม่เกิน 20 ไร่ โดยที่ตั้งสำนักงานและที่พักอาศัยจะอยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่ดินอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการหรือไม่ก็ได้

Advertisement

เท่ากับว่าต่างชาติมาลงทุนในไทยซื้อได้อยู่แล้วทั่วประเทศ แถมยังได้ที่ดินมากกว่า น่าจะเป็นการจูงใจมากกว่ากฎกระทรวงที่ปรับใหม่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปิดให้ ต่างชาติถือครองที่ดิน ไม่ว่าจะภายใต้กฎหมายฉบับไหน มีเสียงแตก ทั้ง ขานรับ-เซย์โน ยังบานปลายกลายเป็นปมร้อนทาง การเมือง ที่ออกมาขยี้ถามดังๆ ไทยจะได้ประโยชน์หรือเสียดินแดน

มีมุมมองจาก อิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฎกระทรวงและประกาศบีโอไอไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยใช้มาแล้วปี 2545 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและธุรกิจอสังหาฯ แต่ต่างชาติสนใจน้อย

โดยในขณะนั้นมีกฎหมายเกี่ยวกับอสังหาฯ คือ ให้ต่างชาติซื้อคอนโดได้ 100% ใน 5 ปี ก่อนลดเหลือ 49% ของพื้นที่โครงการ และให้ต่างชาติมีสิทธิซื้อบ้านและที่ดินได้ 1 ไร่ หากลงทุน 40 ล้านบาท ส่วนสิทธิตามประกาศบีโอไอจะเน้นเฉพาะบริษัทต่างชาติมาลงทุน และยังไม่มีผู้สนใจ เพราะคนที่ทำนิคมอุตสาหกรรมไม่ต้องการจะทำที่อยู่อาศัย

ต่างชาติสนใจซื้อคอนโดมาก เพราะซื้อง่ายกว่าบ้านและที่ดินที่ขอใช้สิทธิยุ่งยาก ต้องมีหนังสือรับรอง ขออนุมัติเป็นรายกรณีจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดิน ทำให้มีต่างชาติใช้สิทธิ 8 ราย ตั้งแต่ปี 2545-2565 จึงไม่ต้องกังวลจะเป็นการขายชาติ เพราะเข้าถึงยาก ยังมีกฎหมายจัดสรรควบคุม

อีกทั้งใน 4 กลุ่มจะมีกำลังซื้อ มีแค่กลุ่มมั่งคั่งเท่านั้น อิสระกล่าวพร้อมเสนอว่า รัฐต้องกำหนดกรอบให้ชัด เช่น พื้นที่เลือกเฉพาะต่างชาติชอบอยู่ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา อีอีซี และกำหนดราคาซื้อได้กี่ล้าน ไม่ให้แย่งตลาดคนไทย ซึ่งปัจจุบันต่างชาติซื้อบ้านได้อยู่แล้วในช่องทางอื่น หากมาตรการนี้บังคับใช้จะทำให้มีการถือครองถูกกฎหมาย ลดปัญหานอมินีได้

ทั้งนี้มาตรการที่จะได้ผลคือวีซ่าระยะยาว (Long – Term Resident Visa) หรือ LTR Visa ดึงต่างชาติมีศักยภาพสูงมาลงทุนและอยู่ไทย 10 ปี ส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดคอนโด ส่วนแนวราบได้ผลน้อย แต่เป็นมาตรการที่เอื้อซึ่งกันและกัน เพราะต่างชาติซื้อบ้านจะได้วีซ่าระยะยาวด้วย

สอดคล้องกับ อธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุว่า รัฐต้องมีกรอบกำหนดให้ชัดมากกว่านี้ เช่น ราคาบ้านต้องเกิน 10 ล้านบาท จัดโซนนิ่งพื้นที่ เช่น ภูเก็ต สมุย อีอีซี ถึงจะได้ประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่แค่มีเงินลงทุนในกองทุน 40 ล้านบาทใน 3 ปี แล้วได้สิทธิซื้อบ้านและที่ดิน 1 ไร่ได้ หากรัฐทำให้ชัดเจนจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะการให้ต่างชาติซื้อบ้านได้เหมือนคนไทยไปซื้อบ้านที่ต่างประเทศ

อธิป ยังมองว่า หากรัฐดึงกลุ่มคนเข้ามาถูกต้องจะได้ของดี แต่ถ้าเปิดแบบไม่มีกรอบจะได้กลุ่มแบบคละเคล้า รวมถึงดึงกลุ่มมีกำลังซื้อจริงๆ ถึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศได้ เพราะไทยเป็นประเทศที่ต่างชาติชอบมาท่องเที่ยวและอยู่อาศัย ซึ่งที่ผ่านมามีซื้อคอนโดและบ้านเป็นบ้านหลังที่ 2 กันมาก เพราะอสังหาฯไทยราคาไม่แพง ยิ่งจีนเปิดประเทศจะเพิ่มกำลังซื้ออีกมาก แต่จะช่วยกระตุ้นได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย

ขณะที่ มีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า ประกาศบีโอไอเดิมไม่จูงใจ มีกฎเกณฑ์ยุ่งยากและกำหนดต้องอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากพื้นที่ได้รับการส่งเสริมและต่างชาติก็ซื้อที่ดินแบบนอมินีอยู่แล้ว ส่วนการลงทุน 40 ล้านบาท ได้สิทธิซื้อบ้านและที่ดิน 1 ไร่ ถือว่าดี แต่หากรัฐไม่กำหนดราคาและพื้นที่จะคุมได้ยาก

ด้าน ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กฎกระทรวงให้ต่างชาติซื้อบ้านและที่ดินได้ 1 ไร่ ใช้มา 20 ปีแล้ว แต่ใช้สิทธิน้อย ในครั้งนี้จะมีผลด้านจิตวิทยา แต่ทางปฏิบัติคงไม่ง่าย มองว่ามาตรการนี้ดีเพราะอสังหาฯไทยเป็นที่ต้องการของทั่วโลก ทั้งนี้อยากให้รัฐปรับปรุงโครงสร้างภาษีต่างชาติ โดยกำหนดอัตราสูงกว่าคนไทย เช่น ภาษีดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง เพื่อนำรายได้พัฒนาประเทศ

คงต้องจับตามาตรการปลดล็อกต่างชาติของ รัฐบาลประยุทธ์ หวังจุดพลุเศรษฐกิจส่งท้ายรัฐบาล จะเปรี้ยงปร้าง หรือแป้กเหมือนที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image