มัลลิกา แนะ สภาพัฒน์ ทำแผนปฏิรูปการปฏิบัติตัวเองก่อนทำแผนประเทศ ชี้รายงานกับผลงานคนละเรื่อง

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ดร.มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้อภิปรายรายงานความคืบหน้าแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่รายงานแผนต่อสภาผู้แทนฯ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเย็นวันที่ 8 ธันวาคม โดยระบุว่า จากรายงานความคืบหน้าแผนดำเนินการปฏิรูปประเทศมาตรา 270 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เขียนมาอ่านแล้วดูดีมาก แต่ปฏิบัติจริงและเกิดผลได้จริงหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง อยากสะท้อน 3 เรื่องจากเล่มรายงานสภานี้ 1.เรื่องการศึกษาจากที่สภาพัฒน์เขียนรายงานไว้ที่หน้า 221 ระบุว่า เด็กประถมวัยได้รับการศึกษาดีขึ้น เยาวชนได้รับการศึกษาในระบบมากขึ้น แรงงานมีทักษะมากขึ้น คำถามคือคุณภาพดีขึ้นจริงหรือ เพราะจากการพบและลงพื้นที่แล้วชาวบ้านไม่ได้รู้สึกได้แบบนั้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ เช่น จังหวัดพะเยา พื้นที่ซึ่งพบปะประชาชนมากที่สุด ดังจะเห็นได้จากพ่อแม่ผู้ปกครองพยายามหาซื้อแท็บเล็ตเพื่อให้ลูกหลานเข้าถึงการศึกษาในโลกปัจจุบันกันตั้งแต่ประถมวัยต้องลงทุนเอง ดังนั้น ที่สภาพัฒน์เขียนรายงานกับการปฏิบัติจริงมันใช่หรือไม่

เรื่องที่ 2 ด้านสุขภาพ บริการสาธารณสุข รายงานบอกเรื่องเกี่ยวกับระบบดูแลสุขภาพครบวงจรโดยเฉพาะเรื่องการจัดการในภาวะฉุกเฉิน ขอชมเฉพาะในส่วนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเรื่องการดูแลในภาวะฉุกเฉินได้รับการตอบรับดี แต่ต่างจังหวัด 70 กว่าจังหวัด มีแต่กู้ภัย ร่วมกตัญญู ป่อเต็กตึ๊ง แล้วรถฉุกเฉินบริการฉุกเฉินมันเท่าเทียมทั่วถึงหรือไม่

“เวลาฉุกเฉินระบบที่ท่านว่านั้นอยู่ไหน คิดว่าไม่ทันการณ์ไม่เท่าเทียม และที่ท่านบอกว่าทุกจังหวัดควบคุมโควิดได้ให้สงบขึ้นภายใน 21 วัน ไปดูตัวเลขที่เขียนมาในหนังสือนี้ตัวเลขของกระทรวงรายงานว่า 27 พ.ย.-3 ธ.ค.ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล 4,284 คน เสียชีวิต 105 คน จำนวนเยอะ แล้วรายงานบอกว่าสงบ แต่ตัวเลขยังสูงมากน่าตกใจ จนถึงวันนี้ 8 ธ.ค.ผ่านมา 14 วันยังไม่จบเลย ต่อไปอีก 7 วันคิดว่าจะจบหรือใน 21 ไม่น่าใช่ ระชาชนต้องการผลแห่งการปฏิบัติ ความสัมฤทธิ์ผลแห่งการปฏิบัติได้จริง” ดร.มัลลิกากล่าว

ดร.มัลลิกากล่าวว่า ส่วนเรื่องที่ 3 ด้านเศรษฐกิจและเศรษฐกิจครัวเรือนของพี่น้องประชาชนที่บอกว่า สามารถยกระดับเกษตรกรภาคเกษตร อาหารแปรรูปผลิตภัณฑ์ชีวภาพและมีตัวชี้วัดมูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปสินค้าเกษตรชีวภาพ สินค้าเกษตรเทคโนโลยีคิดเป็น 20% ของจีดีพีภาคการเกษตรภายใน 5 ปี แต่วันนี้เกษตรกรยังมีหนี้เยอะอยู่ให้ไปดูกองทุนฟื้นฟูฯตัวเลขหนี้ 5,000,000 กว่าครัวเรือนและจะลงทะเบียนมากขึ้นเรื่อยๆ เงินก็ไม่พอ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย และรายจ่ายโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับปุ๋ย ค่าไฟฟ้า ค่าเดินทาง ก๊าซหุงต้ม เกี่ยวกับชีวิตประจำวันประชาชนตรงจุดนี้เป็นภาระหนักอยู่ นี่ยังโชคดีอย่างเดียวที่อาหารยังไม่ค่อยเพิ่ม เพราะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบดูแลดีตรงนี้

ADVERTISMENT

“สภาพัฒน์ต้องมีแผนปฏิรูปการปฏิบัติ ตามแผนปฏิรูปประเทศของท่านนั่นล่ะก่อนอื่นใด อันนี้สำคัญที่สุด ทำงานรูทีนตามเอกสาร ไม่ลงพบปะพี่น้องประชาชนไม่เห็นความทุกข์ยากต่อสู้วิกฤตของพี่น้องประชาชน ท่านเดินไปให้เหมือนที่สมาชิกสภานี้เดินแล้วท่านจะรับรู้ว่าแผนของท่านสอดรับกับการปฏิบัติแล้วมันปฏิรูปได้จริงหรือไม่” ดร.มัลลิกากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image