ติดขอบเวที “มวยปล้ำ” บุญตระกูล ชีวะตระกูลกิจ บันทึกชีวิตสุดจี๊ดจากแดน “อาทิตย์อุทัย”

ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 14 ก.พ. 2559

โดย เชตวัน เตือประโคน – เรื่อง สุรินทร์ มุขศรี – ภาพ

fun01140259p1

จะมีวัยรุ่นสักกี่คนเชียว เมื่อถามถึงกีฬาที่ตัวเองชื่นชอบ เขาหรือเธอคนนั้นจะตอบว่า “มวยปล้ำ”

Advertisement

แน่นอน หลายคนรู้ว่านั่นคือการแสดง มีการเตรียมกัน มีการเขียนบท มีการกำหนดผู้แพ้ผู้ชนะเรียบร้อยเสร็จสรรพ หากแต่ว่ากว่าที่ภาพอันน่าตื่นระทึกจะปรากฏขึ้นบนเวทีได้ นักกีฬาหรือเรียกอีกอย่างก็ได้ว่านักแสดงต่างต้องทำงานหนัก ใช่ว่าอยู่ดีๆ แล้วจะเดินดุ่มๆ มาคว้าเข็มขัดแชมป์ได้เลย

เพราะ “มวยปล้ำ” เป็นทั้งกีฬาและความบันเทิง

คนดูคือกระแสสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะบ่งบอกว่าใครคนไหนกำลังมา และใครคนไหนกำลังจะไป ไม่ต่างอะไรจากพระเอกนางเอกในละครหลังข่าว อินมากๆ เข้า เวลาไปเดินตลาดตัวร้ายอาจโดนแม่ค้าเอาเปลือกทุเรียนตบหน้าได้

Advertisement

“ทัมบ์” – บุญตระกูล ชีวะตระกูลกิจ หนุ่มวัย 28 ปี คือหนึ่งในผู้ที่กล้ายืนยันว่าตนเองเป็นผู้หลงใหลกีฬามวยปล้ำชนิดเข้าเส้นเลือด

“ผมอาจจะไม่เหมือนคนอื่นหน่อย คือจะว่าไปรู้จักมวยปล้ำตั้งแต่ก่อน 10 ขวบ ดูผ่านๆ แต่ไม่ได้สนใจจริงจัง กระทั่งอายุ 15-16 ปี ผมก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไป คือบ้าเล่นเกมมาก ก็ซื้อเกมต่างๆ มาเล่น แต่มันมีอันหนึ่งเป็นเกมมวยปล้ำ ที่เล่นไปเล่นมาแล้วรู้สึกสนุกมาก ชอบมาก สนใจติดตามว่านักมวยปล้ำคนนั้นคนนี้เป็นใคร ตามดูมวยปล้ำต่างๆ ช่องยูบีซีที่น้าติง (สุวัฒน์ กลิ่นเกษร) แกพากย์ ตอนนี้ไม่มีแล้ว หลังๆก็เข้าอินเตอร์เน็ตบิตมาดู พอมารู้ตัวอีกทีก็ดูเป็นประจำ

“ก็รู้สึกแปลกอยู่เหมือนกันว่าทำไมถึงชอบมวยปล้ำ ทำไมไม่ติดเกมฟุตบอลเหมือนคนอื่น” บุญตระกูล กล่าวพร้อมกับรอยยิ้มน้อยๆ ในตอนท้าย

นั่นคือจุดเริ่มต้นในความสนใจกีฬาชนิดนี้ และที่สุดเมื่อเขาได้มีโอกาสไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นความคลั่งไคล้ก็ได้นำพาให้เขาทำงานแวดวงกีฬามวยปล้ำชนิดที่แม้แต่เจ้าตัวเองก็ไม่คาดคิดไว้เหมือนกัน

บุญตระกูล เกิดเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2531 เป็นบุตรชายของพ่อ – บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ และ แม่ – อัจฉรา ชีวะตระกูลกิจ มีน้องสาวคือ บุญทิวา ชีวะตระกูลกิจ ซึ่งขณะนี้เรียนต่อปริญญาเอกอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

ด้านการศึกษา บุญตระกูลเริ่มต้นที่โรงเรียนอัมพรไพศาล ก่อนที่จะมาจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนหอวังนนทบุรี

คว้าปริญญาตรีด้านนิเทศศิลป์ (Communication Art) จากเอแบค (มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ) เข้าทำงานอยู่ฝ่ายรายการที่ Voice T.V.ได้สักพักก่อนจะตัดสินใจบินลัดฟ้าสู่แดนอาทิตย์อุทัย ด้วยความตั้งใจจะเรียนต่อด้านแอนิเมชั่นเป็นทุนเดิม

แต่ 3 ปีของชีวิตในแดนปลาดิบกลับไม่เป็นอย่างที่วาดหวัง

หากอย่างไรก็ตาม ความชอบในกีฬามวยปล้ำก็ทำให้เขาก้าวเข้าสู่โลกที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่า กับประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานที่สมาคมมวยปล้ำซึ่งมีชื่อว่า Wrestle-1 ได้กลายเป็นบันทึกอ่านสนุกที่เผยโฉมในนิตยสาร “มติชนสุดสัปดาห์” ต่อเนื่องยาวนานกว่า 53 สัปดาห์

และบัดนี้ปรากฏเป็นรูปเล่มเรียบร้อยแล้วในชื่อปกว่า “Ring Maker เวทีความฝัน อาทิตย์อุทัย”

– อะไรในเกมมวยปล้ำที่ทำให้ติดใจ?

มันเหมือนดูการ์ตูน ชอบที่ทุกคนมีคาแร็กเตอร์เป็นของตัวเองชัดเจน สำหรับผม มวยปล้ำเหมือนซีรีส์เรื่องหนึ่ง มันมีความเอ็นเตอร์เทนผสมเข้าไปกับกีฬา คือคนในวงการนี้เองเขาก็เรียกว่าสปอร์ตเอ็นเตอร์เทนเมนต์ มีเนื้อเรื่องที่น่าติดตาม ทำให้เราอยากรู้ว่าเรื่องจะเป็นอย่างไงต่อไป ก็เหมือนเราดูการ์ตูน ดูละคร ที่อยากจะดูทุกอาทิตย์ ติดตามว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร หลักการเดียวกันเลย

– แรกเริ่มสนใจนั้นคลั่งไคล้ระดับไหน?

ก็ดูมวยปล้ำ ดูทุกแมตช์ เริ่มจากฝั่งอเมริกา ซึ่งตอนนั้นเขาเอามาฉายในเมืองไทย แต่จะช้ากว่า 2 อาทิตย์ ซึ่งตอนหลังก็ไม่ทันใจเรา เลยแปลงโหลดมาดูสดๆ เลย ไม่ต้องฟังน้าติง บรรยายแล้ว ดูภาษาอังกฤษเลย ก็ทำให้เราได้เรียนภาษาไปในตัว ตอนแรกๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่พอพักหลังๆ ก็ฟังรู้เรื่องหมด

ส่วนเรื่องการค้นคว้าข้อมูล ส่วนใหญ่ก็ค้นอินเตอร์เน็ต ดูสารคดี รายการจากฝั่งอเมริกาที่จะมีนักมวยปล้ำที่เลิกปล้ำแล้วมาพูดโน่นพูดนี่ บางทีก็มาพูดถึงแมตช์ต่างๆ มีการมีให้สัมภาษณ์เรื่องราวหลังเวทีที่หน้าสนใจ เรื่องคนนู้นกับคนนี้ ใครไม่ถูกกันอย่างไร หรือในเว็บบอร์ดผมก็ตามอ่านหมด ช่วงที่คลั่งไคล้สุดสุดน่าจะเป็นก่อนเข้ามหา’ลัย แต่พอมาสัก ปี 1-3 ก็ห่างหายไปบ้าง เพราะรู้สึกอิ่มกับมวยปล้ำสมาคม WWE (World Wrestling Entertainment) ฝั่งอเมริกา แต่ยังเปิดเน็ตตามผลการแข่งขันทุกอาทิตย์ แต่พอช่วงปลายๆ ช่วงปี 4 กลับมาบ้าอีกครั้งหนึ่ง เริ่มสนใจมวยปล้ำของพวกสมาคมอินดี้ต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย และก็สนใจต่อมาจนถึงตอนนี้เลย

– ครอบครัว เพื่อนว่าอย่างไรที่เราสนใจเรื่องมวยปล้ำ?

ครอบครัวตอนแรกก็ไม่ว่าอะไรนะ แต่เขาก็ไม่เชิงว่าจะสนับสนุนด้วย (หัวเราะ) ปล่อยไป เพราะคิดว่าคงเป็นความชอบ ที่ทางบ้านไม่เคยขัดผมส่วนหนึ่งคิดว่าเป็นเพราะผมดูแบบภาษาอังกฤษด้วย เหมือนได้เรียนภาษาอังกฤษ และอีกอย่างเราก็แบ่งเวลาได้ ไม่เสียการเรียน แต่แน่นอนว่าไม่สนับสนุนให้ไปทำงานเกี่ยวกับมวยปล้ำ ไม่ขนาดนั้นแน่ ครอบครัวไม่เคยคิด และผมเองก็ไม่เคยคิดเหมือนกัน

ส่วนเพื่อนที่โรงเรียน ทุกคนรู้ว่าผมชอบดูมวยปล้ำมาก ก็พูดคุยเรื่องนี้บ้าง แต่ไม่เยอะหรอก (ยิ้ม) เพราะเอาเข้าจริงคนดูมวยปล้ำในประเทศไทยนั้นไม่เยอะเท่าไหร่ ถ้าพูดตามตรง ผมก็จะมีคุยกับคอมมูนิตี้เล็กๆ ในเน็ต คุยเรื่องนี้กับคนที่อยู่ในเว็บบอร์ดเดียวกันมากกว่า และตอนหลังผมกับเพื่อนก็เลยมาทำเป็นแฟนเพจ ชื่อ WTF-Wrestling Tabloid Foundation ตอนแรกผมเป็นแอดมินกับเพื่อนอีก 4-5 คน ที่รู้จักกันทางเว็บบอร์ด แต่ตอนนี้ก็มีแอดมิน 9 คนแล้ว แบ่งกันให้แต่ละคนไปดูข่าวของแต่ละสมาคมมวยปล้ำต่างๆ แล้วก็เอามาลง

– การไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น?

ผมตั้งใจจะไปเรียนต่อ ช่วงแรกเรียนต่อด้านภาษา จากนั้นก็ตั้งใจจะเข้ามหาวิทยาลัยเรียนต่อด้านแอนิเมชั่น ปีแรกผมเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างเดียวเลย แต่รู้สึกว่าไม่เก่งพอก็เลยขอทางบ้านต่ออีกครึ่งปี พอเรียนไปเรียนมาก็พยายามที่จะเข้ามหาวิทยาลัยที่นั่น แต่มันเข้ายาก ก็จะยอมแพ้อยู่แล้ว จะกลับเมืองไทยอยู่แล้ว แต่ก่อนกลับผมก็ส่งจดหมายไปสมัครงานที่ต่างๆ สมาคมมวยปล้ำ 3 ที่ ค่ายงานเอ็นเตอร์เทนเมนต์อีกที่หนึ่ง คือถ้าตอนนั้นไม่ได้งานอะไรก็ตั้งใจจะกลับแล้ว ซึ่งปรากฏว่าสมาคม Wrestle-1 (W1) เขาสนใจเราพอดี

W1 เขารับสมัครนักมวยปล้ำอย่างเดียว แต่เราก็ส่งเมล์บอกเขาไปว่าสนใจทำงานในแวดวงมวยปล้ำ ผมสามารถพูดได้ 3 ภาษา สนใจคนติดต่องานต่างประเทศไหม ผมสามารถช่วยได้ เพราะมวยปล้ำญี่ปุ่นนั้นก็มีทำงานกับชาวต่างชาติ ซึ่งต่างชาติก็มาปล้ำที่ญี่ปุ่นบ่อยเหมือนกัน เราก็อยากทำหน้าที่ตรงนี้ ก็แนะนำตัวไปประมาณนี้

วันหนึ่งเขาก็ส่งเมล์ตอบมา บอกให้เราส่งรูปถอดเสื้อไปให้ดู (หัวเราะ) คิดว่าเราสมัครนักมวยปล้ำมั้ง ผมก็ส่งไป แล้วจากนั้นก็เรียกสัมภาษณ์ แต่คราวนี้เป็นเรื่่องกลางๆ ว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ไม่ใช่เรื่องเป็นนักมวยปล้ำ

– ถ้ารับไปเป็นนักมวยปล้ำล่ะ?

ก็น่าสนใจดี อาจจะเป็นอะไรที่แปลกใหม่ไปเลยก็ได้ (ยิ้ม)

– ใช้ชีวิตอยู่กับนักมวยปล้ำเป็นอย่างไรบ้าง?

ผมเป็นคนเดียวของสมาคมที่ไม่ได้เป็นนักมวยปล้ำซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในหอ ก็พบว่านักมวยปล้ำทุกคนก็ใช้ชีวิตกันธรรมดา นั่งดูทีวี นอนฟังเพลงกัน ทำอาหารกินด้วยกัน ทำความสะอาดหอด้วยกัน ใช้ชีวิตเท่ากันหมด แต่ส่วนเวลาทำงาน พวกเขาจะไปลงฝึก ส่วนผมเข้าออฟฟิศ

ชีวิตนักมวยปล้ำของสมาคม W1 คนที่เพิ่งเทิร์นโปร ยังไม่เปิดตัวจะไปอยู่หอเดียวกันหมด ส่วนคนที่มีชื่อเสียงแล้วเขาก็มีบ้านเป็นของตัวเอง ถึงเวลาปล้ำเขาก็มา หรือเวลาไปทัวร์เขาก็นั่งรถทัวร์ไปด้วยกัน ชีวิตในหอนั้น ก่อนเปิดตัวเป็นนักมวยปล้ำเขาจะไม่ให้ออกไปไหนเลย แต่ว่าพวกที่เปิดตัวแล้วที่อยู่ในหอด้วยไปได้ ออกไปกินข้างนอกได้ แต่พิเศษในกรณีที่รุ่นพี่พาไปนั้นสามารถไปได้ สังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องระบบอาวุโสมาก

– ก่อนมาญี่ปุ่นเคยคิดมั้ยว่าจะทำงานนี้?

ไม่คิดเลย ตอนไปถึงญี่ปุ่นผมก็คิดว่ามวยปล้ำเป็นสิ่งที่เราชอบ และก็ดูเป็นงานอดิเรกเหมือนเดิม อย่างค่ายใหญ่ของญี่ปุ่นมาทัวร์ที่เกียวโตเมืองที่ผมเรียนอยู่ ผมก็ไปดูมวยปล้ำญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก จากนั้นเวลาเขา มาทัวร์ก็ดูตลอด คือ สมาคมมวยปล้ำในญี่ปุ่น 20-30 สมาคม เวลาเขามาทัวร์เราก็ซื้อตั๋วไปดู ขยายความรู้เรื่องมวยปล้ำญี่ปุ่นไปเรื่อยๆ ไม่คิดว่าจะกลายมาเป็นคนทำงานในแวดวงนี้

– งานแรกที่ทำคือสร้างเวที?

ตอนแรกที่เขียนไว้ในเมล์สมัครงาน คือผมทำเรื่องต่างประเทศนั่นแหละ แต่ว่าพอไปถึง จริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้เยอะขนาดนั้น เขาก็เลยจัดผมไปอยู่ในส่วนของสต๊าฟ พวกดูแลประกอบเวที แล้วก็อำนวยความสะดวกทุกอย่าง ตั้งบูธสินค้า ตั้งโน่นตั้งนี่ กระทั่งเก็บเวที

– ความนิยมมวยปล้ำในญี่ปุ่น?

ช่วงที่ผมไปปีแรกๆ ยังไม่เท่าไหร่ แต่ประมาณช่วงที่ผมทำงานอยู่ในสมาคม มวยปล้ำญี่ปุ่นกลับมาดังแล้ว โดยเฉพาะในหมู่ผู้หญิง คือผู้หญิงจะชอบดูมวยปล้ำมากในช่วงหลังๆ เพราะนักมวยปล้ำช่วงหลังนั้นเน้นหน้าตามากขึ้น หน้าตาดีกล้ามเป็นมัดๆ ผู้หญิงก็แบบมากรี๊ดกร๊าดกันมากขึ้น กระแสก็ดีขึ้น คนดูก็เยอะขึ้น มันมีงานวิจัยเขียนเป็นสกู๊ปในข่าวเลยว่า กีฬามวยปล้ำเป็นเทรนด์ที่กำลังมาในปี 2014

วันนี้นักมวยปล้ำจะอายุน้อยลง หน้าตาดีขึ้นมาก และก็ปล้ำกันสนุก เอาใจกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น แต่เมื่อก่อนคนดูจะเป็นคนสูงอายุ จะเป็นแนวผู้ชาย นักมวยปล้ำทุกคนก็จะตัวตันๆ ถึกๆ ปล้ำกันแบบเถื่อนๆ อิมเมจจะแบบเถื่อนๆ ครับ แต่ช่วงหลังจะดูเพรียวๆ กันมากขึ้นแล้ว

– การเฟ้นหานักมวยปล้ำ?

ส่วนใหญ่ก็จะประกาศในเว็บของสมาคม อย่าง W1 ตอนที่ผมทำงานอยู่ก็ประกาศรับคนอายุไม่เกิน 25 ปี สูง 180 เซนติเมตร ขึ้นไป เขาจะเขียนไว้อย่างนี้ แต่พอมาจริงๆ ก็ไม่ถึง 180 อายุประมาณ 16-17 ปีจะมากันเยอะ ครั้งหนึ่งมาประมาณ 30-40 คน คัดตัวโดยการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย คนที่คัดเลือกมีกรรมการ 4 คน ก็จะดูทุกคน ตอนหลังก็จะมาคุยกันว่าเอาใครบ้าง

คนที่มาสมัครเขารู้อยู่แล้วว่าจะมีการทดสอบอะไรบ้าง เขาเตรียมตัวกันมาแล้ว คือที่ญี่่ปุ่นถึงขั้นมีโรงเรียนเตรียมออดิชั่นเป็นนักมวยปล้ำเลยนะ ประเทศเขาจริงจังมากขนาดนั้น จะเข้ามหาวิทยาลัยก็ต้องมีโรงเรียนเตรียม จะเข้าเป็นนักมวยปล้ำก็มีโรงเรียนเตรียมไปคัดมวยปล้ำ คือไปเรียนที่ยิมนี้ก่อนเพื่อที่มาคัดตัวเข้าสมาคมต่างๆ ได้ เขาก็จะสอนพื้นฐานหมดเลยว่าต้องตีลังกายังไง ต้องดัดตัวยังไง ต้องทำอะไรได้บ้างถึงจะไปออดิชั่นนักมวยปล้ำได้ โรงเรียนเตรียมใหญ่ๆ 2-3 แห่ง ถ้าเกิดผ่านสถานที่นี้มาก่อน โอกาสออดิชั่นติดสูงมาก

– อะไรที่จะตามมาของการมีชื่อเสียงของนักมวยปล้ำ?

บางคนที่รีไทร์ไปเขาอาจจะเป็นนักแสดง อาจจะกลายเป็นคนในวงการบันเทิงอะไรประมาณนั้น คือถ้าเกิดมีดีพอ อย่างเดอะร็อก เป็นต้น หลังจากเลิกปล้ำก็ไปเป็นนักแสดง เขาก็รุ่งไปเลย หรือนักมวยปล้ำญี่ปุ่นเอง หลายคนก็ไปเป็นคนในวงการบันเทิง

– มวยปล้ำอเมริกากับญี่ปุ่นปล้ำต่างกันอย่างไร?

WWE หรือฝั่งอเมริกาจะเน้นเนื้อเรื่องเป็นหลัก ถึงขั้นมีการคุยกันหลังเวที มีละคร มีขับรถไล่ชนกันไปไกล แต่ว่าญี่ปุ่นไม่มีอะไรอย่างนั้นเลย ญี่ปุ่นพอปล้ำกันเสร็จปุ๊บอย่างมากก็เดินฉีกหน้ากันนิดนึงแล้วก็เดินจากไป

ของอเมริกามันจะท่ามากกว่าเยอะ สตอรี่เยอะ แต่ของญี่ปุ่นทุกอย่างจะถ่ายทอดจากการแข่งขันทั้งหมดเลย อย่างนัดนี้จะเล่นงานขานายนะ พอนายทนไม่ได้นายก็ตบพื้นยอมแพ้นะ อะไรอย่างนี้ คือมันเล่าเรื่องสตอรี่ผ่านแมตช์มวยปล้ำ ไอ้คนนี้จุดอ่อนคือตรงนี้ ไอ้คนนี้เล็งอัดคนนี้อยู่นะ อะไรแบบนี้เป็นต้น อย่างนี้ก็เลยทำให้การแข่งขันมันสนุกมาก ทำให้เราหันมาสนใจบนเวทีเต็มๆ ไม่ต้องไปตามสตอรี่ ฝั่งญี่ปุ่นจะไม่มีออกมาพูดบนเวทียาวๆ 20 นาทีเหมือนอเมริกา

– อยากเห็นมวยปล้ำประเทศไทย?

ช่วงหลังๆ นี่ผมรู้สึกว่าไต้หวัน สิงคโปร์ เริ่มมีสมาคมเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว แม้แต่เวียดนาม ตอนนี้ก็เริ่มมีมวยปล้ำแล้วครับ เริ่มจริงจังและโด่งดังระดับหนึ่งแล้ว แต่ไทยยังไม่ถึงจุดนั้นเลย คิดว่าสักวันหนึ่งก็ฝันอยากเห็นมวยปล้ำไทยโด่งดังเหมือนกัน มีคนเข้ามาดูเป็นพันๆ คนอะไรประมาณนี้ครับ และเราอาจจะพัฒนาส่งนักมวยปล้ำไปปล้ำที่ญี่ปุ่น ที่อเมริกาได้ คือตอนนี้ก็มีนะ ที่ส่งนักมวยปล้ำไทยไปปล้ำที่ญี่ปุ่น แต่จะเป็นสมาคมอินดี้หน่อยๆ ในประเทศไทยตอนนี้ก็มีสมาคม Gatoh Move Pro Wrestling ที่ใกล้เคียงสุด

– คิดจะกลับไปทำเกี่ยวกับมวยปล้ำอีกไหม?

วันนี้ เวลามีสมาคมญี่ปุ่นหรืออะไรมาปล้ำที่ไทยผมก็จะไปช่วยตลอด

ในอนาคตถ้ามีโอกาสร่วมงานอีกผมก็อาจจะลองดู ลองทำสมาคมอื่นดูบ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image