ผู้เขียน | บรรณาลักษณ์ |
---|
ตู้หนังสือ : นี่แหละฟาสซิสม์ ไทยพ้นคนผิดอย่างไร
ใ นคนหมู่มาก ย่อมมีหลายประเภทผิดแผกกันไป ที่คาวก็ถูกคัดทิ้ง ที่ดีก็ยังประโยชน์ต่อไป เจ้าหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์อื้อฉาวมากมาย แต่ที่ทำงานก็กวาดล้างอาชญากรรมไม่หยุดยั้ง ให้เป็นที่พึ่งพิงจริงๆ ของชาวบ้านของสังคมได้
ข้าราชการเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม เคลื่อนไหวบ้านเมืองไปข้างหน้า แต่หากบรรดาฝ่ายนำไม่เด็ดขาดกับการชี้และจัดการเรื่องผิดชอบชั่วดี ปล่อยให้ข้าราชการขี้เกียจเรื้อรังเป็นมะเร็ง ก็กัดกินบ้านเมืองเน่าเสียไปด้วยกัน
● สารวัตร “ป่วย” กลายเป็นสารวัตร “คลั่ง” คนรับจ้างฆ่าคนถูกเรียกเป็น “มือปืนพระกาฬ”
คนที่ฆ่าลูกฆ่าเมียแล้วฆ่าตัวตาย ถูกบีบคั้นจนคิดไม่ตกแก้ไม่ได้อย่างไร คนที่ทิ้งลูกกลายเป็น “แม่ใจโฉด” เป็นมนุษย์หยาบร้ายกันตั้งแต่เกิดหรือ
คนแขนขาขาด หูหนวก ตาบอด เป็นคนพิการ แต่คนคดโกงบ้านเมือง กินราษฎร์กลืนหลวง เอารัดเอาเปรียบสังคม ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยสูง หลอกล่อฉ้อฉลเงินเก็บชาวบ้าน ฯลฯ จิตใจพิกลพิการ ยังเห็นเป็นคนปกติยกมือไหว้กันอยู่ได้ไง
● พรรคการเมืองขวาจัดขึ้นกุมอำนาจ เสรีนิยมประชาธิปไตยถดถอยทั่วโลก ฟาสซิสม์หวนกระแสคืนกลับ เกิดอะไรขึ้นกับสังคมการเมืองโลกปัจจุบัน นี่แหละฟาสซิสม์ งานของศาสตราจารย์ปรัชญาจากเยล เจสัน สแตนลีย์ วิเคราะห์คลื่นฟาสซิสม์ยุคใหม่ จากสหรัฐถึงอีกหลายประเทศ เปิดเผย 10 กลวิธีที่ฟาสซิสม์ใช้ครองอำนาจตั้งแต่อดีตจนทุกวันนี้ จากโฆษณาชวนเชื่อถึงทฤษฎีสมคบคิด จากการป้ายสีชนกลุ่มน้อยว่าเป็นภัยคุกคาม สู่การประโคมว่าตนเป็นเหยื่อ จนถึงการเขียนอดีตที่ไม่มีจริงสู่การด้อยค่าความเป็นมนุษย์
ฟังคุ้นๆ อยู่นะ เหมือนกับบรรดาเรื่องที่คนไทยรู้จักกันดีทีเดียว-ว่าไหม
ฟาสซิสม์จะยั่วยวนคนคลั่งอำนาจให้เห็นตามเสมอมา และจะเป็นเช่นนี้เสมอไป หากเราไม่เรียนรู้ให้เท่าทัน เพราะเลยเวลามากแล้ว ถ้าเราไม่ลุกมาต่อต้านกระแสฟาสซิสม์ ยุติการเมืองที่สร้างความเกลียดชัง เพื่อก้าวสู่อนาคตประชาธิปไตยที่ไม่แบ่งแยก “พวกเรา-พวกมัน” อีกต่อไป
อ่านอดีตสร้างจากตำนาน, โฆษณาชวนเชื่อ, การต่อต้านปัญญาชน, ความจริงลวงตา, ลำดับช่วงชั้น, ภาวะตกเป็นผู้ถูกกระทำ, กฎหมายและความสงบเรียบร้อย, ความหวั่นวิตกเรื่องเพศ,
นครโซดอมและกอมเมอร์ราห์, การงานมอบเสรีภาพ – ทั้งเล่มแปลให้อ่านราบรื่นโดย ธนเชษฐ วิสัยจร
● หนังสือวิชาการอ่านเอาเรื่องที่ควรแก่การใช้เวลาทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ ของมนุษย์ในสังคมซึ่งมีความแตกต่างหลายลักษณะ มนุษยศาสตร์ที่แปรเปลี่ยน ในโลกที่เปลี่ยนแปลง มีอาจารย์ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เป็นบรรณาธิการ
เป็นหนังสือรวมบทความจากงานสัมมนาวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 8 เพื่อนำการศึกษามนุษยศาสตร์เข้ามาอยู่ในบริบทของประวัติศาสตร์ อ่านมนุษยศาสตร์ที่แปรเปลี่ยนในโลกที่เปลี่ยนแปลงของ สายชล สัตยานุรักษ์ ชีวิตสามัญชนในภาคเหนือตอนล่างกับการก้าวสู่รัฐสมัยใหม่ของสยามโดย ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว สาวพะเยา บาดแผลในบทเพลงของ สุนทร สุขสราญจิต
ระบบกฎหมาย ระบบตุลาการ ในยุคปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.2434-2454 ของ กฤษณ์พชร โสมณวัตร การปฏิรูปกฎหมายและการศาลในเจ็ดหัวเมืองมลายูในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ของ ปิยดา ชลวร
อ่านการแก้ไขปัญหาภาคใต้ครั้งแรกของรัฐไทย ข้อเรียกร้องของมลายูมุสลิมกับการตอบสนองของรัฐไทยโดย พุทธพล มงคลวรวรรณ “พระป่า” ธรรมยุตอีสานในบริบททางประวัติศาสตร์พุทธศตวรรษที่ 25 ภาพสะท้อน “ทวิอัตลักษณ์” ระหว่างอำนาจรัฐและท้องถิ่นของ อาสา คำภา
และสุดท้ายอ่าน ศิลป์ พีระศรี กับความหมายทางสังคมและการเมืองของศิลปะแบบใหม่หลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย เกษรา ศรีนาคา บรรดานักวิชาการศึกษาค้นคว้ามาเขียน ยังไงก็ถือว่ามีคุณค่าน่าอ่าน
● ไหนๆ ก็ไหนๆ ขอเสนออีกเล่มก็แล้วกัน คุณค่ามนุษย์กับการเมือง บรรณาธิการโดย กษิร ชีพเป็นสุข กับ จิรภา พฤกษ์พาดี อ่าน 7 บทความน่าสนใจของอาจารย์นักวิชาการที่เขียนในโอกาส 60 ปีอาจารย์ วีระ สมบูรณ์
ชีวิตหลังความตายของโสกราติสโดย เอกลักษณ์ ไชยภูมี มนุษย์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ กษิร ชีพเป็นสุข จริยศาสตร์ หน้าที่นิยมกับเสรีนิยมคลาสสิกในความเรียงเรื่อง “สันติภาพถาวร” ของอิมมานูเอล คานท์ โดย หัสไชยญ์ มั่งคั่ง
แนวคิดว่าด้วยรัฐสวัสดิการผ่านมุมมองปรัชญาตะวันออกในสังคมทุนนิยมร่วมสมัย : ข้อสังเกตเบื้องต้นสู่การพัฒนาความมั่นคงและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคมไทยโดย ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
การพัฒนามนุษย์และสังคมตามแนวทางศาสนาและวัฒนธรรมชุมชนของปัญญาชนคาทอลิกไทยโดย จิรภา พฤกษ์พาดี ว่าด้วย “คนดี” ในบริบทการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตยของ จิติยา พฤกษาเมธานันท์
“สิทธิอำนาจเชิงความรู้” (epistemic authority) ในกระบวนการโลกาภิบาลมาตรฐานเกษตรอินทรีย์โดย ไพลิน กิตติเสรีชัย
อ่านกันให้สนุกนะขอรับ-แฮ่
● คนส่วนมากย่อมต้องการชีวิตที่มีแต่ความสุข ราบรื่น ไร้อุปสรรค พยายามหลีกเลี่ยงสรรพความทุกข์ทั้งหลายอย่างสุดความสามารถ แต่ธรรมดาชีวิตมนุษย์ หากปราศจากความทุกข์ก็คงเรียกไม่ได้ว่านั่นคือชีวิต
ดังนั้น ระหว่างทุกข์กับสุข มนุษย์ควรมีสิ่งใดยึดโยงชีวิตให้สมดุล
หากไม่เคยเจ็บ คงไม่ซึ้งถึงความสุข เขียนโดย พอล บลูม ผู้ชวนเราไปหาคำตอบนี้ด้วยการตั้งคำถาม พร้อมอธิบายให้กระจ่างด้วยตัวอย่างประกอบ “ทำไมเราชอบฟังเพลงเศร้า ทั้งที่ยิ่งตอกย้ำให้เจ็บใจ” หรือ “ทำไมเราต้องวิ่งมาราธอน ทั้งที่ทำให้เหนื่อยแทบขาดใจ” หรือ “ทำไมความสำเร็จที่ได้มาด้วยความยากลำบากจึงดึงดูดใจ” ฯลฯ
ผู้เขียนพบว่า ความทุกข์มีประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งแง่ชีวภาพกับความรู้สึก ความเจ็บปวดช่วยให้จดจำประสบการณ์เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดอีกในอนาคต ทั้งความทุกข์บางลักษณะที่เกิดโดยสมัครยังสามารถสร้างความสุข และเป็นส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายที่สูงขึ้นได้
นั่นคือ ความเข้าใจที่จะยอมรับว่าทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา
พรรณรวี อกนิษฐาภิชาต แปลให้อ่านเข้าใจซาบซึ้ง
● ปัจจุบัน การใส่ใจเรื่องสุขภาพกายและใจเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในการดำเนินชีวิตของคนส่วนมาก สิ่งที่ปรากฏชัดเจนคือ พิถีพิถันการกินอยู่กันมากขึ้น ตั้งใจออกกำลังกายกันมากขึ้น และเข้าใจเรื่องการดำรงสติให้สม่ำเสมอที่สุด
วิ่งดีกับครูดิน คู่มือนักวิ่งระยะไกลเพื่อการเป็นมืออาชีพซึ่งถ่ายทอดโดยผู้เชี่ยวชาญการวิ่งมาราธอน อดีตนักกรีฑาทีมชาติไทย สถาวร จันทร์ผ่องศรี หรือ “ครูดิน”ที่รู้จักกันเป็นส่วนมาก เพื่อเตรียมความพร้อมร่างกายไปเป็นขั้นๆ
จากองค์ความรู้และประสบการณ์ผสมผสานเป็นการฝึกสอนร่วม 40 ปี ครูดินจะช่วยให้ทุกคนวิ่งได้อย่างเต็มศักยภาพและที่สำคัญคือ-มีความสุขด้วยเป้าหมาย วิ่งไม่เกิน 45 นาที 10 กิโลเมตร วิ่งไม่เกิน 1 ชั่วโมง 45 นาที 21.1 กิโลเมตร และวิ่งไม่เกิน 3 ชั่วโมง 50 นาที 42.195 กิโลเมตร-นี่เป็นคู่มือซึ่งปฏิบัติได้จริงๆ
● นอกจากนี้เพื่อเพิ่มแรงบันดาลใจและพลังบวกให้มากขึ้น หรือแม้แต่เป็นนักวิ่งสายเหล็กอยู่แล้ว หนังสือเล่มต่อไปนี้ก็จะเพิ่มเกร็ดความรู้จากงานวิ่งระดับโลก ซึ่งนักวิ่งสายเหล็กอาจไปร่วมวิ่งด้วยสักครั้ง จากผู้ที่วิ่งมาราธอนมาแล้ว 30 ปี ตั้งแต่วิ่งบนถนน วิ่งในป่าเขา วิ่งบนน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ ทั้งวิ่งในรายการสำคัญๆ มากมาย จากฮ่องกง โตเกียว ออสเตรเลีย บอสตัน และนิวยอร์ก เป็นต้น
นั่นคือ อิทธิพล สมุทรทอง ผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก 42.195 K Club ซึ่งสังคมจดจำในฐานะผู้วิ่งเคียงข้าง อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ “ตูน บอดี้สแลม” ในโครงการ “ก้าวบางสะพาน” ระยะทาง 400 กิโลเมตร และ “ก้าวเบตง-แม่สาย” ระยะทาง 2,215 กิโลเมตร รับบริจาคซื้ออุปกรณ์การแพทย์แก่
โรงพยาบาล
มากกว่า 42.195 เป็นตัวตน แนวคิด และเส้นทางวิ่งที่คร่ำหวอดมายาวนาน เพื่อผู้อ่านจะได้เห็นภาพและเข้าใจการเคลื่อนไหวชีวิตบนรองเท้าวิ่ง ที่อาจเป็นประกายให้พบหนทางของตัวเองได้ไม่ว่าบนถนนสายไหน ไกลอย่างไร
● เป็นที่รู้กันว่า ศิลปโบราณวัตถุล้ำค่าที่เห็นกันตามพิพิธภัณฑสถานต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงในคลังสมบัติส่วนตัวของมหาเศรษฐีหรือพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวทั้งหลาย จำนวนไม่น้อย ได้มาจากการยึดครอง ปล้นชิง จากการล่าอาณานิคมของตะวันตก หรือลักลอบค้าผิดกฎหมาย ปัจจุบัน การเรียกร้องให้ส่งสมบัติวัฒนธรรมเหล่านี้คืนประเทศดั้งเดิมก็ดังขึ้นเรื่อยๆ จะเปลี่ยนโฉมการอนุรักษ์ศิลปวัตถุล้ำค่าเหล่านี้ไปอย่างไร ปิดฉากพิพิธภัณฑ์แบบที่เคยเห็นหรือไม่
เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมีนาคม 2566 ว่าด้วย “ทวงคืนสมบัติโบราณคดี” อ่านชีวิตต้องดำเนินต่อไป จิตวิญญาณที่ไม่ยอมแพ้ของชาวเลบานอน ถูกท้าทายจากวิกฤตรอบด้าน การเมืองล้มเหลว เศรษฐกิจล่มสลาย โศกนาฏกรรมโกดังสารเคมีระเบิดกลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย
อ่านเมื่อกระต่ายอยู่ผิดที่ผิดทาง เมื่อเขตไฮแลนด์ สกอตแลนด์ กำลังอุ่นขึ้น กระต่ายที่ผลัดขนให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ก็เผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน
อ่านแมงมุมขยุ้มหลังคา ภาพระยะประชิดของเหล่าแมงมุม เผยความโดดเด่นเฉพาะตัว ความงาม จนถึงเสน่ห์ที่คาดไม่ถึง หาดูได้จากฉบับนี้เท่านั้น
● นิตยสารรายเดือนทรงคุณค่าประจำแผง ศิลปวัฒนธรรม เดือนมีนาคม 2566 ฉบับว่าด้วย “สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับความทุกข์ในพระราชหฤทัย” ค้นคว้ามาเขียนให้เห็นกระจ่างโดยอาจารย์ นนทพร อยู่มั่งมี
อ่าน “สิริวรราชธิดา” พระองค์อี พระองค์เภา จากราชธิดากษัตริย์กัมพูชา สู่พระสนมในสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โดยอาจารย์ ศานติ ภักดีคำ ไหว้พระไหว้เจ้าที่ดาวน์ทาวน์เมืองสุโขทัยของอาจารย์ ประภัสสร์ ชูวิเชียร พริกกะเหรี่ยงและความหมายที่ไม่หยุดนิ่งของ กฤช เหลือลมัย มวยเมืองสุพรรณโดย พ.ต.ท.สมพงษ์ แจ้งเร็ว ป่อง ต้นกล้ากับนายไทยเหาะของ เอนก นาวิกมูล
อ่านฉากจบ “มหาเอเชียบูรพา” รัสเซียประกาศรบญี่ปุ่น “ไทย” รอดพ้นคนผิดอย่างไรของ ไกรฤกษ์ นานา
ยังมี “ร้อนแล้ง” ของขรรค์ชัย บุนปาน “พิธีกับวิถี” ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ “หลงลืม” ของขุนทองกะลาเปียก – เพลิดเพลินทั้งเล่ม
● นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัวรายสัปดาห์ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับรับยุบสภา ยุบพรรค ทุบพวกเห็นต่าง ติดตาม “มติชน : เลือกตั้ง 2566 บทใหม่ประเทศไทย” จุดแข็ง ท่าไม้ตาย ของตัวแทนพรรคการเมือง
ครม. ประยุทธ์ทิ้งทวน 1.7 แสนล้านก่อนยุบสภา ชิงเหลี่ยม โกยแต้มสู้เลือกตั้ง อ่านซูเปอร์ แลนด์สไลด์ 310 เสียง หุ้นพุ่ง ข้อมูลใหม่ ดิน ฟ้า อากาศเปลี่ยน สมศักดิ์-สุริยะและพวก ตบเท้า ยกขบวนเข้าเพื่อไทย
อ่านบทความพิเศษ จากใจอดีต กกต. พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ กกต. (กูเกือบตาย) มา 5 คุก 2 ตาย 2 เหลือ 1 (อื้อฮือ…)
แล้วอ่านชาติ ศาสนา และแบรนดิ้ง ประกิต กอบกิจวัฒนา ตั้งคำถาม หรือว่าแบรนด์ “ความเป็นแม่” ขายไม่ได้ใน “การเมืองแบบไทยๆ” อ่านสะเทือนกระบวนการ “ยธ.” ขอ ถอน หมายจับคนดัง ทุกคนเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย? อ่านนาทีสยบตำรวจคลั่ง ยิงมั่ว ชาวบ้านกระเจิง คอมมานโดจู่โจม คลี่สาเหตุป่วยทางจิต
ติดตามดาวพลูโตมองดูโลก วิกฤต Silicon Valley Bank จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 2 หรือไม่ ก่อนเก็บตกออสการ์ 2023 Everything Everywhere All At Once กวาดรางวัล “มิเชล โหย่ว” ความภาคภูมิใจของเอเชีย ฮ่องกง และมาเลเซีย อ่าน “มติชน X ไข่แมว 2023” งานสร้างสรรค์ของศิลปิน การ์ตูนการเมืองสุดแสบสันต์ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 51
● โลกไม่ได้แตกวันนี้พรุ่งนี้ แต่โลกจะเอาคืนหนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะโดยธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง หรือโรคที่ผกผันไปกับสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมผู้คน ส่วนทุนนิยมผูกขาดเสรีย่อมจะยิ่งกระตุ้นให้คนมัวเมาในกิเลสตัณหายิ่งขึ้น สรุปคือ นับจากข้าวแกงก๋วยเตี๋ยวจานละ 60-70 บาทนี้ไป ลูกหลานจะไม่มีวันสงบสบายอย่างที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายเคยมีอีกต่อไปแล้ว
เตรียมตัวกันให้ดี ให้ภูมิต้านทานทางจิตใจกับลูกหลานให้ดี เว้นแต่พ่อแม่เองก็อาจไม่เหลือภูมิต้านทานให้ตัวเองเสียแล้ว-อย่าปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม
อย่างน้อยเมื่อมีการเลือกตั้ง ก็ต้องออกจากบ้านไปลงคะแนนเสียง
บรรณาลักษณ์