ม.เกริก ร่วมกับ รพ.บำรุงราษฎร์ เสริมทักษะภาษาอาหรับให้กับกลุ่มพยาบาล
มหาวิทยาลัยเกริก ร่วมกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จับมือพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ เสริมทักษะภาษาอาหรับให้กับกลุ่มพยาบาล และผู้บริการด้านการแพทย์ พร้อมรองรับ Medical Tourism จากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ที่มีแนวโน้มเข้ารับบริการด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มอบหมายให้ อาจารย์อำพล ขำวิลัย ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเกริกและรองคณบดีฝ่ายวิชาการวิทยาลัยฯ พร้อมด้วย อาจารย์สราวุธ และซัน รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ อาจารย์อำพล ตระการฤกษ์ หัวหน้าศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก นางสาวศรสวรรค์ มะหะหมัด หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม และนายสุรพันธ์ อามินเซ็น เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ ร่วมพิธีเปิดการอบรม “หลักสูตร Arabic for Healthcare Professionals” แก่บุคลากรทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
โดยมีนายแพทย์กษิดิษ ศรีสง่า ผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานทางการแพทย์ ด้านอาราบิก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ พร้อมด้วยคุณภัทรา ศรีสุวัฒนาสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการเรียนรู้ คุณรัชดา พรพัฒน์กุล รองผู้อำนวยการ ฝ่ายการเรียนรู้ คุณทองนิล ธีรรัตนสถิต ผู้จัดการอาวุโส, ward 9 A&CD จันจุรีย์ ยศดา ผู้จัดการอาวุโส, ward 10A&CD และลินจง นิรันดร์ ผู้จัดการพยาบาล, ward 8A ให้การต้อนรับและเข้าร่วมพิธีเปิดการอบรมในครั้งนี้
ในการนี้ ภัทรา ศรีสุวัฒนาสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้กล่าวถึงความสำคัญต่อการเพิ่มทักษะภาษาอาหรับกับบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากปัจจุบันมีชาวอาหรับเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นจำนวนมาก จึงมีความต้องการที่จะเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในด้านการสื่อสารและสร้างความประทับใจให้กับการบริการแก่ผู้เข้ารับการรักษาจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อีกทั้งเข้าใจการสื่อสารภาษาอาหรับขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยและผู้ติดตามมีความเชื่อมั่นในการให้การรักษาและการบริการของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มากขึ้น
ทั้งนี้ยังกล่าวขอบคุณที่วิทยาลัยนานาชาติอิสลามเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ยกระดับมาตรฐานบุคลากร มีเกณฑ์การเลือกโดยมีศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ให้เป็นผู้รับผิดชอบ ดูแล ติดตามประเมินผล และให้ความรู้แก่บุคลากรโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กว่า 100 คน โดยพิจารณาจากเกณฑ์ด้านมาตรฐาน ประสิทธิภาพ ความหน้าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหน้าเชื่อถือในด้านความรู้ และการใช้หลักภาษาที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นศูนย์ภาษาอาหรับแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาภาคกลางของประเทศไทย
นอกจากนี้ นายแพทย์กษิดิษ ศรีสง่า ผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานทางการแพทย์ ด้านอาราบิก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยังเปิดเผยถึงความสำคัญในการให้บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อบรม “หลักสูตร Arabic for Healthcare Professionals” ว่า โรงพยาบาลมีเป้าหมายเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีความสามารถด้านการสื่อสารภาษาอาหรับ ให้ข้อมูล ให้การรักษาแก่คนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อสารอย่างตรงจุด ไม่ให้เกิดข้อสงสัยในการรักษา และสร้างความเข้าใจอันดีแก่ผู้ป่วย เป็นการยกระดับการบริการทางการแพทย์ในประเทศไทย เพื่อให้สามารถดึงดูดการเข้ามาใช้บริการของกลุ่ม Medical Tourism จากลุ่มประเทศตะวันออกกลางได้มากขึ้น ประเทศมีรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี การยกระดับบุคลากรจึงมีความจำเป็นที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จะต้องเร่งพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ผ่านอบรมหลักสูตรภาษาอาหรับ โดยมีศูนย์ภาษาอาหรับ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก เป็นองค์กรด้านการศึกษาที่จะต้องมาร่วมกับขับเคลื่อน เราจึงเชื่อมั่นจากผลงานที่ผ่านมาในภารกิจการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ กับบทบาทด้านภาษาอาหรับของศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ นอกจากนี้ ยังมีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิมากความสามารถ และเชี่ยวชาญด้านภาษาอาหรับเป็นอย่างดีอีกด้วย
อาจารย์อำพล ตระการฤกษ์ หัวหน้าศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ ได้เน้นย้ำว่า ที่ผ่านมาเราได้รับเกียรติจากทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เชิญร่วมเป็นกรรมการสอบประเมินความรู้คุณวุฒิวิชาชีพภาษาอาหรับ สำหรับเจ้าหน้าที่ล่ามอาวุโส ซึ่งภารกิจในครั้งนั้นได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จากนั้นทางโรงพยาบาลจึงได้ปรึกษาหารือกับศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพถึงแนวทางในการจัดอบรมภาษาอาหรับให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรในองค์กร และไว้วางใจให้ศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพเป็นผู้จัดอบรม “Arabic for Healthcare Professionals” ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ทั้งสถาบันการศึกษาและสถาบันทสงการแพทย์จะมีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพของผู้ให้บริการ
อาจารย์สราวุธ และซัน รองคณบดีฝ่ายบริหาร ได้เสริมในโอกาสที่เดินทางไปร่วมในพิธีเปิดครั้งนี้ว่า วิทยาลัยนานาชาติอิสลาม มีคณาจารย์ และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทักษะด้านภาษาอาหรับสูง จบการศึกษาจากตะวันออกกลางอย่าง ประเทศซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ คูเวต อียิปต์ เป็นต้น จึงพร้อมสนับสนุนในความร่วมมือด้านการพัฒนาภาษาอาหรับแก่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และสถาบันอื่น ๆที่มีความต้องการในลักษณะเดียวกัน เพื่อสร้างความพร้อมในการรองรับผู้ใช้บริการด้านการแพทย์จากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่นิยมที่เข้ารับการรักษาในประเทศไทย ความร่วมมือในครั้งนี้นับว่าเป็นก้าวสำคัญของศูนย์ภาษาอาหรับเพื่อสร้างขีดความสามารถและสร้างมาตรฐานใหม่ที่สูงขึ้นแก่วงการด้านการแพทย์ไทยท้ายนี้ อาจารย์สราวุธ และซันได้กล่าวขอบคุณโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ด้านภาษาอาหรับ มุ่งสู่เป้าหมายการเพิ่มศักยภาพของบุคลากร และให้ความเชื่อมั่นกับศูนย์ภาษาอาหรับกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ในการพัฒนาการจัดการอบรมหลักสูตรพัฒนาในครั้งนี้