การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นปัญหาและทางออก

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นปัญหาและทางออก ข้อมูลจากคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหา

ข้อมูลจากคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของประเทศไทย พบการตั้งครรภ์ในแม่วัยรุ่น อายุก่อน 19 ปี ในปี พ.ศ.2562-64 ลดลง

ในปี พ.ศ.2562 มีแม่วัยรุ่นตั้งครรภ์จำนวน 61,552 คน นับเป็นอัตราส่วน 31.3:1,000

ในปี พ.ศ.2563-64 แม่วัยรุ่นตั้งครรภ์จำนวน 56,074 คนและ 47,378 คน นับเป็นอัตราส่วน 28.7:1,000 และ 24.4:1,000

แม้ภาพรวมจะดูดีขึ้น แต่ที่น่าตกใจ คือ แม่วัยรุ่นที่เป็นเด็กหญิงอายุ 10-14 ปี ในปี พ.ศ.2562-64 พบจำนวน 2,180 คน 1,783 คน และ 1,640 คน คิดเป็นอัตราส่วน 1.1:1,000, 0.9:1,000 และ 0.9:1,000

ADVERTISMENT

ขณะที่เป้าหมายลดการตั้งครรภ์แม่วัยรุ่นอยู่ที่ 15:1,000 แม่เด็กหญิงอยู่ที่ 0.5:1,000 ในปี พ.ศ.2570

3 ปีผ่านมา ประเทศไทยมีแม่วัยรุ่นคลอดลูกเฉลี่ยวันละ 150 คน เป็นเด็กหญิงวันละ 5 คน

ADVERTISMENT

จากการศึกษาวิจัย พบพ่อแม่วัยรุ่นหลังคลอดมีอัตราหย่าร้างสูง ไม่ได้เรียนต่อ เป็นแรงงานราคาถูก ด้อยคุณภาพ แนวโน้มมีปัญหาสุขภาพจิต มีความรุนแรงในครอบครัว เสี่ยงกระทำผิดกฎหมาย เป็นอาชญากร ขายบริการ

ส่วนลูกที่เกิดจากแม่วัยรุ่น มักมีปัญหาเรื่องสติปัญญา พัฒนาการช้า เสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาย ก่ออาชญากรรม ติดยา ติดคุก กลายเป็นพ่อแม่วัยรุ่นต่อไป

นอกจากนั้น ยังพบแม่วัยรุ่นตั้งครรภ์ซ้ำ ถึงร้อยละ14-15

ข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี ค.ศ.2004-2008 พบสาเหตุวัยรุ่นท้องไม่พร้อม แต่ท้องต่อจนคลอด ดังนี้

ร้อยละ 50 ไม่ได้คุมกำเนิด (ร้อยละ 24 คู่นอนไม่ให้คุมกำเนิด)

ร้อยละ 31 เชื่อว่าตนเองจะไม่ท้อง

ร้อยละ 13 มีปัญหาการคุมกำเนิด หรือเข้าถึงการคุมกำเนิดยาก และมีวัยรุ่นถึงร้อยละ 22 ไม่สนใจว่าจะท้องหรือไม่

วัยรุ่นตั้งครรภ์เป็นปัญหาทั่วโลก การแก้ไขท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้อัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลงทุกประเทศ มากบ้างน้อยบ้าง เช่นประเทศอังกฤษ ข้อมูลวิจัยพบการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลงถึงร้อยละ 60 ใน 18 ปีที่ผ่านมา แม้การลดลงไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ของประเทศ

10 ปัจจัยจากทั่วโลก นำไปสู่ความสำเร็จ ช่วยลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีดังนี้

1.พ่อแม่ผู้ปกครองมีทักษะ สนับสนุนให้ความรู้ทางเพศศึกษาแก่บุตรหลานเมื่อยังเล็ก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นสามารถคุยอย่างเปิดใจเรื่องความรักความสัมพันธ์ และเพศสัมพันธ์ ข้อนี้ประเทศไทยมีจุดอ่อน ครอบครัวหย่าร้าง พ่อไปทางแม่ไปทางเกือบครึ่งหนึ่ง ทั้งต้องมีการพัฒนา การให้ความรู้แก่พ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะเป็นเรื่องวัฒนธรรม ความเชื่อ ความอาย ความไม่รู้ ไม่มีการสอนเรื่องนี้ให้พ่อแม่ผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานไม่ว่าจะในหรือนอกหลักสูตรสถาบันการศึกษา

อีกความสำคัญ คือ การดูแลสุขภาพจิตของเด็ก เพราะวัยรุ่นที่มีปัญหาเครียด ซึมเศร้า เหงา อ้างว้าง มีแนวโน้มที่จะมีเพศสัมพันธ์ และตั้งครรภ์

2.ดูแลวัยรุ่นแบบเครือข่ายพันธมิตร (Partnership) เครือข่ายครอบครัว โรงเรียน ชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความรู้เรื่องความรักความสัมพันธ์ และเพศสัมพันธ์ สอดส่องความเสี่ยง ดูแลความปลอดภัย ให้งบประมาณทำกิจกรรม ผ่านผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ อสม. หมออนามัย หมอครอบครัว หน่วยงานในโรงพยาบาลชุมชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาเยาวชนและครอบครัว กลุ่มเอ็นจีโอต่างๆ เช่น องค์การต้านเอดส์ เป็นต้น

3.โรงเรียนเป็นหัวใจ ลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยไม่มีการล่วงละเมิดทางเพศ ให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา จัดบริการคุมกำเนิด จัดบริการถุงยางอนามัย มีกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์นี้อย่างต่อเนื่อง

จะสามารถชะลอการมีเซ็กซ์ และป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมได้ ต้องทำกันทุกโรงเรียน บุคลากรทุกคนต้องมีทัศนคติที่ดีกับกลุ่มวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์

ครูที่สอนทักษะชีวิตและเพศศึกษาต้องมีความรู้ทันสมัย มีจิตวิทยา เก่งในการโน้มน้าวใจ

ครูที่ปรึกษา ครูฝ่ายปกครอง ต้องสามารถทำหน้าที่แทนพ่อแม่ผู้ปกครอง คือ ดูแลความปลอดภัย คอยเฝ้าระวัง วัยรุ่นไว้วางใจให้เป็นที่ปรึกษาเรื่องความรักความสัมพันธ์และเพศสัมพันธ์ ประสานใกล้ชิดกับผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

4.มีผู้รับผิดชอบดูแลวัยรุ่นกลุ่มเสี่ยง แยกตามความเสี่ยง 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรกไม่เคยมีเพศสัมพันธ์และไม่คิดจะมีเพศสัมพันธ์ กลุ่มที่สอง ไม่แน่ใจ กลุ่มที่สาม มีเพศสัมพันธ์แล้ว กลุ่มที่สี่ ตั้งครรภ์

การดูแลแต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกัน เช่น

กลุ่มที่ 1 ดูแลสุขภาพจิต ให้ความรู้ สร้างความเชื่อมั่น ความภาคภูมิใจในตนเอง เข้มแข็งทางใจ ไม่ใช้สารเสพติด ไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ มีทักษะการตอบปฏิเสธ การเป็นผู้นำ ความรับผิดชอบ

มีความรู้เรื่องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การคุมกำเนิด การรับมือกับการคุกคามทางเพศ มีกิจกรรมเสริมทักษะ มีที่ปรึกษา คอยติดตาม

กลุ่มที่ 2 นอกจากดูแลเหมือนกลุ่มแรก ควรเฝ้าระวังการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อให้เซ็กซ์ครั้งแรกเกิดช้าที่สุด หากเสี่ยงควรเข้าถึงการคุมกำเนิด

กลุ่มที่ 3 นอกจากดูแลเหมือนกลุ่ม 1 กลุ่ม 2 วัยรุ่นกลุ่มนี้ ต้องมีความรู้เรื่องความรักความสัมพันธ์ ความรุนแรงในครอบครัว การสื่อสารขอความช่วยเหลือ ได้รับการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ มีการเฝ้าระวังการตั้งครรภ์

กลุ่มที่ 4 ตั้งครรภ์ ในรายที่ไม่ประสงค์จะตั้งครรภ์ ควรหาทางออกตามกฎหมายกำหนด สำหรับผู้ประสงค์จะตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ ดูแลครรภ์ตามมาตรฐาน ให้ความรู้ตลอดการฝากครรภ์ ติดตามหลังคลอด ประคับประคอง ช่วยเหลือเรื่องการเรียน เศรษฐกิจ การทำงาน เฝ้าระวังความรุนแรง ดูแลสภาพจิต รวมถึงคุมกำเนิดระยะยาวหลังคลอด

5.การยุติการตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นทางออกหนึ่งของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น แต่ป้องกันดีกว่าการแก้ไข โดยใช้การคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ พบว่าการคุมกำเนิดระยะยาว เช่น ยาฝัง ทำให้อัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลงได้มาก แต่หากวัยรุ่นต้องการท้องต่อหลายฝ่ายต้องช่วยกันประคับประคองอย่างเป็นระบบ

ข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.2022 วัยรุ่นท้องร้อยละ 25 เลือกการยุติการตั้งครรภ์ ส่งผลให้ร้อยละ 61 คลอดบุตรมีชีวิต (ที่เหลือแท้ง หรือคลอดบุตรเสียชีวิต) เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน แม้กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ แต่วัยรุ่นประเทศสหรัฐอเมริกา ลดการทำแท้งประมาณร้อยละ 50

6.บริการสุขภาพ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ควรได้รับการตรวจสุขภาพจิต สุขภาพกาย ซักประวัติเรื่องประจำเดือน และความผิดปกติต่างๆ หากวัยรุ่นมาปรึกษาเรื่องเพศ หรือการคุมกำเนิด ควรมีการบริการเฉพาะที่เป็นมิตร (Young people friendly service) เป็นเรื่องเฉพาะตัวเป็นความลับ บริการตามความต้องการและสภาพปัญหาของวัยรุ่น มีบริการยุติการตั้งครรภ์ ตรวจหลังคลอด ป้องกันการตั้งครรภ์ มีการนัดตรวจติดตาม

งานวิจัยพบว่า การบริการสุขภาพที่ทำนอกโรงพยาบาล เช่น ที่โรงเรียนจะได้ผลดีมีประสิทธิภาพกว่าทำในโรงพยาบาล

7.สื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ โดยสื่อสารปัญหา การป้องกัน การแก้ไข การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ให้แก่ตัววัยรุ่นเอง พ่อแม่ผู้ปกครอง บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

หน่วยงานรัฐบาล ที่ทำงานเกี่ยวกับครอบครัวและเด็กควรบล็อกสื่อลามก คลิปยั่วยุทางเพศ ไม่ให้เด็กและวัยรุ่นเข้าถึงโดยง่าย

8.วิเคราะห์ข้อมูล หน่วยงานทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติ ที่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่น ควรมีการวิเคราะห์ และมอนิเตอร์ ข้อมูลที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ เพื่อนำมาป้องกัน แก้ไข ลดจำนวนวัยรุ่นท้อง โดยมีทั้งแผนปฏิบัติงาน กำลังคน และกำลังเงิน มีการประเมินความสำเร็จเป็นระยะๆ

9.สร้างหลักสูตรสอน (Curriculum) ความรู้เกี่ยวกับความรักความสัมพันธ์และเพศศึกษา (Relationships and sex education) ให้แก่บุคลากรทางสาธารณสุข และผู้ไม่ใช่บุคลากรสาธารณสุข แต่ทำงานเกี่ยวข้องกับวัยรุ่น เช่น เรื่องการเจริญเติบโตทางร่างกายและจิตใจ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น การควบคุมอารมณ์ มุมมองสังคม วัฒนธรรม เกี่ยวกับเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพศสัมพันธ์ สุขภาพทางเพศ เป็นต้น ผู้สอนควรเป็นมืออาชีพ ที่สามารถสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้

10.มีสื่อออนไลน์ โทรศัพท์สายด่วน ที่เข้าถึงง่าย สำหรับวัยรุ่น ปรึกษาเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน มีปัญหาชีวิต ปัญหาสุขภาพจิต ฯลฯ ตลอด 24 ชั่วโมง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image