ผู้เขียน | เสถียร จันทิมาธร |
---|
ซ่อนเงื่อน เล่นเล่ห์
จับ ‘ปลา’ จาก ‘บ่อ’ เพื่อน
การศึก ยุค ‘ชุนชิว’
ทุกอย่างดำเนินไปตามอนุศาสน์อันท่านซุนวู
สรุปจากความจัดเจนในการเผชิญศึกมาอย่างยาวนาน
นั่นก็คือ การศึกมิหน่ายเล่ห์
เพียงแต่ว่าเล่ห์ หรือเพทุบาย นั้นวางรากฐานอยู่กับปัจจัยอะไร เป็นการทหาร เป็นการเมือง
ล้วนมิรอดพ้นไปจากตาข่ายแห่งความจัดเจนนี้
ตั้งแต่เรื่องเล็กระหว่างเจ้าแคว้นกับเจ้าแคว้น ไปยังเรื่องใหญ่ระหว่างกองทัพต่อกองทัพ
ล้วนเป็นเรื่องน่าศึกษา ล้วนเป็นเรื่องน่าเรียนรู้
ใ นช่วงปลายยุคชุนชิว รัฐอู๋และรัฐเยว่ทำสงครามกันหลายครั้ง
ในช่วงที่กษัตริย์ฟูไซของรัฐอู๋ทำสงครามเอาชนะรัฐเยว่ได้อย่างเด็ดขาด กษัตริย์ของรัฐเยว่คือโกวเจี้ยนถูกจับเป็นเชลยอยู่ในรัฐอู๋
โกวเจี้ยนเป็นคนที่สามารถอดทนต่อความอัปยศอดสูได้
ทั้งยังเสแสร้งว่าตนเป็นผู้เจียมตัว และไม่มีความเคียดแค้นอันใดต่อรัฐอู๋ ขณะเดียวกัน ก็เป็นคนที่มีความมานะพยายามและมุ่งมั่น
ถึงขนาดยอมชิมอุจจาระของฟูไซเพื่อพิสูจน์อาการเจ็บไข้ของฟูไซ
ฟูไซซาบซึ้งในความจงรักภักดีของโกวเจี้ยน
มากจึงยอมปล่อยตัวให้คืนกลับไปยังรัฐเยว่
ตรงนี้เองที่เป็นเวลาแห่งการทดสอบโกวเจี้ยน
ปีหนึ่งรัฐเยว่เกิดภัยแล้ง ขาดแคลนเสบียงอาหารจึงขอร้องให้รัฐอู๋ส่งข้าวสารมาให้ 1 หมื่นถัง
เพื่อบรรเทาความอดอยากของประชาชน
กษัตริย์อู๋ก็อนุมัติให้ส่งข้าวเปลือกไปช่วย และแจ้งเงื่อนไขว่า ถ้าปีต่อไปรัฐเยว่เก็บเกี่ยวพืชผลได้ค่อยส่งข้าวมาคืน
ปีต่อมารัฐเยว่ได้ผลผลิตข้าวดีต้องส่งข้าวที่ยืม
เหวินจ้งจึงออกอุบายว่า ถ้าเราคืนข้าวไปรัฐอู๋ก็จะยิ่งมีเสบียงมาก แต่ถ้าไม่คืนเขาก็จะตำหนิ
วิธีที่ดีคือคืนข้าวเปลือก แต่ทำให้สุกเป็นข้าวนึ่ง
เมื่อกษัตริย์อู๋เห็นข้าวเปลือกที่รัฐเยว่ส่งคืนมาเป็นข้าวเม็ดใหญ่ก็คิดว่า นั่นเป็นเพราะรัฐเย่ว์มีผืนดินที่อุดมสมบูรณ์
เหมาะสมแก่การเพาะปลูกจึงได้ข้าวเม็ดใหญ่
กษัตริย์จึงนำข้าวเปลือกไปปลูก ปรากฏว่าข้าวที่ปลูกไม่งอกเลยแม้แต่เม็ดเดียว รัฐอู่จึงประสบกับความอดอยากครั้งใหญ่
ต้องอ่อนกำลังลง
สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย ยกตัวอย่างกลอุบายระหว่างรัฐเยว่กับรัฐอู๋ว่าเป็นกลอุบายกวนน้ำให้ขุ่นเพื่อจับปลา
เป็นตัวอย่างเหมือนที่ขงเบ้งหลอกเอาลูกเกาทัณฑ์โจโฉ
นั่นก็คือ เป็นการฉวยโอกาสขณะที่ฝ่ายตรงข้ามกำลังเกิดความวุ่นวายสับสนไปลักพาเอาสิ่งที่มีค่าของเขาออกมา
นั่นก็คือ การหลอกให้เข้าใจผิด โหมเกาทัณฑ์เข้าใส่
ประดิษฐ์ พีระมาน ระบุใน “มหาพิชัยสงคราม” กลยุทธ์ที่ 20 ผ่านกระบวนการ
“กวน น้ำ จับ ปลา”
เป็นอุบายสร้างความสับสนในการสู้รบ
มุ่งให้กองทัพข้าศึกต้องแบ่งแยกกำลัง กระจายออกไปป้องกันหัวเมืองต่างๆ ทำให้กองทัพข้าศึกเหลือทหารรักษาค่ายน้อย
จึงนำทัพเข้าโจมตีจนแตกพ่าย
เมื่อบุญศักดิ์ แสงระวี แปลและเรียบเรียงหนังสือ “36 กลยุทธ์ แห่งชัยชนะในการสัประยุทธ์ทุกปริมณฑล”
เขาเรียกว่า “กวนน้ำจับปลา”
ให้ความหมายในลักษณะรวบรัดว่า “ศัตรูปั่นป่วนภายใน พึงเอาประโยชน์เพราะไร้สติ
ดุจดั่งต้องหลับนอนยามค่ำ”
กลยุทธ์นี้มีความหมายว่า เมื่อข้าศึกเกิดความปั่นป่วนในกองทัพของตน เราจักต้องฉวยโอกาสความวุ่นวาย มิรู้ที่จะทำประการใดจากข้าศึกนี้
หรืออีกนัยหนึ่ง “เอาชัยจากความปั่นป่วน”
ดุจดังพายุฝนกระหน่ำยามค่ำคืน ที่ต่ำก็จักกักขังน้ำ ผู้คนจากเข้าสู่นิทรารมณ์อันเป็นปกติวิสัยของธรรมชาติและมนุษย์
จึงถึงเวลาที่จะต้อง “กวนน้ำจับปลา”
จากการประมวลของ สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย
ถ้าแปลอย่างตรงตัว “ฮุ่นสุ่ยโม่อวี้” มีความหมายว่า
กวนน้ำให้ขุ่นเพื่อจับปลา
ในทางกลอุบายมีความหมายคล้าย “ซุ่นโส่วเซียนหยาง” อันแปลออกได้ว่า “ขโมยแพะโดยสะดวก”
แต่มีข้อแตกต่างกันอยู่บ้าง
คือ กวนน้ำให้ขุ่นเพื่อจับปลา เป็นการปิดบังสายตาของฝ่ายตรงข้าม ทำให้ฝ่ายตรงข้ามไม่เห็นอันตราย
หรือไม่รู้ว่าเรากำลังจะทำอะไรอยู่
จึงถือเอาจังหวะนี้ทำร้ายเขา หรือยึดผลประโยชน์เขามา
ประเด็นอยู่ที่การกวนน้ำให้ขุ่นทำให้ฝ่ายตรงข้ามไม่เห็นอันตรายที่จะถูกจับกุม ถูกทำร้าย
หรือถูกขโมยของมีค่า
หากฝ่ายตรงข้ามมีสายตาสว่างมองเห็นชัดเจนจะสามารถรู้ทันว่าฝ่ายเรากำลังสร้างความสับสนให้
ก็มีความระมัดระวังตัว กลอุบายจะไม่ได้ผล
การสร้างภาพลวงตาจึงเป็นหัวใจสำคัญ
หากสถานการณ์ยังอยู่ในสภาพปกติ หรือน้ำยังใสอยู่ก็ต้องสถานการณ์เพื่อกวนน้ำให้ขุ่น
เช่นจะไปลักขโมยสิ่งของ
ก็ให้พรรคพวกของเราไปจุดไฟเผาบ้านของผู้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ เมื่อเขาวุ่นอยู่กับการดับไฟ
ก็เข้าไปขโมยของได้โดยง่าย
อีกลักษณะหนึ่งของการใช้อุบายนี้ คือ การหันเหความสนใจของคู่ต่อสู้เพื่อตนเองจะได้หนีหรือเอาตัวรอด
เช่นไปลักขโมยของถูกเจ้าของไล่ตาม
ก่อนที่จะถูกจับได้ก็รีบตะโกน “มีคนขโมยของ” แล้วทำเป็นไล่ตามขโมย ทำให้เจ้าของทรัพย์สินเกิดความสับสน คิดว่าเป็นคนช่วยจับขโมย
แล้วขโมยตัวจริงก็ถือโอกาสวิ่งหนี
หากติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงก่อนการยุบสภาก็จะสัมผัสได้ในปรากฏการณ์แห่งการจับปลาในน้ำขุ่น
นั่นก็คือ การตกปลาในบ่อเพื่อน
ไม่ว่าบ่อที่ชื่อพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าบ่อที่ชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าบ่อที่ชื่อพรรคภูมิใจไทย
ย่อมเห็นปรากฏการณ์ “น้ำขุ่น”
เมื่อเป้าหมายคือทำให้ “น้ำขุ่น” เมื่อเจตนาคือต้องการฉกฉวยเอา “ผลประโยชน์”
จึงเป็นเรื่องของ “เล่ห์” มิได้เป็นเรื่องของ “คุณธรรม”