สุจิตต์ วงษ์เทศ : ปี่ชวา-กลองแขก เครื่องประโคมของชวา-มลายู ไทยรับมาผสมเป็นปี่พาทย์นางหงส์ วงบัวลอย

วงบัวลอย “กลองสี่ ปี่หนึ่ง” (ปี่ชวา) จำเนียร ศรีไทยพันธุ์ (ถึงแก่กรรม), (กลองแขก 2 คน) (ซ้าย) สมาน น้อยนิตย์ (ขวา) มนัส ขาวปลื้ม (ถึงแก่กรรม), (ฆ้องเหม่ง) วิทยา หนูจ้อย บรรเลงประโคมงานเผาศพครูสุพจน์ โตสง่า วัดราษฎร์บำรุง หนองแขม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2537

ปี่พาทย์นางหงส์ เป็นเครื่องประโคมในงานศพของคนชั้นสูง แล้วแพร่หลายสมัยหลังลงสู่สามัญชนชาวบ้านในกลุ่มจำกัดจนปัจจุบัน
ผมเคยเขียนขึ้นออนไลน์นี้เมื่อเดือนก่อน โดยบอกว่าชาวบ้านสมัยก่อนไม่มีเครื่องดนตรีชั้นสูงอย่างนี้ ทุกวันนี้รู้จักในวงแคบๆ เฉพาะกลุ่ม
เมื่อวาน (พฤหัส 15 ธันวาคม) คุณเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ (นักค้นคว้าอิสระทางดนตรีไทย) อ่านพบในสาส์นสมเด็จ เลยบอกให้ดูข้อมูลเพิ่มเติม ผมตรวจในหนังสือตามนั้น จะขอเก็บความโดยสรุปมาเล่าอีก

ปี่ชวา กลองแขก

ปี่ชวา กลองแขก เป็นเครื่องประโคมศักดิ์สิทธิ์ ได้ต้นแบบจากอินเดียของราชสำนักชวา-มลายู จากนั้นราชสำนักอยุธยารับไปใช้ประโคมในขบวนพยุหยาตรา เพราะมีเสียงดัง ฟังชัด
ชาวบ้านทั่วไปยุคอยุธยาไม่มีเครื่องมือด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างนี้ ทำเองไม่ได้ ยังมีข้อห้ามทำเทียมเจ้านาย ใครมีก็ไม่รอดถูกลงโทษหนักถึงตาย

วงบัวลอย

ต่อมาปรับเหลือปี่ชวา 1 เลา กลองแขก 4 ลูก (หรือ กลอง 4 ปี่ 1) ให้ลดเหลือกลองคู่ (มี 2 ลูก) ปี่ชวา 1 ฆ้องเหม่ง 1 ใช้ประโคมทั้งงานศพ กับงานมหรสพหลวง (ไต่ลวด ลอดบ่วง นอนหอกนอนดาบ) เรียก วงบัวลอย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีลายพระหัตถ์เล่าว่า
“กลองคู่ กับ ปี่ชวา และฆ้อง ประสมกันซึ่งเรียกว่า บัวลอย ก็ใช้ทั้งในงานศพและงานมงคล เช่น ในงานมหรสพไต่ลวด ลอดบ่วง และนอนหอกนอนดาบในสนามหลวง…”
[ลายพระหัตถ์ ใน สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2483]

ปัญจดุริยางค์

เครื่องประโคมสมัยก่อนๆ ล้วนมีต้นแบบจากปัญจตุริยะของอินเดียกับลังกา เมื่อถึงไทยเรียก ปัญจดุริยางค์ หรือ เบญจดุริยางค์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีลายพระหัตถ์อธิบายว่า
“อันเครื่องประโคมทั้งหลายไม่ว่าสิ่งไร เห็นจะมาแต่ ‘ปัญจดุริยางค์’ ทั้งสิ้น
คือมีเสียงเป็น 5 อย่าง เสียงกลองใหญ่ กลาง เล็ก กับเสียงเครื่องลม เครื่องทองเหลืองจะเป็นเครื่องมากอย่างหรือน้อยอย่างก็มีเท่านี้เอง”
[ลายพระหัตถ์ ใน สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2483]

Advertisement

ปี่พาทย์นางหงส์

วงบัวลอย ต่อมาก็กลืนเข้ากับวงปี่พาทย์ ใช้งานศพคนชั้นสูงในราชสำนัก เรียก ปี่พาทย์นางหงส์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า
“เครื่องประโคมที่ใช้เฉพาะงานศพ เห็นมีอย่างเดียวแต่ปี่พาทย์นางหงส์ อันมีผู้คิดกลองคู่บัวลอยเข้าประสมวงกับปี่พาทย์
พวกปี่พาทย์เห็นว่าเพลงนางหงส์เข้ากับกลองคู่ดี จึงใช้เพลงนั้น เลยกลายเป็นชื่อเครื่องประโคม”
[ลายพระหัตถ์ ใน สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2483]

ขุนนางทำเลียนแบบ

ครั้นพิธีกรรมโบราณคลายความศักดิ์สิทธิ์ลงเรื่อยๆ บรรดาขุนนางระดับสูงๆ ตลอดจนเจ้าสัวมีทรัพย์สมัยหลังๆ ต่างเลียนแบบเจ้านายยุคก่อนๆ โดยมีปี่พาทย์นางหงส์กับวงบัวลอยในงานศพสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบอกว่า
“เมื่อครั้งงานศพหม่อมเฉื่อยของหม่อมฉัน เจ้าพระยาเทเวศร์ท่านจัดปี่พาทย์นางหงส์อย่างประณีต ไปช่วยที่สุสานหลวง ณ วัดเทพศิรินทร์ ท่านเพิ่มกลองมลายูขึ้นเป็น 6 ใบ…”
[ลายพระหัตถ์ ใน สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2483]
สมเด็จฯ ทรงเล่าอีกว่า “ปี่พาทย์ก็คือ วงหลวงเสนาะ และพระประดิษฐ์ (ตาด) ทำไพเราะจับใจคนฟังทั้งนั้น” เป็นพยานว่าเครื่องประโคมอย่างนี้ สมัย ร.5 (และหลังจากนั้น) เป็นสมบัติของขุนนางชั้นสูงอย่างเจ้าพระยาเทเวศร์ โดยมีสามัญชนบ่าวไพร่เป็นนักดนตรีบรรเลงประโคม แต่ไม่ใช่เจ้าของเครื่องดนตรี

ชาวบ้านเลียนแบบขุนนาง

ปี่พาทย์นางหงส์ กับ วงบัวลอย เมื่อไปอยู่ในงานศพขุนนางกับเจ้าสัว จากนั้นไม่นานก็ต้องลงถึงสามัญชนชาวบ้านที่เป็นเครือญาติเครือข่ายบริวารข้าเก่าเต่าเลี้ยง หรือเป็นพวกมีอาชีพรับจ้างทำปี่พาทย์ ซึ่งเคยอยู่มาก่อนกับเจ้านายขุนนาง
แต่มีในชุมชนใหญ่รอบๆ กรุงเทพฯ เท่านั้น พ้นออกไปชาวบ้านไม่มีใครรู้จักปี่พาทย์นางหงส์กับวงบัวลอย ยิ่งไม่ใช่ภาคกลางก็ยิ่งไม่เคยได้ยินชื่อเครื่องประโคมอย่างนี้
ถ้าจะมีผู้รู้จักบ้างก็เป็นพวกข้าราชบริพารและข้าราชการใกล้ชิดส่วนกลาง หรือมีญาติมิตรเป็นพวกปี่พาทย์ แล้วรู้จักว่าจ้างไปทำปี่พาทย์นางหงส์กับทำบัวลอย

Advertisement

ปี่พาทย์นางหงส์ วงบัวลอย เล่นประกอบเสวนา พลังนางนาค จากท้องแม่ ถึงท้องเมฆ
ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ วันอาทิตย์ 18 ธันวาคม 2559 ตั้งแต่ 13.00 น. ฟรี

2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image