ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 99.18% ของการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 อันดับ 1 พรรคก้าวไกล 151 ที่นั่ง ชนะพรรคเพื่อไทยที่ได้ 141 ที่นั่ง อันดับ 3 พรรคภูมิใจไทย 71 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐได้ 40 ที่นั่ง และพรรครวมไทยสร้างชาติ 36 ที่นั่ง เท่ากับว่าพรรคจากขั้วฝ่ายค้านได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น แม้จะไม่ถือว่าเป็นการชนะแบบแลนด์สไลด์ ที่น่าสนใจคือ พรรคก้าวไกลได้ ส.ส.กรุงเทพฯถึง 32 ที่นั่ง จาก 33 ที่นั่ง เหลือให้พรรคเพื่อไทยเพียง 1 ที่นั่ง
นับเป็นชัยชนะของผู้รักประชาธิปไตยที่ต้องการเห็นบ้านเมืองกลับคืนสู่ระบอบที่เคารพสิทธิเสียงของประชาชน หลังจากเกิดม็อบนกหวีดปิดเมืองเมื่อปลายปี 2556 ตามมาด้วยรัฐประหารในปี 2557 และอยู่ในอำนาจยาวนานจากปี 2557 จนปีนี้ 2566 ในการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านไป พรรคที่แกนนำมาจากคณะรัฐประหารแพ้เลือกตั้งอย่างยับเยิน ขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯของพรรคก้าวไกล ประกาศพร้อมเป็นนายกฯ และได้ติดต่อแกนนำ 5 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเสรีรวมไทย รวม 308 เสียง และกำลังติดต่อพรรคเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้มี 309 เสียง เพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาลปิดประตูการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย
การจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกลต้องจับตาว่าจะเกิดอุปสรรคหรือไม่ เรื่องที่ดีก็คือ พรรคเพื่อไทยประกาศสนับสนุนให้นายพิธาจัดตั้งรัฐบาล แต่การเมืองไทยยังมีเครือข่ายของกลุ่มอำนาจ โดยเฉพาะ ส.ว. 250 คน ที่จะมีบทบาทในการลงมติเลือกนายกฯกับสภาผู้แทนฯทั้ง 500 คน ขณะที่บทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญกำหนดว่า นายกฯจะต้องได้เสียงสนับสนุนเกินครึ่งของ 2 สภา หรือ 376 เสียงขึ้นไปเท่ากับว่าแม้ประชาชนเลือกพรรคก้าวไกลเป็นอันดับ 1 แต่ยังไม่พอต้องได้ความเห็นชอบจาก ส.ว. จากการแต่งตั้ง 250 คนอีก หาก ส.ว.งดออกเสียงหรือไม่เห็นด้วย จะเกิดปัญหาการตั้งนายกฯทันที
รัฐบาลใหม่มีภาระสำคัญคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ การสร้างความเป็นธรรมในสังคม รวมถึงแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แก้ไขผลพวงของรัฐประหาร ซึ่งอำนาจของ ส.ว.ในการเลือกนายกฯก็เป็นปัญหาหนึ่ง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนมีส่วนได้ส่วนเสีย และน่าจะต้องติดตามข่าวสารเพื่อให้เกิดพลังผลักดันในการแปรผลการเลือกตั้งให้เป็นการปฏิบัติ