สิบโท โทน บินดี ไปแสดงฝีมือการบินในท้องฟ้าฝรั่งเศส (2) : โดยพลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

ความเดิมจากตอนที่แล้ว สิบตรี โทน ใยบัวเทศ นายสิบทหารราบ ผู้ใฝ่ฝันจะมีความรู้เป็นช่างตีเหล็กเพียงเพื่อจะไปทำมีดขายตอนแก่ ได้รับความเมตตาจากเจ้าคุณเฉลิมอากาศให้เข้าเรียนเป็นช่างเครื่องบิน ตอนจบสอบไล่ได้ที่ 2 และท่านสนับสนุนให้สิบโท โทน เข้าไปฝึกต่อเป็น ศิษย์การบิน เพื่อเป็นนักบินรุ่นแรกของสยามประเทศ

A6285173-11

นายทหารสัญญาบัตร 5 นายและนายสิบ 3 นายสำเร็จการฝึกเป็นนักบินกองทัพบกเป็นรุ่นแรกในประวัติศาสตร์สยาม 4 เดือนต่อมา ไปบินถวายตัวต่อในหลวง ร.6 ที่สนามบิน (สนามม้าสระปทุม) ซึ่งประกอบด้วย ร.ท.ปลื้ม สุคนธสาร ร.ต.นพ เพ็ญกูล ร.ต.ปิ่น มหาสมิติ ร.ต.จ่าง นิตินันท์ ร.ต.เหม ยศธร ส.ท.โทน บินดี ส.ท.เปลื้อง คล้ายเนตร และ ส.ท.เล็ก ทองจรัส

เมื่อในหลวง ร.6 เสด็จพระราชดำเนินตรวจแถว เจ้าคุณเฉลิมอากาศตามเสด็จฯ แนะนำ ยศและชื่อนักบิน สิบโท โทน คือ 1 ในบรรดานักบินรุ่นแรกที่ได้ถวายตัว นับเป็นมงคลชีวิตหาที่สุดมิได้ ที่ชะตาชีวิตให้เขามีบุญได้ถวายตัวต่อในหลวงในฐานะนักบิน

Advertisement

โชคชะตาช่างเกื้อกูลต่อชะตาชีวิตของนักบินสยาม 8 คนแรก เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ระเบิดขึ้นในยุโรปเมื่อ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2457 ในหลวง ร.6 เคยทรงใช้ชีวิตศึกษาในอังกฤษนาน 9 ปี พระองค์เฝ้าติดตามสถานการณ์สงคราม เพราะตั้งพระทัยจะใช้จังหวะนี้ส่งทหารจากสยามไปร่วมรบ เพื่อจะขอบอกเลิกสัญญาทั้งหลายกับประเทศตะวันตก สยามวางตัวเป็นกลางเฝ้าดูสถานการณ์ราว 3 ปี

เมื่อสถานการณ์เริ่มกระจ่างจนกระทั่ง 22 กรกฎาคม 2460 รัฐบาลสยามประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมัน

ในหลวง ร.6 รับสั่งให้กลาโหมเปิดรับทหารอาสาสมัครที่จะไปร่วมสงครามในยุโรป มีการจัดหน่วยทหารขนส่ง หน่วยบิน และหน่วยพยาบาล

Advertisement

กองทหารอาสาสมัครของสยามที่ผ่านการคัดกรองแล้วจำนวน 1,284 นาย ฝึกยิงปืน ขับรถ ขับเครื่องบินอยู่แถวทุ่งดอนเมือง

กลางดึก 19 มิถุนายน พ.ศ.2461 กองทหารอาสาขึ้นรถไฟจากดอนเมืองเข้ามากรุงเทพฯ ทำพิธีที่หน้ากระทรวงกลาโหม กราบอำลาพระแก้วมรกต แล้วเดินทางไปท่าราชวรดิฐ ลงเรือราชนาวีไทย 3 ลำ มุ่งหน้าไปเกาะสีชัง ทหารหนุ่มจากสยามทั้งหมดย้ายไปลงเรือชื่อ “มิเตา” ของฝรั่งเศส มุ่งหน้าไปสิงคโปร์-โคลัมโบ-เอเดน-ปอร์ทเสด ไปขึ้นฝั่งที่เมืองมาร์แซลล์ของฝรั่งเศส

หน่วยบินจากสยามพักคอย จัดระเบียบอยู่ 15 วัน หลังจากนั้นได้รับคำสั่งให้ไปเข้าฝึกบินปรับมาตรฐานในหน่วยบินของฝรั่งเศสที่ตำบลเอ็กซ์ ห่างจากชายฝั่งทะเลราว 15 กม. ใช้เวลาฝึกกับครูการบินฝรั่งเศสราว 1 เดือนร่วมกับศิษย์การบินของญี่ปุ่น โปรตุเกส นักบินจากสยามทั้งหมดสำเร็จตามหลักสูตรการบินของฝรั่งเศส

นักบินหนุ่มจากสยาม รวม 8 นายและเพื่อนต่างชาติ ถูกส่งไปฝึกบินรบต่อที่โรงเรียนบินผาดโผนที่เมืองโป (Pau) บริเวณชายแดนฝรั่งเศส-สเปน

นายกิมหิน นักเรียนไทยที่ไปเรียนทางด้านศาสนาอยู่ที่ฝรั่งเศสถูกส่งมาเป็นล่ามประจำคณะของนักบินสยาม ที่นี่ฝึกบินด้วยเครื่องแบบนิเออร์ปอร์ต 80 แรงม้า และเมื่อผ่านเกณฑ์ ครูฝึกจึงเริ่มให้บินผาดโผนด้วยการควงสว่าน (Spin Turn)

ผู้เขียนได้พูดคุยกับนายทหารนักบินในปัจจุบัน ได้ความรู้ว่า เครื่องบินในยุคนั้น มีเพียงเครื่องวัดความสูง ไม่มีอุปกรณ์ เครื่องมือที่จะช่วยนักบินตรวจสอบหรือเตือนภัย ต้องใช้สมาธิและความบ้าบิ่น เป็นหลัก

การบินแบบควงสว่านที่ครูการบินฝรั่งเศสให้ฝึก คือ การท้ามฤตยู ล้อเล่นกับความตาย ที่นักบินรบจะต้องปฏิบัติให้ได้

DSC_7714-1

เช้าวันนั้น สิบโท โทน ก้าวออกไปหน้าแถว รับคำท้าครูฝึกนักบินฝรั่งเศส เพื่อขอ “ควงสว่าน” โดยเครื่องนิเออร์ปอร์ท 13 ตารางเมตร 80 แรงม้า เป็นคนแรก พร้อมกับหันมาพูดกับ ร.ท. ประเสริฐ ว่าหากพลาดพลั้งเสียชีวิต ให้นำกระดูกกลับเมืองไทยด้วย

สิบโท โทน นำเครื่องแบบนิเออร์ปอร์ตขึ้นสูงได้ 2,000 เมตร แล้ว ผ่อนกำลังเครื่องยนต์จนหมด ถีบขวาให้เครื่องบินพลิกคว่ำลง
นิเออร์ปอร์ทปักหัวหมุนเป็นเกลียวสว่านลงพื้นดินเหมือนใบไม้ร่วง เมื่อได้ระยะพอสมควร ครูฝึกสั่งให้โทน แก้อาการควงสว่าน เครื่องหยุดหมุนและเงยขึ้นตามเดิม สิบโทน ขนหัวลุก หัวใจสูบฉีดเลือดแรงปรี๊ดทั่วสรรพางกาย และนำเครื่องลงสู่พื้นได้อย่างปลอดภัย

เด็กหนุ่มจากนนทบุรี ฝันจะเป็นแค่ช่างตีเหล็ก กลายมาเป็นนักบินสยามคนแรกที่ไปบินผาดโผนในฝรั่งเศสสำเร็จ บรรดาทีมนักบินของสยามที่เฝ้าเอาใจช่วย ต่างกรูกันเข้าไปยินดีกับสิบโทโทน ซึ่งยังอกสั่นขวัญแขวน ใจเต้นระทึก พูดไม่ออก

“เราต้องทำตามที่ครูสอนทุกประการ ต้องกล้าเสี่ยงตาย ขณะที่ถีบขวาให้เครื่องบินพลิกคว่ำลง ถ้าลังเลใจกลัวตายอาจเป็นอันตรายได้ หรืออาจจะควงไม่สวย ลองกัดฟันยอมตายจริงๆ ไม่ปอดลอยแล้ว มันไม่ยากเย็นอะไรเลย “สิบโท โทน ระบายความดีใจอย่างออกหน้าออกตา หลังจาก “ควงสว่าน” บนท้องฟ้าเมืองน้ำหอมสำเร็จ

ผ่านไปหลายวัน ในที่สุดนักบินสยามทั้ง 8 นายก็ผ่านหลักสูตรทั้งหมด บางคนก็ทำได้สวยงาม บางคนก็ทุลักทุเล บางคนบินขึ้นไปแล้วไม่ยอมควงลงมา

นักบินด้วยกันเอง จะทราบดีว่า คนบางคนเกิดมามีพรสวรรค์ที่จะบังคับเครื่องบินได้อย่างห้าวหาญและสวยงามในทุกลีลา ที่ฝรั่งจะใช้คำชมว่า Born to Fly สิบโท โทน คือ 1 ในคนจำพวกนั้นที่โชคชะตานำพาเขามาไกลสุดขอบฟ้าตามที่ลูกผู้ชายเคยฝันไว้
สิบโท โทน บินดี 1

หลักสูตรต่อไปคือ ฝึกการยิงจากอากาศ ยาน ที่โรงเรียนการใช้อาวุธตำบลบิสกาโร (Biscarrotte) นาน 40 วัน เมื่อจบหลักสูตรแล้วนักบินสยามทั้ง 8 นายได้รับอนุมัติให้เข้าไปพักผ่อนในมหานครปารีส กิน ดื่ม เที่ยวอย่างจุใจนาน 15 วัน แล้วเก็บของย้ายไปฐานทัพอากาศเมือง นังซี (Nancy) เพื่อเตรียมเข้าสู่สนามรบ

นักมวยต้องชก นักบินรบจะต้องฝึกฝนการบิน ร.อ.ปูร์ปอง ผู้บังคับฝูงบินชาวฝรั่งเศสที่มีบุคลิกภาพบ้าบิ่น โลดโผน มักจะท้าทาย ทดสอบนักบินในฝูงให้ห้าวหาญไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะการบินลอดสายไฟฟ้าตามถนนที่ สิบโท โทน ก็บ้าดีเดือด ไม่ยอมให้ฝรั่งดูแคลน
ในเวลาต่อมา ฝูงบินนี้ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายไปอยู่ที่เมืองเดรสนัก ในดินแดนเยอรมันซึ่งสัมพันธมิตรยึดครองไว้ได้ นักบินรบร้อนวิชาทั้งหลายดีใจสุดขีดที่จะได้ออกไปทำศึกในอากาศ หลังจากรอมานาน

เมื่อเดินทางไปถึง นักบินจากสยามได้ไปรายงานตัวกับจอมพล ฟ้อช (Field Marshal Foch) แม่ทัพใหญ่ฝ่ายสัมพันธมิตร

วันรุ่งขึ้นนักบินได้รับคำสั่งให้ไปรับกระสุนคนละ 400 นัดแล้วบรรจุสำหรับปืนกลอากาศ ร.อ.ปูร์ปองสั่งขึ้นเครื่องแล้วส่งสัญญาณให้บินขึ้นตามไป โดยที่ไม่มีใครทราบว่าจะไปที่ไหน ทำอะไร โดยแบ่งเป็นหมู่ละ 9 เครื่อง 2 หมู่

บินไปสักพัก นักบินมองเห็นสะพานคอนกรีตยาวประมาณ 700 เมตร ข้ามแม่น้ำไรน์อยู่ตรงหน้า ตัวสะพานกว้าง 30 เมตร ใต้สะพานมีช่องตอม่อ 12 ช่อง ผู้นำฝูงนำบินเป็นวงกลมแล้วจิกหัวลงต่ำให้สัญญาณซ้ำ “ตามข้าพเจ้า” ผู้บังคับฝูงเล่นเสียวนำเครื่องบินมุดลอดใต้สะพานช่องที่ 6

ลูกหมู่ทั้งหลายที่ไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน แต่ต้องทำตามคำสั่ง ต้องแสดงฝีมือบินลอดใต้สะพานเสี่ยงตายตามกันไป ทุกลำปลอดภัย บินวนอยู่พักใหญ่ นึกว่าจะบินกลับ ผู้ฝูงจอมเพี้ยนพาลูกหมู่บินลอดใต้สะพานซ้ำอีกเป็นรอบที่ 2 เพื่อตอกย้ำความมั่นใจ ความห้าวหาญ

กลับถึงสนามบิน นักบินทุกคนลงจากเครื่องด้วยสีหน้าบึ้งตึงด้วยความเครียด ไม่มีใครพูดเล่นหยอกล้อ บางคนถอดหมวกเอามาเตะเล่นเพื่อระบายความกดดัน นักบินทุกคนเดือดดาลที่ผู้นำฝูง สติเฟื่องพาไปร้องท้ายมบาลเรียกหาความตาย

ตำนานชีวิตของนักบิน 8 นายของสยามในสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังมีสีสันที่ห้าวหาญ น่าภาคภูมิใจ ดีใจ และเศร้าใจ ที่ลูกหลานเหลน ต้องระลึกถึง โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือ โทน บินดี โดย สมบูรณ์ วิริยศิริ

aislogo

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image