‘กรวยจราจร8เหลี่ยม’ ทางออกวิกฤตยางฯ เจ้าของเดียวกับ ‘จ่าเฉย’ !

แนวคิดการยกระดับอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหายางพาราตกต่ำถูกหยิบยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ

หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 8 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับซื้อยางพาราเพื่อนำไปใช้ภายในกระทรวง

หลากหลายนวัตกรรมจึงถูกนำมาเสนอ เพื่อหวังจะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ขณะเดียวกันจะต้องมีประโยชน์คุ้มค่า ใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นถนนยางพารา สนามกีฬาจากยางพารา สนามเด็กเล่นจากยางพารา ซึ่งบางแห่งนั้นมีการสร้างจริงเกิดขึ้นแล้ว

รวมถึงนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่กำลังอยู่ในขั้นตอนผลิตตัวต้นแบบอย่าง กรวยจราจรแปดเหลี่ยมจากยางพารา ผลงานจากแนวคิดของคนไทยที่ผ่านการจดสิทธิบัตรมา 4 ปีแล้ว

Advertisement

อนุชิต วาณิชย์เสริมกุล เจ้าของแนวคิดนวัตกรรมชิ้นนี้ เป็นผู้เดียวกับที่สร้างนวัตกรรมมาแล้วมากมาย ทั้งตู้แผนที่แบบหมุนได้, ป้อมตำรวจจราจร, บ้านลอยน้ำจากไฟเบอร์กลาส, ของเล่นจากไฟเบอร์ และนวัตกรรมที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วประเทศอย่าง “หุ่นจ่าเฉย”

ซึ่งนวัตกรรม “กรวยจราจรแปดเหลี่ยม” เป็นการต่อยอดมาจากนวัตกรรมอื่น ซึ่งมีเป้าหมายเหมือนกัน คือความต้องการแก้ปัญหาบนท้องถนน

อนุชิต วาณิชย์เสริมกุล

Advertisement

“อย่างป้อมตำรวจตามต่างจังหวัดเดิมเป็นซุ้มเล็กๆ มีคนมานั่งบ้าง เดินไปมาบ้าง ผมเลยมีแนวคิดทำป้อมจราจรที่มีหลังคาเป็นรูปหมวกให้กับตำรวจจราจรทั่วประเทศ ซึ่งป้อมตัวนี้นำนวัตกรรมไฟเบอร์กลาส ซึ่งมีความทนทานต่อแดด ทนทานต่อฝนและไม่เป็นสื่อไฟฟ้ามาใช้ หลังจากนั้นได้มีโอกาสพูดคุยกับตำรวจจราจรปฏิบัติหน้าที่จริง เขาก็ชื่นชมว่าป้อมอันนี้ดีนะ ช่วยบังแดด บังลม เป็นสัญลักษณ์ของตำรวจ ไม่ค่อยมีใครมานั่งแบบเมื่อก่อน”

การพูดคุยครั้งนั้นทำให้อนุชิตได้พบปัญหาใหม่ เป็นจุดเริ่มต้นของ “หุ่นจ่าเฉย”

“ตำรวจจราจรเขาเล่าให้ฟังว่า แถวนี้คนขับรถฝ่าไฟแดงกันเยอะมาก ถ้าไม่เห็นตำรวจจราจรยืนอยู่รถแล่นฝ่าไฟแดงกันฉิวเลย ปัญหาตรงนี้ทำให้ผมคิดว่าจะต้องหาผู้ช่วยให้ตำรวจจราจรแล้ว เลยเกิดเป็นหุ่นจ่าเฉยที่หลายคนรู้จักกัน ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นด้วยการติดกล้องจับความเร็วที่หุ่นจ่าเฉย และมีการพัฒนาเป็นจ่ายิ้ม จ่าเข้ม จ่าติ๊ก จ่าเคนด้วย”

กำเนิด “กรวยจราจร” แบบใหม่
ทำไมต้อง “แปดเหลี่ยม”

2

ระหว่างที่ปฏิบัติการติดตั้งหุ่นจ่าเฉยอยู่นั่น อนุชิตก็เหลือบไปเห็นกรวยจราจรทรงกลมเหมือนหมวกแม่มดสีส้มวางเรียงเป็นแถวบนท้องถนน พอรถวิ่งผ่านสติ๊กเกอร์บนกรวยจราจรอันนี้จะสะท้อนแสงให้เห็น

“แต่แสงที่ส่งมาจากกรวยกลมมันจะแฉลบออกไป เห็นแล้วก็เลยผ่านไป ไม่รู้สึกว่าตรงนี้มีกรวยวางอยู่ ผมเลยเกิดแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนขับรถรู้สึกสะดุดกับแสงที่สะท้อนจากกรวย ให้เขารู้สึกว่ากรวยอยู่ตรงนี้นะ ไม่ใช่เห็นแล้วเลยผ่านไป เลยเกิดไอเดียทำกรวยจราจรแปดเหลี่ยมขึ้นมา” อนุชิตอธิบาย

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไม “กรวยจราจร” ต้องเป็น “แปดเหลี่ยม” แล้วมันต่างจากกรวยธรรมดาอย่างไร?

เจ้าของแนวคิดอธิบายว่า ส่วนที่เป็นเหลี่ยมมุมจะสะท้อนแสงได้ดีกว่าแบบกลม เปรียบเทียบให้เห็นภาพ คือ ตัวเหลี่ยมที่เกิดขึ้นคล้ายกับเหลี่ยมของเพชร เวลาเจอแสงไฟจะมีแสงวับๆ แวบๆ เช่นเดียวกัน กรวยจราจรแปดเหลี่ยมนี้ ถ้านำไปวางบนถนน เวลาที่รถขับผ่านแสงไฟจากหน้ารถจะไปกระทบกับเหลี่ยมของกรวยจราจรให้คนขับรู้ว่าด้านหน้ามีกรวยจราจรอยู่

1“ผมเลยมีแนวคิดจะทำกรวยเป็นเหลี่ยมขึ้น เริ่มแรกก็ทำเป็นกรวยแปดเหลี่ยมเลย แต่หลังจากที่ทำเป็นกรวยจราจรแปดเหลี่ยมแล้ว ก็ลองทำแบบขึ้นมาใหม่เป็นห้าเหลี่ยม หกเหลี่ยมแต่ก็ไม่สวย พอลองทำเป็นเจ็ดเหลี่ยม หรือเก้าเหลี่ยมแล้วมันก็รู้สึกไม่ลงตัว เหลี่ยมมันเยอะเกินไป สุดท้ายก็กลับมาสรุปที่แปดเหลี่ยม เพราะเป็นเหลี่ยมที่สมบูรณ์ที่สุดแล้ว ยังเพิ่มความพิเศษด้วยการเพิ่มส่วนขาที่ฐาน 4 ด้านเพื่อเพิ่มความแข็งแรงทนทาน และเจาะรูเป็นรูปดาวบนกรวยจราจรแปดเหลี่ยม เวลาที่เกิดลมปะทะบนท้องถนนกรวยของเราจะไม่ต้านลม เพราะลมจะวิ่งผ่านรูที่เจาะเอาไว้” อนุชิตอธิบาย

สำหรับกรวยจราจรแปดเหลี่ยม มีขนาดความกว้าง 42 เซนติเมตร สูง 81 เซนติเมตร ชุดแรกได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มอบกรวยจราจร 5,000 ตัว ให้กรมตำรวจในวันที่ 5 มีนาคมนี้ ซึ่งเป็นกรวยต้นแบบทำจากโพลิเมอร์ แต่อนุชิตก็มีแนวคิดจะต่อยอดด้วยการนำยางพารามาเป็นวัสดุหลักแทน ซึ่ง 1 ตัวจะใช้ยางพาราประมาณ 2 กิโลกรัม

“ผมมีไอเดียที่จะทำกรวยจราจรจากยางพาราขึ้นมา แล้วได้รับการเชิญจากท่านพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ ที่ทราบว่าผมเป็นเจ้าของสิทธิบัตรกรวยยางจราจรแปดเหลี่ยม ให้ไปร่วมงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ และแนะนำให้รู้จักกับอาจารย์ณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง แล้วก็ได้พูดคุยปรึกษากัน อาจารย์ก็บอกว่าสามารถเอายางพารามาทำได้นะ ตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนที่จะขึ้นรูปแบบ ทำแม่พิมพ์กรวยจราจรแปดเหลี่ยมจากยางพารา ที่ต้องทำพิมพ์ใหม่เพราะเราใช้วิธีฉีดแบบโพลิเมอร์ไม่ได้ เนื่องจากยางพารามีความเหนียวและหนืดกว่า”

ขณะนี้จึงอยู่ในขั้นตอนการทำตัวต้นแบบ

ไม่นานเกินรอ “ได้เห็น”
สานต่อจาก “งานยางบึงกาฬ”

อนุชิตคาดการณ์ว่า “กรวยจราจรแปดเหลี่ยม” น่าจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน จะมีตัวอย่างออกมาให้เห็นแล้ว

เบื้องต้นจากการคำนวณ แม้ต้นทุนกรวยจราจรแปดเหลี่ยมที่ทำจากยางพาราจะมีราคาแพงกว่ากรวยจราจรที่ทำจากโพลิเมอร์ แต่เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำเอง ไม่ผ่านคนกลาง ทำให้สามารถคุมราคาได้ ตั้งใจว่าจะขายในราคาที่ไม่แพงไปกว่ากรวยจราจรที่ทำจากโพลิเมอร์ ซึ่งมีราคาอยู่ที่ประมาณ 380 บาท เพราะต้องการให้เกิดการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางจริงๆ

“ถึงกำไรจะน้อยลงมาหน่อย แต่การนำยางพารามาใช้เป็นความพยายามที่ผมอยากจะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ผมมองว่าแนวคิดและนวัตกรรมแปลกใหม่เพื่อที่จะเอายางพารามาทดแทนสิ่งที่มีอยู่เป็นทางออกของปัญหายางพาราตอนนี้ได้ เพราะตอนนี้ยางพารามีอยู่เยอะมากในประเทศไทย จะทำอย่างไรให้ชาวสวนไม่เดือดร้อน ไม่ต้องมาประท้วงในกรุงเทพฯ วันนี้ถ้าทุกคนต้องการช่วยเหลือชาวสวนยางจะต้องช่วยกัน อย่างน้อยในส่วนของท้องถิ่น หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย หันมาสนใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพาราให้มากขึ้น เช่น กรวยจราจรที่ผมกำลังจะทำ มีราคาเท่ากับกรวยจราจรจากโพลิเมอร์ ซึ่งปกติเป็นสิ่งที่ท้องถิ่นต้องซื้อมาใช้อยู่แล้ว ก็มาช่วยซื้อกรวยที่ทำจากยางพาราแทน อย่างน้อยแค่ อบต.ละ 200 ตัว ถ้าทั้งประเทศมี อบต. 8,800 แห่ง ก็จะเกิดการใช้กรวยจากยางพารา 1,760,000 อัน ซึ่งหมายถึงปริมาณยางพารา 3,520,000 กิโลกรัม หรือ 3,500 ตัน ทำให้เกิดการใช้ยางในปริมาณมาก”

ไม่เพียงวางตลาดการใช้งานในประเทศเท่านั้น อนุชิตยังวางเป้าหมายจะขยายออกไปตลาดต่างประเทศ ด้วยการชูเรื่องของวัสดุธรรมชาติที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม

“แนวคิดนี้เริ่มต้นจากการไปร่วมงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ก็ได้พูดคุยกับบริษัทจากเมืองชิงเต่า มณฑลซานตง ประเทศจีน ซึ่งเขารับซื้อหมอนยางพาราของเกษตรกรที่บึงกาฬอยู่ ทางจีนเขาให้ความสนใจกรวยจราจรแปดเหลี่ยมที่ทำจากยางพาราอย่างมาก ถ้าทำได้จีนรับซื้อแน่นอน ซึ่งสาเหตุที่เขาสนใจ เพราะถ้ากรวยจราจรใช้ยางพาราแทนโพลิเมอร์ได้ มันจะยกระดับเป็นกรวยจราจรที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งกรวยจราจรของเราเป็นกรวยแปดเหลี่ยมที่มีความทนทานและมีความพิเศษกว่ากรวยปกติทั่วไป”

อนุชิตยังมีแนวคิดจะผลักดันให้เกิดการใช้ยางพาราอย่างต่อเนื่อง หากสามารถทำกรวยจราจรแปดเหลี่ยมจากยางพาราได้แล้ว นวัตกรรมต่อไปที่สนใจอยู่คือการทำหุ่นจากยางพาราที่มีหุ่นจ่าเฉยเป็นต้นแบบ เป็นการทำตัวกันชนที่อยู่บนถนน ทางด่วน ทางพิเศษ หรือมอเตอร์เวย์ ซึ่งปัจจุบันทำจากโพลิเมอร์ รวมถึงแท่งแบ่งเขตบนถนนที่เป็นพลาสติก ก็กำลังพิจารณาว่าจะนำยางพารามาทำดีหรือไม่

เป็นอีกแนวคิดสร้างสรรค์ ที่หวังว่าจะได้เห็นผลสำเร็จในเร็ววันนี้

เพราะการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางพาราไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม เป็นทางออกที่จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างยั่งยืนที่สุด

จุดสร้างตอนเเบบเเนวคิดเป็นของเล่นเเละบ้านลอยน้ำ
จุดสร้างตอนเเบบเเนวคิดเป็นของเล่นเเละบ้านลอยน้ำ
บ้านลอยน้ำ
บ้านลอยน้ำ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image