ผู้เขียน | ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช |
---|
สงครามยูเครนกระทบเอกราชไต้หวัน
เด็ดดอกไม้สะเทือนดวงดาว
ก ารหาเสียงเลือกตั้งผู้นำสูงสุดของไต้หวันได้ย่างเข้าโค้งสุดท้าย นโยบายหาเสียงของพรรคประชาก้าวหน้ายังชูธงเหมือนเดิม “ต่อต้านจีนปกป้องไต้หวัน” ยึดถือความกล้าหาญของยูเครนเป็นแม่แบบทำการต่อต้าน เพื่อโน้มน้าวจูงใจประชาชนให้เกรงกลัวจีน เกลียดชังจีนอันเป็นโทสาคติในดวงจิตดูประหนึ่งว่าเป็นการแสดงออกเพื่อยกระดับความขัดแย้งของสองฝั่งช่องแคบให้ลงสู่ถนน และทำการสู้รบต่อไป
ทว่า บัดนี้แบบอย่างการต่อสู้กับศัตรูของยูเครน ดูเหมือนเป็นการแสร้ง คือผลงานต่างไปจากตอนเริ่มต้น จึงมีสัญญาณปรากฏขึ้นเป็นระยะและนับวันมากขึ้น ตะวันตกกำลังทำนายและคาดการณ์ว่า ยูเครนอาจจะต้องพ่ายแพ้สงคราม เพราะประสบชะตากรรมเกี่ยวกับรัฐ 4 รัฐ ได้ถูกผนวกเข้ากับรัสเซีย ประการ 1
อีกประการ 1 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ยับยั้งญัตติงบประมาณช่วยเหลือกองทัพยูเครนของรัฐบาลโจ ไบเดน เป็นจำนวน 6 หมื่นกว่าล้านดอลลาร์ การยับยั้งญัตติดังกล่าว มิใช่เป็นเพียงความเห็นคัดค้านของพรรครีพับลิกัน หากยังมีสมาชิกส่วนหนึ่งของพรรคเดโมแครตสวนมติพรรค ไม่เห็นชอบ
เรื่องที่ทำให้สังคมตกตะลึงที่สุดคือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของยูเครนและรัสเซียได้พบกันแบบลับ เพื่อเจรจายุติสงคราม เป็นพฤติกรรมที่มองข้ามประธานาธิบดีเซเลนสกี แม้ว่า “โจ ไบเดน” แจ้งให้ “เซเลนสกี” เข้าพบที่ทำเนียบขาวด่วน แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ทั่วไปได้เข้าสู่ทางตัน คงยากจะหวนกลับ
ดังนั้น ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยคือ สหรัฐทำการประเมินสถานการณ์ผิดพลาด มองข้ามยุทธศาสตร์การรบ โดยสำคัญผิดว่า สงครามยูเครนสามารถตัดกำลังรัสเซียได้ จากการแซงก์ชั่นอย่างรุนแรงของบรรดาประเทศตะวันตก เป็นเหตุให้รัสเซียไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบ ระบบการคลัง ตลอดจนการเบิกจ่ายเงินทั่วโลกต้องสะดุดหยุดอยู่ ตลอดจนการซื้อขายน้ำมันดิบด้วยดอลลาร์ต้องยุติกลางคัน
รัสเซียอาศัยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้าง ทำการเปิดระบบการซื้อขายด้วยดอลลาร์สหรัฐ โดยได้ร่วมกับคู่ค้าสร้างช่องทางซื้อขายน้ำมันขึ้นใหม่ อันได้แก่ ประเทศจีน อินเดีย ลาตินอเมริกัน และแอฟริกา ฯลฯ
จึงกลายเป็นลาภงอกทางเศรษฐกิจ ส่วนรายรับการค้าต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนสงคราม เพราะการทำสงคราม คือการใช้เงิน ดังนั้น เงินคงคลังของรัสเซียจึงมีความสมบูรณ์ การทำศึกก็คล่องตัว
เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดคือ รัสเซียใช้แนวรบฉุกเฉินเหมือนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอาศัยเหตุการณ์สู้รบกับยูเครนใช้อาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ โดยเปลี่ยนอาวุธชนิดเป็นรองจากเครื่องบินไร้คนขับให้เป็นระเบิดนิวเคลียร์พิสัยไกล เป็นเหตุให้กองทัพยูเครนต้องรับศึกหนัก อีกทั้งได้รับการสนับสนุนอาวุธสมัยใหม่จากเกาหลีเหนือดุจเสือติดปีก ครึ่งปีที่ผ่านไป ทหารยูเครนจึงขยับลำบากแม้แต่นิ้วเดียว
เนื่องจากฤดูหนาวใกล้เข้ามา เป็นเหตุให้ทหารยูเครนกำลังสู้รบถดถอย ณ ปัจจุบันทหารยูเครนที่เสียชีวิตสูงถึง 7 กว่าหมื่นนาย ทหารวัยรุ่นส่วนใหญ่กลายเป็นธุลี บัดนี้ทหารที่เข้าสู่สนามรบส่วนใหญ่อยู่ในวัย 35-60 ในขณะที่ทหารรัสเซียล้วนเป็นวัยรุ่น การสู้รบจึงค่อนข้างได้เปรียบ
ชาวยูเครนเริ่มมีคำถามว่า เหตุใดจึงต้องเสียสละชีวิตเลือดเนื้ออย่างแสนสาหัส และก็ยังไม่สามารถเอาคืนซึ่งพสุธา และก็ยังไม่มีโอกาสทราบได้ว่า สงครามจะยุติเมื่อใด เป็นความกังวลในดวงหทัยของชาวยูเครน
รัสเซียยังมีส่วนได้เปรียบในด้านจำนวนประชากร ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ พลันที่มีคำสั่งเกณฑ์ ทหารใหม่ทยอยเข้าร่วมขบวนอย่างไม่ขาดสาย เริ่มปฏิบัติหน้าที่โดยเจริญรอยตามแนวทางประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวแก่การปกปักรักษามาตุภูมิ ด้วยการพิชิตฝ่ายฟาสซิสต์ ซึ่งเป็นการบรรลุพันธกิจของบรรพบุรุษ
แม้การเริ่มต้นทำสงคราม รัสเซียตกเป็นรอง แต่หลายเดือนที่ผันผ่าน ได้เปลี่ยนสถานะจากรองเป็นต่อแล้ว
ดร.เฮนรี คิสซิงเจอร์ ผู้ซึ่งได้รับฉายา “บิดาแห่งการทูต” ก่อนละจากโลกนี้ไป ได้แนะว่า หนทางที่จะไปสู่สันติภาพระหว่างยูเครนกับรัสเซียคือ ยูเครนต้องยอมเสียสละพื้นที่ตะวันออก 4 รัฐ โดยกำหนดให้เป็นเขตสันติภาพ รัสเซียต้องยินยอมให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกของ NATO
แต่ข้อเสนอของ “คิสซิงเจอร์” นั้น “เซเลนสกี” วิพากษ์ว่าเป็นการขายชาติ รัฐบาลไบเดนก็ไม่เห็นชอบเช่นกัน
บัดนี้ ความคิดเห็นของหลายประเทศในนาโตได้เริ่มเปลี่ยนแปลง โดยมีฮังการี เช็กเกีย โปแลนด์ เป็นต้น ได้แสดงความเห็นคัดค้านจุดยืนอันแข็งกร้าวของนาโต เพราะพวกเขาเห็นว่า ควรแสวงหาช่องทางไปสู่สันติภาพ ซึ่งเป็นประเด็นที่สะท้อนให้เห็นถึงรอยร้าวในนาโตอย่างชัดเจน อันเป็นรอยร้าวที่ยากจะฟื้นคืนได้
ประเด็นที่สำคัญขณะนี้คือ สงครามยูเครนได้กลายเป็นปัญหาเชิงลบสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
วันนี้ “โดนัลด์ ทรัมป์” มีคะแนนนิยมนำ “โจ ไบเดน” ชนิดทิ้งกันมองไม่เห็นฝุ่น ทั้งนี้ เพราะ “ทรัมป์” ประกาศว่า พลันที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี สงครามยูเครนต้องยุติโดยพลัน และจะไม่สนับสนุน “เซเลนสกี” ต่อไป เขาเห็นว่าข้อพิพาทอาณาเขตเป็นปัญหาระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของสหรัฐ “ทรัมป์” เห็นว่า การที่รัฐบาลเดโมแครตให้การช่วยเหลือทางการทหารแก่ยูเครนนั้น กรณีเสมือนหลุมลึกมิอาจหยั่งได้
เป็นการทำลายกระเป๋าเงินของอเมริกันชน จึงละม้ายกับการค้าขายที่มีแต่ขาดทุน
กรณีจึงเป็นการนำมาซึ่งความกดดันแก่รัฐบาลโจ ไบเดน และยิ่งนำมาซึ่งแรงกดดันแก่พรรคประชาก้าวหน้าของไต้หวัน กล่าวคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 13 มกราคม 2024 ไม่ว่า “ไล่ ชิงเต๋อ” จะได้รับเลือกหรือไม่ เรื่องที่น่าจะยืนยันได้ก็คือ เมื่อเปรียบเทียบพลังเอกราชไต้หวันกับยูเครน หากยูเครนล่มสลาย ไต้หวันก็ต้องล่มสลาย เพราะฝ่ายบริหารของพรรคประชาก้าวหน้าทำการเปรียบเทียบ “ไล่ ชิงเต๋อ” คือ “เซเลนสกี”
ถ้าเปรียบเทียบเช่นนี้ เมื่อ “เซเลนสกี” ล้ม “ไล่ ชิงเต๋อ” ก็ต้องล้มด้วย และการสถาปนาไต้หวันให้เป็นประเทศ หรือ “เอกราชไต้หวัน” นั้น ก็ต้องล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เมื่อไม่นานมานี้สหรัฐยังให้
การสนับสนุนทางการทหารแก่ไต้หวัน แต่การช่วยเหลือนั้น ไม่ต่างไปจากกระแสน้ำ น้ำทำให้เรือลอยได้ น้ำก็ทำให้เรือจมได้
สิ่งที่ประจักษ์คือ การที่ถูกสหรัฐทรยศ ในกรณีสงครามเวียดนามใต้ อัฟกานิสถาน และยูเครน ล้วนสามารถประจักษ์ถึงอำนาจของสหรัฐเริ่มต้นดีสุดท้ายเลว เสมอวลี “หัวมังกุท้ายมังกร”
“สถาบันหมีดำ” ภายใต้อุปถัมภ์ของพรรคประชาก้าวหน้าไต้หวัน ความจริงก็เหมือนกับค่าย “Azov Regiment” ของยูเครน ซึ่งทำหน้าที่ในการปลุกระดมสร้างกระแสประชานิยม ยกระดับความถูกเกลียดชังให้เกิดแก่ฝ่ายตรงข้าม เป็นการสะสมต้นทุนทางการเมือง ค่ายดังกล่าวทำการปลุกระดมในอาณาเขตยูเครนเพื่อเรียกร้องให้คนทำการต่อต้านรัสเซียอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ทหารอาสามัคร สร้างกระแสปลุกระดมต่อต้านรัสเซีย และให้ประชาชนกดดันทหารเพื่อผลักดันรัฐบาลต่อต้านรัสเซีย แต่ทางการทหารได้เสียสละเลือดเนื้อไปมากแล้ว ก็ยังไม่สามารถปกป้องประเทศของตนได้ คนในประเทศจึงเรียกร้องให้เปิดการเจรจากับรัสเซีย เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ แต่กลับถูกทหารรัฐบาลกลั่นแกล้ง โดยการประจานว่า กรณีคือการ “ขายชาติ”
บัดนี้ สงครามยูเครนผ่านไปแล้วถึงประมาณ 700 วัน ย่อมเป็นการยืนยันว่า ความคิดไม่เข้าเป็นสมาชิกนาโต ไม่ยอมเป็นเบี้ยตัวหนึ่งของสหรัฐนั้น คือแนวคิดอันธำรงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของยูเครนอย่างแท้จริง
แต่ชะตากรรมของค่าย “Azov Regiment” และผลสะท้อนในมุมลบ คือบทเรียนอันล้ำค่า เสมือน “กระจกบานหนึ่ง” ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ไต้หวัน
ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช