‘ครูทิว’ แนะครูสอนปวศ. ต้องชวน ‘ถก ถาม เถียง’ เน้นมุมหลากหลายไม่ใช่แค่ ‘รักชาติ’

‘ครูทิว’ แนะครูสอนปวศ. ต้องชวน ‘ถก ถาม เถียง’ เน้นมุมหลากหลายไม่ใช่แค่ ‘รักชาติ’

เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมกับ TK Park จัดงานเสวนาวิชาการ “เปิดโฉมหน้าวิชาประวัติศาสตร์ไทย: คน GEN ใหม่ เรียนเรื่องเก่าแบบไหนในยุค AI ครองเมือง”

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ เวลา 12.30 น. มี นักเรียน คุณครู อาจารย์ที่สอนด้านประวัติศาสตร์และสังคม เดินทางมาร่วมฟังเสวนาวิชาการล้นห้องประชุม โดยจะมีการเปิดให้ร่วมแสดงความคิดเห็น ออกแบบการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ให้สอดคล้องกับยุคสมัย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ร่วมให้มุมมอง ส่วนช่วงที่ 2 เป็นการเปิดให้แสดงความเห็น ร่วมกันออกแบบวิชาประวัติศาสตร์

เวลา 13.00 น. มีการเสวนา ในหัวข้อ “เปิดโฉมหน้าวิชาประวัติศาสตร์ไทย: คน GEN ใหม่ เรียนเรื่องเก่าแบบไหนในยุค AI ครองเมือง” โดย ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม, ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ โรงเรียนราชดำริ และ นายเฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้อำนวยการสถาบันสังคมศึกษา สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมแสดงความเห็น

ADVERTISMENT

ในตอนหนึ่งเมื่อพิธีกรถามถึงมุมมองต่อวิชาประวัติศาสตร์ ได้อะไรจากการเรียนวิชานี้ เรียนไปแล้วจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นได้อย่างไร

นายธนวรรธน์ หรือ ครูทิว กล่าวว่า ประการแรกต้องย้อนไปดูว่า เขาได้เรียนประวัติศาสตร์แบบไหน มันถึงจะตอบได้ว่า เขาได้อะไรจากการเรียนประวัติศาสตร์

ADVERTISMENT

“ประการแรก ถ้าเรามองภาพรวม แบบที่หลายคนพูดและทำอยู่ในสังคมไทย ที่บอกว่าเรียนประวัติศาสตร์เพื่อให้เกิดการรักชาติ ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าฟังก์ชั่นและปรัชญาของวิชาประวัติศาตร์ มันเป็นแบบนั้นไหม หรือ เป็นแบบไหนกันแน่

หากเรียนเพื่อปลูกฝังความรักชาติ ปลูกฝังผ่านเรื่องเล่าอะไรบางอย่างแบบมีพลัง แล้วทำงานกับความคิดเขา เขาจะได้ชุดความคิดที่กำหนดอุดมการณ์ วิธีคิด การตัดสินใจในชีวิต มันส่งผลถึงตัวเขาแน่ๆ ทั้งแบบรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวต่อว่า หลายเรื่องประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นแค่เรื่องอดีต แต่มันเป็นการเข้าใจอดีตและการเปลี่ยนแปลง ที่มีผลต่อความคิดของคนในสังคมต่อไป

“หากเราบอกว่าเราเรียนประวัติศาสตร์ เพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ แสดงถึงความภาคภูมิใจ เพื่อให้รู้สึกอะไรแบบนั้น เขาก็จะมองโลกไปในทางนั้น แต่ถ้าเราสอนประวัติศาสตร์ โดยเน้นให้เขาเห็นถึงมุมมองที่หลากหลาย สอนให้เข้าใจถึงอดีตและการเปลี่ยนแปลง ที่มันผ่านกระบวนการคิดและการให้เหตุผล” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า เขาจะได้วิธีการคิด วิธีการให้เหตุผล ที่เขาสามารถเอากลับไปใช้ในชีวิต การตัดสินใจ การรับรู้ข้อมูล รับสื่อต่างๆ เขาจะได้ผ่านการเรียนประวัติศาสตร์ ถ้าหากเรามองฟังก์ชั่นของวิชาประวัติศาสตร์ ว่ามันสามารถพัฒนาความคิดของเขาได้ หรือ อุดมการณ์แบบอื่นๆ ที่ไม่ได้บอกเด็กๆ ว่ารักชาติแบบไหนล่ะ

“เราชวนเขามาเรียนประวัติศาสตร์แบบเกิดการตั้งคำถาม และความเป็นธรรมในระบบ เขาก็อาจจะได้แว่นเพิ่มเติม ที่จะส่งผลให้เขาออกไปอยู่ในสังคม และเป็นสามารถพลเมืองที่ดีได้” นายธนวรรธน์เผย

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สุดท้ายแล้ว วิชาประวัติศาสตร์ จะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นอย่างไร แง่หนึ่งมันจะเป็นพื้นฐานและหลักสำคัญในชีวิต ที่จะเอาไปเป็นวิธีคิด และการตัดสินใจ ประการต่อมาด้านการเรียนรู้ ค้นหาข้อมูล นำมาถึงการเปลี่ยนแปลงสังคม และสร้างมูลค่าทางเศรฐกิจได้ ถ้าเขาได้เรียนจริงจากสิ่งเหล่านี้” นายธนวรรธน์ชี้

เมื่อถามว่าเด็กมีความคิดและมุมมองต่อวิชาประวัติศาสตร์อย่างไร

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ตนถามเด็กชุมนุม การเมือง กฎหมาย และสังคม เขาพูดว่าเขาอยากเรียนแล้วได้คิด ได้วิเคราะห์มากกว่านี้ เขารู้สึกว่าหลายครั้งมันเรียนเพื่อจำ และถูกทำให้เชื่อ โดยนักเรียนมักจะบอกตนทุกเทอม หลังจากที่ให้เขาได้ถกเถียง คุยกับเพื่อน หรือ เอาหลักฐาน 1 ชิ้นให้เขาตีความกับเพื่อน

“เขารู้สึกว่าเขารับฟังคนอื่นได้ดีขึ้น ได้มากขึ้น นักเรียนบอกว่า เมื่อก่อนเขาขี้เกียจคิด แต่พอมาเรียนประวัติศาสตร์กับผมแล้วสนุก มันมีบางคนที่อาจจะยังเรียนรู้ได้ไม่ถึงเกณฑ์ ตามมาตรฐานเด็กม.3

บางครั้งมันจึงเป็นหน้าที่ของครู ที่จะสามารถจับประเด็นของเด็ก ช่วยเข้าใจว่าเด็กต้องการจะพูดแบบนี้ มันไม่ใช่แค่การสอนให้รู้ มันสอนถึงวิธีคิดและการสื่อสาร” นายธนวรรธน์เผย

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เด็กหลายคนก็รู้สึกว่าเรียนคลาสนี้แล้ว ได้แสดงความคิด มันไม่ใช่คลาสไปเรื่อย เขารู้สึกว่ามีตัวตนในวิชานี้ เขารู้สึกว่าตัวเขามีคุณค่า มีพื้นที่ในการเรียนรู้ตรงนั้น ถามว่าเด็กเล่นเกม เล่นกิจกรรมแอคทีฟไหม

“บางครั้งเด็กชอบที่เราทิ้งคำถามไว้ ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลา อาทิตย์ละ1-2 ชั่วโมง ประวัติศาสตร์มันเหมือนกับมหาสมุทร เราไม่รู้หรอกว่ามันโหดหินตรงไหน เราไม่รู้หรอกว่าตรงไหนที่เขาอยากไปรู้ เราพาเขาไปมหาสมุทร แล้วให้เขาดำดิ่งลงไป เท่าที่เขาอยากจะไป” นายธนวรรธน์เผย

นายธนวรรธน์กล่าวว่า เรื่องการสอนแบบ Active Learning ด้านประวัติศาสตร์ เราต้องเห็นว่าครูเป็นนักคิด เป็นผู้ทำงานทางความคิด ทางปัญหา ไม่ใช่แค่นักเทคนิค ที่คิดว่าจะทำอย่างไรให้ตามเกณฑ์ชี้วัด แต่ถ้าหากมันสอนไม่แน่น จะไปไกลกว่านั้นไม่ได้

“เรามองกลับมาถึงปรัชญาว่า เรามองครูผู้สอนเป็นอะไร นักเรียนเป็นอะไร เรามองว่าเป็นสิ่งที่เด็กสามารถลองผิดลองถูกได้ ตามหาคำตอบของสังคมได้ เราอยู่บนปรัชญาประวัติศาสตร์แบบไหน” นายธนวรรธน์ชี้

นายธนวรรธน์กล่าวว่า เราเรียนข้อเท็จจริงในอดีต เพื่อรู้ว่าเป็นอย่างไร มันเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร หรือ เราเรียนเพื่อเข้าความเปลี่ยนแปลง มันเป็นเรื่องมโนทัศน์ที่เป็นเรื่องอุดมการณ์ประวัติศาสตร์ด้วย และเป็นมโนทัศน์ระยะยาวของสังคม

“มันไม่ใช่แค่การรู้เรื่องเล่าของสังคมแต่บางมุม ครูเคยตั้งคำถามไหมว่าบางสิ่งในตำรา มันเป็นสิ่งที่ถูกเลือกมาแล้ว ทั้งที่บางเหตุการณ์มันเคยเกิดขึ้นเหมือนกัน แต่เรื่องหนึ่งควรรู้ บางเรื่องไม่ควรรู้” นายธนวรรธน์กล่าว

นายธนวรรธน์กล่าวต่อว่า ขีดความสามารถของครูสำหรับการสอนก็เป็นสิ่งสำคัญ ตนเคยถูกตั้งคำถามด้วยว่า เอารูปจากหนังเล่มอื่น ถูกตั้งคำถามเพราะหนังสือเรียนมันมีข้อสรุปมาให้อยู่แล้ว แต่พอเราหาเพิ่มมาประกอบ เพื่อให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิด ถกเถียงเกิดขึ้น แต่ถ้าตำราเรียนทำออกมาดีอยู่แล้ว มันจะเป็นเครื่องมือช่วยครูได้

“ถ้าไม่อย่างนั้น คงจะต้องมีแต่ครูบ้าพลัง ที่อดหลับอดนอน อ่านหนังสือเป็น 10 เล่ม เพื่อหาข้อมูลมาทำการเรียนการสอน นี่ยังไม่นับว่าครูสอนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ที่ไม่ได้จบครูสังคมแต่ครูวิชาอื่นต้องมาสอนประวัติศาสตร์ เราจะช่วยครูเหล่านี้ได้อย่างไร” นายธนวรรธน์เผย

เมื่อถามถึงข้อเสนอด้านการวัดผลในวิชาประวัติศาสตร์

นายธนวรรธน์กล่าวว่า รูปแบบการสอนยังคงต้องมีทั้งข้อเขียน ข้อตัวเลือก และการเขียนตอบ คงต้องมีอะไรที่มันสามารถวัดความรู้ปรนัยได้ แต่หากให้อธิบายด้วยเหตุผล แต่เราก็จะเจอปัญหา เราคิดว่ากระบวนการที่คิดว่าจะฝึกเขา เด็กมีพื้นฐานมาไม่เท่ากัน เด็กบางคนที่มีพื้นฐานการเขียนที่ดีมันจะได้ต่อได้ แต่ถ้าเด็กคนไหนไม่ได้ เราจะไม่ทำอะไรเลยหรือ

“ทั้งเรื่องการอ่าน เรื่องการอ่านจับใจความ เขียนและให้เหตุผลอย่างไร เช่น ในวิชาของผมมันมีใบงานเรื่อง 2475 ประเด็นที่เขาหยิบขึ้นมา ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในสังคม โดยมีหลักฐานหลากหลายให้เขาไปเช็ก

แต่ไม่ใช่แค่เช็กแล้วจบ แต่หลักฐานไหนที่หยิบมาใช้ จะได้แสดงเหตุผล ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็แล้วแต่ มันเป็นรูบิคที่ตั้งมาเพื่อวัดกระบวนการคิดของเขามากกว่า เพราะคำตอบที่เขาเลือก มันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง” นายธนวรรธน์เผย

นายธนวรรธน์กล่าวต่อว่า ครูต้องน่าจะเป็นคนเริ่มชวนให้เห็นตัวอย่างของการตั้งคำถาม มันไม่มีคำถามไหนที่แย่ แต่เรามาไล่เรียงกันว่า คำถามไหนที่มีตายตัว คำถามไหนเปิดกว้าง หรือ นำไปสู่อะไรใหม่ๆ จากนั้นมันนำไปสู่อะไรมากกว่า ถ้ามันไม่เป็นอย่างนั้นแล้ว มันเป็นอย่างไรได้อีกอย่าง

“หลายคนบอกว่าชั้นเรียนผมเหมือนการชกเด็ก คือ เดิมเขาเคยมีความเชื่ออะไรบางอย่าง แล้วเราจับเขาเขย่าๆแล้วเขารู้สึก นั่นแหละคือคำถามที่ทรงพลัง” นายธนวรรธน์กล่าวทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image