ที่มา | มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | วจนา วรรลยางกูร และพิมพ์ชนก พุกสุข |
ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน-แจ้งความอันเป็นเท็จ
คือ 2 ข้อหาที่ได้รับทราบหลังเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ชนะสงคราม เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา
ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ ทนายจูน ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกตั้งข้อหาด้วยเหตุระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ทนายความให้ 14 นักศึกษาดาวดิน-ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกจับกุมเมื่อมิถุนายนปีที่แล้ว
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ช่วงบ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าไปจับกุม 14 นักศึกษามาที่ สน.พระราชวัง ราว 4 ทุ่มจึงส่งตัวมาที่ศาลทหาร กรุงเทพฯ และก่อนเข้าเรือนจำกลุ่มนักศึกษาได้นำทรัพย์สินมาฝากไว้กับทีมทนายความ พนักงานสอบสวนจึงได้ขอค้นรถของศิริกาญจน์เพื่อยึดโทรศัพท์มือถือของกลุ่มนักศึกษาที่นำมาฝากไว้
ทนายยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีหมายค้น อีกทั้งเป็นยามวิกาลและไม่มีเหตุอันควรตามกฎหมาย ตำรวจจึงล็อกล้อ ซีลประตูรถ นำรั้วเหล็กมากั้นและส่งเจ้าหน้าที่มาเฝ้าทั้งคืนต่อเนื่องอีกวัน เจ้าหน้าที่บอกไปขอหมายค้นมาตอนเช้า จนตอนบ่ายๆ จึงนำหมายค้นมายึดโทรศัพท์มือถือไป โดยมีข้อสังเกตว่าการเก็บพยานหลักฐานไม่เป็นไปตามกฎหมาย
ระหว่างการตรวจค้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหยิบถุงใส่โทรศัพท์ขึ้นรถหายไปประมาณ 10 กว่านาที โดยที่ยังไม่ได้ใส่ถุงซีล บันทึกและเซ็นรับรอง ก่อนจะวนรถนำหลักฐานกลับมาทำตามขั้นตอน
ในวันเดียวกันที่มีการค้นรถ ทนายจึงแจ้งความตามมาตรา 157 ว่าเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากไม่มีอำนาจยึดรถทนายไว้ตั้งแต่กลางคืนก่อนจะมีหมายค้นจากศาล
ส่วนทางเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อกล่าวหากับศิริกาญจน์ว่า ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน-ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
ศิริกาญจน์เป็นศิษย์เก่าเตรียมอุดมศึกษา จบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบแล้วทำงานด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ประมาณ 3-4 ปี ได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโทกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย Essex สหราชอาณาจักร
กลับมาทำงานด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน ก่อนจะรวมตัวกันในกลุ่มนักกฎหมายจัดตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนหลังการรัฐประหาร 2557
เป็นคดีแรกของเธอในฐานะทนายความเต็มตัว หลังจากที่ทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมายในองค์กรระหว่างประเทศมาตลอด
ประเดิมด้วยการถูกตั้งข้อหาจากเจ้าหน้าที่
เหตุการณ์ช่วงเจ้าหน้าที่มาขอค้นรถ?
คืนวันศุกร์ ก่อนขึ้นพิจารณาฝากขัง เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แจ้งว่านำของมีค่าเข้าเรือนจำไม่ได้ กลุ่มนักศึกษาจึงจำเป็นต้องนำเสื้อผ้าและของทุกอย่างใส่ถุงฝากไว้กับทีมทนายความ จึงรับมาเพื่อดูแลรักษาไว้ซึ่งของใช้ส่วนตัวของลูกความ โดยเก็บในรถของเราแล้วขึ้นไปห้องพิจารณาคดีบนศาล แล้วศาลสั่งขังนักศึกษาที่เรือนจำ 12 วัน
เมื่อทีมทนายความทำหน้าที่เสร็จแล้วก็ลงมาข้างล่าง ราวเที่ยงคืนครึ่ง ได้รับแจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่ล้อมรถเราที่จอดอยู่ตรงข้ามศาลทหาร สังเกตเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ทั้งนอกและในเครื่องแบบ ตำรวจและทหารล้อมรถเราอยู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจท่านหนึ่งแสดงตัวว่าเป็น พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ตอนนั้นท่านมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับการ บช.น.6 มาบอกว่าจะขอค้นรถ
โดยหลักเราเป็นทนายความ เรายืนยันว่าท่านไม่มีหมายค้น เป็นยามวิกาลและไม่มีเหตุอันควรตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจมีโอกาสแสวงหาพยานหลักฐานได้ตั้งแต่ตอนจับ น.ศ.อยู่สถานีตำรวจตั้งแต่บ่ายถึงค่ำ ขอยึดมือถือจากเจ้าตัวซึ่งเป็นเจ้าของได้ จนกระทั่งมาศาล ทำไมเลือกมาขอค้นรถทนายความ ซึ่งรถเราไม่ได้ถือว่าเป็นรถเราคนเดียวเพราะทนายจากศูนย์ทนายนั่งไปด้วยกัน และมีข้าวของเครื่องใช้ของทีมทนายด้วย
เป็นการรักษาความลับลูกความ?
โดยหลักแล้วเป็นความลับของลูกความเรา จึงยืนยันว่าท่านต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไปขอหมายศาลมา ถ้าไม่มีก็ให้ค้นไม่ได้ เพราะเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตำรวจเขาก็ไม่ได้ใช้กำลังอะไรแต่ยึดรถไว้โดยการล็อกล้อ เอากระดาษมาซีลประตูและเอารั้วเหล็กมากั้น ส่งสายตรวจมาเฝ้าทั้งคืน
พวกเรากังวลว่าถ้ากลับบ้านแล้วจะมีการเปิดรถหรือไม่ จึงนอนเฝ้ารถบนฟุตปาธจนถึงเช้าวันเสาร์ (27 มิ.ย.58) ตำรวจก็ไม่มาจนประมาณ 11.00 น. เราก็ไปแจ้งความที่ สน.ชนะสงคราม ว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาล็อกล้อไว้เมื่อคืนไม่มีอำนาจตามกฎหมาย แต่ตำรวจ สน.ชนะสงครามยังไม่รับแจ้งความ บอกว่าต้องตรวจที่เกิดเหตุก่อน จึงนั่งรถกลับมาที่ศาลทหารเพื่อถ่ายรูปและกลับไป สน. แต่ ตร. อ้างว่ามีนัดคดีอื่นๆ จนประมาณ 15.00 น. ตำรวจชุดที่จะค้นกลับมาพร้อมหมายค้น เราจึงต้องกลับมาศาลทหาร เมื่อโชว์หมายค้น เราก็เปิดประตูรถให้โดยไม่ขัดขวางอะไร
ขั้นตอนการเก็บหลักฐาน?
ยึดโทรศัพท์ไป 5 เครื่องใส่ถุงซีล โดยปกติต้องมีบันทึกและเซ็นรับรอง ระหว่างเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานทำเอกสาร ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจท่านหนึ่งหยิบถุงโทรศัพท์ขึ้นรถหายไปประมาณ 10 นาทีโดยยังไม่ได้เซ็นอะไร เราก็โวยวายว่าผิดกฎหมาย นี่คือการฉกหนีไป ถือว่าห่วงโซ่ของพยานหลักฐานขาด เพราะจะเชื่อได้อย่างไรว่าเอาไปทำอะไร
มีการวิทยุบอก ตำรวจท่านนั้นจึงวนรถกลับมา จากนั้นทำบันทึกว่าโทรศัพท์จะถูกส่งไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้ววันจันทร์ให้คนที่เซ็นชื่อเป็นพยานไปเพื่อเปิดซีล หมายความว่าจะยังไม่มีการเปิดซีลเพื่อพิสูจน์อะไรจนกว่าจะถึงวันจันทร์
เรากลับมาแจ้งความอีกรอบเพราะรอบแรกเขายังไม่รับแจ้งความ แต่กระบวนการช้ามาก ปรากฏมีการพูดคุยว่าถ้าเราแจ้งความก็ไม่จบหรอก เดี๋ยวก็กลับมา อาจมองได้ว่าเป็นการข่มขู่ด้วยซ้ำ แต่เราก็ยืนยันว่าจะให้เป็นไปตามขั้นตอนตามกฎหมาย เขาจึงรับแจ้ง
จากนั้นยังมีการให้ข่าวว่าพบหลักฐานสำคัญในรถทนายความของ 14 นักศึกษา ทำให้อาจเข้าใจผิดได้ว่าเป็นสิ่งของผิดกฎหมายในรถเรา ทั้งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะมีข้อมูลใดๆ ในวันอาทิตย์เนื่องจากโทรศัพท์ต้องถูกเปิดซีลวันจันทร์
มีการคุกคามถึงตัวไหม?
แม่ที่อยู่บ้านเกิดที่ จ.ยโสธร เล่าว่ามีตำรวจไปหาที่บ้าน เอารูปผู้หญิงอีกคนหนึ่งกับรูปเราไปให้แม่ดูว่าใช่เราไหมเพราะตอนนั้นสื่อรายงานชื่อเราสับสน แล้วเจ้าหน้าที่ก็พยายามไปถามว่าเราทำอะไร จบที่ไหน มีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองอย่างไร ณ วันนั้นที่รู้ เราก็รู้สึกว่าคุกคามทนายมากเกินไป แม้แม่จะไม่ได้รู้สึกว่ามาด้วยลักษณะรุนแรงแต่ก็เป็นวิธีการที่มองว่าไม่โอเค
ถูกเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหา?
มีหมายเรียกมา 2 คดี คดีแรกคือทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานแล้วไม่ปฏิบัติตาม แล้วพอมารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ชนะสงคราม เจ้าหน้าที่แจ้งอีกข้อหาว่าเราซ่อนเร้นพยานหลักฐานด้วย ซึ่งโทษจะหนักขึ้น ตอนนี้เราจึงเป็นผู้ต้องหาหนึ่งคดี
อีกหมายคือแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน เขาไม่มีข้อเท็จจริงว่าข้อความใดที่เราไปแจ้งความเป็นเท็จ แค่เขียนบรรยายมาว่าเขาปฏิบัติอย่างนี้แล้วเราไปแจ้งความกับเขาฐานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบทำให้เขาเสียหาย เรารับทราบข้อกล่าวหาไม่ได้เพราะไม่ชัด ขอให้ตำรวจกลับไปสอบคนที่กล่าวหาอีกที เมื่อวันที่ 9 ก.พ.จึงยังไม่แจ้งข้อกล่าวหานี้
กังวลไหมว่าคดีจะส่งผลอะไรในอนาคต?
ไม่ได้กังวลว่าจะติดเป็นประวัติอะไร เราเลือกมาทำงานตรงนี้ก็มีความเสี่ยงตั้งแต่แรก แต่ที่กังวล คือ แทนที่เราจะเอาเวลาไปทำงานให้คนอื่นอย่างเต็มที่ เราต้องเอาเวลามาทำคดีตัวเอง พี่ๆ ทนายก็ต้องมาตั้งทีมทำคดีเรา เหมือนเพิ่มภาระให้ตัวเองและองค์กร
มองภาพใหญ่กังวลว่าจะทำให้เกิดเป็นตัวอย่าง เมื่อทนายออกมาปฏิบัติหน้าที่แล้วจะโดนแจ้งความกลับ เพราะยังมีกรณีของทนายเบญจรัตน์ มีเทียน ทนายความกรณีขอนแก่นโมเดลที่ลูกความถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำแต่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการวางแผนป่วนกิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ พอทนายไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ ก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่าแจ้งความเท็จ หมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่ ทั้งที่ในความเป็นจริงทนายได้รับมอบอำนาจมาเป็นตัวแทนลูกความเฉยๆ เป็นสัญญาณว่าเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายจัดการ ก็เช่นเดียวกับกรณีเรา
มีองค์กรระหว่างประเทศออกแถลงการณ์ต่อกรณีนี้?
ก่อนหน้านี้มีองค์กรกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น องค์กร Lawyers’ Rights Watch องค์กร Frontline Defenders องค์กร Lawyers for Lawyers องค์กร The International Commission of Jurists ออกแถลงการณ์ เขามองว่าเป็นการข่มขู่คุกคามการทำงานของทนายความตั้งแต่ที่เขาจะมาค้นรถ เพราะเรายังอยู่ในหน้าที่การปฏิบัติงานทนาย เรารักษาความลับของลูกความ และเราเข้ามาทำงานคดีให้นักศึกษาที่แสดงความเห็นโดยสงบและสันติ การชุมนุมของเขาไม่มีความรุนแรงใดๆ อยู่ในกรอบกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
แล้วองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศก็ส่งข้อมูลกรณีเราไปที่สหประชาชาติ ข้อมูลของเราจะไปอยู่ในระบบยูเอ็น ก็จะมีการติดตามต่อ ส่วนในไทยมีสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ออกแถลงการณ์กรณีเราและทนายเบญจรัตน์เพื่อให้ยุติการดำเนินคดีและหยุดการคุกคามการทำงาน
สิ้นหวังกับกระบวนการต่างๆ ในขณะนี้ไหม?
ยังไม่สิ้นหวัง เพราะถ้าสิ้นหวังคงเป็นนักกฎหมายไม่ได้ ก็มีผิดหวัง แต่ห้ามหมดหวัง ถ้าเราหมดหวังแล้วกระบวนการยุติธรรมที่เป็นไปอยู่ ใครจะเป็นคนทำให้กลับเข้าร่องเข้ารอย เรายืนยันว่าอำนาจใดๆ ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล เรารู้ว่าไม่มีการสู้คดีในสมัยนี้อาจไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง แต่เราจะปล่อยให้พลเรือนไปเผชิญหน้ากับกระบวนการยุติธรรมในศาลทหารโดย ไม่ได้รับหลักประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของเขาไม่ได้ นี่เป็นส่วนที่เราต้องช่วยในทางกฎหมายและคดี
สิ่งสำคัญอีกส่วนในช่วงเวลานี้ คือ ข้อมูล เรามีทีมข้อมูล บันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายหลังรัฐประหาร และจะมีพลังมากยิ่งขึ้นในอนาคต เพราะ 1.เป็นการจารึกประวัติศาสตร์ฉบับประชาชนว่าเกิดอะไรขึ้นในสมัยนี้ 2.หวังว่าข้อมูลชุดนี้จะนำไปสู่การนำบุคคลที่ละเมิดสิทธิมาดำเนินคดี 3.นำไปสู่การเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบสูญเสียจากช่วงนี้ 4.หวังว่าจะนำไปสู่การพูดคุยป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยอีก
ทำงานที่ศูนย์ทนายฯได้อย่างไร?
ก่อนหน้านี้ทำงานที่ปรึกษากฎหมายให้ ICJ พอรัฐประหาร ปี 2557 มีการประกาศกฎอัยการศึก เราทำงานด้านกฎหมายความมั่นคงพิเศษมาจะรู้ว่าช่วง 7 วันกฎอัยการศึกเป็นช่วงอันตรายมาก เนื่องจากทนายความไม่สามารถเข้าถึงบุคคลที่ถูกจับ และกฎอัยการศึกให้อำนาจทหารควบคุมบุคคลโดยไม่มีหมายศาล ไม่มีข้อหา ควบคุมไปที่ลับหรือค่ายทหารได้ เราจึงต้องตั้งศูนย์เฉพาะกิจรับเรื่อง ตอนแรกเปิดฮอตไลน์ให้คำปรึกษา มีมือถือ 2 เครื่อง ไม่คิดว่าจะอยู่ยาวจนวันนี้ ทุกคนมีงานของตัวเอง มาทำกันช่วงเย็น 1-2 เดือน จนเห็นว่าน่าจะยาว เพราะช่วงนั้นก็ประกาศใช้ รธน.ชั่วคราว กลุ่มเราจึงค่อยๆ ดำเนินงานมาถึงปัจจุบัน และมีหลายคนลาออกจากงานมาทำเต็มตัว
เรามีทีมทนายไปดูตั้งแต่ถูกจับอยู่ สน. พยายามไปในค่ายทหาร ไปดูตั้งแต่ก่อนขึ้นศาล งานเลยหนัก บางทีถูกจับเยอะ ต้องกระจายตัวกันไป ขณะที่ทนายปกติไปในชั้นศาลว่าความกันไป
ศูนย์ทนายฯถูกมองว่าทำงานด้านการเมืองหรือช่วยกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่ง?
เราควบคุมความคิดของสาธารณะไม่ได้ แต่หลักการของเราคือทำงานด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ไม่ว่าคุณจะเป็นกลุ่มใด หน้าที่ของเราคือรักษาสิทธิของคุณ ศูนย์ทนายฯ ตั้งขึ้นโดยเราไม่ได้ยึดโยงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้รับเงินจากฝ่ายการเมือง แต่หลังรัฐประหารอาจมีฝ่ายหนึ่งที่เหมือนจะได้รับผลกระทบอยู่ฝ่ายเดียว เลยดูเหมือนเราช่วยด้านเดียว ถามว่าเป็นการเมืองไหม ถ้ามองว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันก็คงจะเป็นเรื่องการเมือง
ศูนย์ทนายฯใช้ทุนจากไหน?
ทุนจากองค์กรระหว่างประเทศและสถานทูต จุดนี้จะมีวาทกรรมว่ารับเงินจากต่างชาติ แต่ถามว่าเราจะไปขอทุนจากรัฐบาลมาทำงานตรวจสอบรัฐบาลยังไงดี เราคิดว่าจะทำประโยชน์กับทุนที่ได้รับอย่างไรมากกว่า แต่ที่แน่ๆ ประชาคมโลกเขาเห็นคุณค่างานของเราจึงให้การสนับสนุน แนวทางที่เขามองว่าสถานการณ์นี้ต้องมีองค์กรที่ยังสามารถทำงานได้ องค์กรเราทำงานอย่างเป็นอิสระ ยึดเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและบันทึกข้อมูล
คิดจะเปลี่ยนไปทำงานเส้นทางอื่นบ้างไหม?
เพิ่งมาเป็นทนายคดีนี้แล้วโดนแจ๊กพ็อต (หัวเราะ) เคยมีประสบการณ์ฝึกงานตอนเรียนมหาลัย ไปฝึกงานที่บริษัทกฎหมายธุรกิจหรือ Law Firm แล้วรู้สึกว่าไม่ใช่เรา ทำหน้าที่เสิร์ฟให้ลูกความหนึ่งคนหรือบางกลุ่มหรือเฉพาะเรื่อง คิดว่าถ้าต้องลงแรงลงใจกับอะไรก็อยากจะทำอะไรที่ส่งผลดีกับคนกลุ่มใหญ่มากกว่าที่จะทำงานให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งหรือคนคนเดียว ตั้งแต่เรียนจบก็เลยได้เลือกไปทำงานด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน
มีเพื่อนๆ และพ่อแม่มองว่าเราน่าจะไปสายปกติ เรียนจบ สอบเนติฯ ให้จบ สอบอัยการ ผู้พิพากษา บางคนมองว่าประวัติการศึกษาน่าจะไปทำงานด้าน Law Firm ได้ ทนายด้านธุรกิจที่ทำเงินมากกว่า มั่นคงกว่า ไม่ต้องมาปวดหัวปัญหาบ้านเมือง ทุกวันนี้ไม่เคยเกิดความลังเลที่จะไปที่อื่น ถึงไม่มีศูนย์ทนายฯ ก็ยังทำงานด้านนี้ อาจไม่เป็นทนาย ก็ยังวนเวียนเรื่องกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อาจเป็นอาจารย์หรือนักวิจัย นักกฎหมายให้คำปรึกษา
ยังหลงใหลกับงานด้านนี้อยู่
อาชีพหนุ่มในใจทนายสาว
แอบแซวทนายจูนว่าวันที่ไปรับทราบข้อกล่าวหามีหนุ่มๆ ให้กำลังใจเยอะ
เธอหัวเราะร่วน “สงสัยหนุ่มๆ ยังไม่รู้ว่าดุ”
ก่อนเฉลยว่า แปลกใจกับกระแสข่าว รู้สึกดีที่มีคนให้กำลังใจ สนับสนุน และมองเห็นว่ากำลังทำอะไรกันแน่
“ต้องสามารถแบ่งแยกได้ว่าบทบาทของเราคือการทำหน้าที่อะไร ตอนแรกเราอาจถูกเหมารวมหรือมองจากสังคมทั่วไปว่า ไม่ต่างจากคนที่ทำผิดกฎหมายหรือเปล่า เพราะเข้าไปช่วยคดีคนที่เป็นผู้ต้องหา แต่มองจริงๆ แล้วก็เป็นหน้าที่ ถ้าคุณให้เราเป็นทนาย ต่อให้คุณเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลย เราก็ต้องปกป้องสิทธิของคุณอย่างเต็มที่ เราก็คงทำอย่างเดียวกันกับเคสอื่นๆ”
เมื่อถามย้ำว่าดุจริงหรือเปล่า ศิริกานต์ ยืนยันว่า “ดุ”
“เวลาทำงานจริงจังเลยอาจจะดูดุ ถ้าเราไม่ยิ้มจะดุมาก เลยต้องยิ้มสู้ แต่ไม่ได้ดุแบบเหวี่ยง ดุตามเรื่อง เข้มงวดกับหลักการ” เธอบอกก่อนจะนิ่งคิดไปอึดใจหนึ่ง “…แต่จริงๆ ไม่ดุนะเดี๋ยวไม่มีคนมาจีบ (หัวเราะ)”
จากที่คลุกคลีกับวงการนี้มา ถ้ามีทนายด้วยกันมาขายขนมจีบจะสนใจไหม?
“ไม่” เธอตอบทันที
“คงเถียงกันไม่หยุด ความงดงามของโลกนี้คือความแตกต่าง ดังนั้น การมีความรักคงต้องมีความแตกต่างอยู่ เหมือนกันมากไปคงไม่ไหว”
ถ้าเปลี่ยนใหม่เป็นทหารหนุ่มจะมีโอกาสมากขึ้นไหม?
“ทหารเหรอ เราอยู่วงการเดียวกันเนอะ เราเป็นมิตรกันดีกว่า คงไม่ต้องถึงกับเป็นคนรักกันก็ได้ พี่ทหารพี่ตำรวจ เราดูแลรักษากันดีกว่า อย่าถึงขั้นทำร้ายกันเลย”
ปิดบทสนทนาไปด้วยเสียงหัวเราะสดใสของทนายสาว