ต่อต้าน 66/23 การต่อสู้ 2 แนวทาง เหยี่ยว พิราบ

มิได้เป็นเรื่องแปลกที่มีคนออกมา “ต่อต้าน” ข้อเสนออันมาจาก นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ให้นำเอาบทเรียนจากคำสั่ง 66/23 มาปรับใช้ในเรื่อง “ปรองดอง”

เพราะแรกที่มีการประกาศคำสั่ง 66/23 ออกมาก็เป็นเช่นนี้

เรื่องนี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รับรู้มาอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีความเข้าใจลึกซึ้งมากยิ่งกว่าใครๆ

เพราะได้รับแรงกระทบโดยตรง

Advertisement

ตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งเป็น “นายทหารคนสนิท” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทั่งเข้าดำรงตำแหน่งเป็น “เจ้ากรมยุทธการทหารบก”

ก็ “โดน”

ยิ่งไปนั่งอยู่ในตำแหน่ง “ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ” และเลื่อนขึ้นไปอยู่ในตำแหน่ง “รองเสนาธิการทหารบก”

Advertisement

ยิ่ง “โดน”

หากนับ “ใบปลิว” ที่ออกมามาโจมตีก็ประมวลได้หลายพันหลายหมื่นหน้า ที่พิมพ์ออกมาเป็นเล่มก็มีไม่ต่ำกว่า 10 เล่ม

เป้าหมายคือ ไม่เห็นด้วยกับ คำสั่ง 66/23

 

การต่อต้านคำสั่ง 66/23 ผนวกรวมไปสู่เป้าหมายการเตะสกัดขา พล.ต.ชวลิต ยงใจยุทธ มิให้ได้เติบใหญ่ในเส้นทางของทหาร

แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนจาก “นายกรัฐมนตรี”

แต่เมื่อผลการนำเอาคำสั่ง 66/23 ไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มี “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ทยอยกันออกมาระลอกแล้วระลอกเล่า

จนสามารถยุติ “สงครามกลางเมือง” ได้ในปี 2524

แม้กระแสคัดค้าน ต่อต้าน จะยังดำรงอยู่ แต่ก็ยากอย่างยิ่งที่จะทำให้ พล.ต.ชวลิต ยงใจยุทธ หกคะเมนตีลังกา

ที่คิดจะรั้งไว้เพียงตำแหน่ง “รองเสนาธิการทหารบก” กลับเป็นไปได้

ในที่สุดก็ทะยานไปยังตำแหน่ง “เสนาธิการทหารบก” และหลังจาก พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ถูก “ปลดกลางอากาศ”

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก็ขึ้นเป็น “ผู้บัญชาการทหารบก”

ทั้งหมดนี้เท่ากับยืนยัน 1 ความสำเร็จของคำสั่ง 66/23 และ 1 ความสำเร็จของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นมือไม้ให้กับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

นั่นก็คือ ชัยชนะในทางเป็นจริงของ คำสั่ง 66/23

 

ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้การประกาศคำสั่ง 66/23 ถึงถูกคัดค้านและต่อต้านอย่างรุนแรง แข็งกร้าวแม้กระทั่งภายในกองทัพ

นั่นก็เพราะกระแส 2 กระแสทางความคิดที่ขัดแย้งกัน

กระแส 1 เป็นกระแสเดิม มองเห็นความรุ่งโรจน์ของ “การปราบปราม” กระแส 1 เป็นกระแสใหม่ ตั้งความหวังกับแนวทาง “การต่อสู้”

เรียกเป็นสำนวนก็คือ “เหยี่ยว” กับ “พิราบ”

ในด้านของเหยี่ยวเติบใหญ่มากับแนวทาง “การทหารนำการเมือง” ในด้านของพิราบเติบใหญ่มากับแนวทาง “การเมืองนำการทหาร”

บรรยากาศในยุคก่อนและหลังคำสั่ง 66/23 มีกระแสอย่างนี้ดำรงอยู่

เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประสบความสำเร็จจากแนวทาง “การเมืองนำการทหาร” ในห้วงที่เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 แนวทางนี้ก็ติดตัวมาพร้อมกับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

กลายมาเป็น “คำสั่งที่ 66/23” ในที่สุด

การนำเสนอคำสั่งที่ 66/23 เข้ามาในสถานการณ์ “ปรองดอง” ของ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ จึงเป็นเรื่อง

เรียกเสียง “คัดค้าน” เรียกเสียง “เห็นด้วย”

เท่ากับดึงบรรยากาศเมื่อก่อนและหลังเดือนเมษายน 2523 ให้หวนกลับมาอีกครั้ง แม้จะผ่านมาแล้ว 30 กว่าปีแต่ทุกอย่างแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

น่าสนใจก็ตรงที่ปรากฏขึ้นในสถานการณ์ “ปรองดอง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image